นักธุรกิจเชียงคานไม่รอ ผุดโปรเจกต์พึ่งตนเอง รับมือไวรัสร้าย ในวันที่ไร้เงานักท่องเที่ยว

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : เชียงคาน สบายใจ, ชีวาดีคลินิก



  
           ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างหนักเช่นนี้ การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อะไรที่พอทำได้เองหรือช่วยเหลือตัวได้เอง ก็ต้องทำไปก่อน


           เหมือนอย่างล่าสุดที่ผู้ประกอบการเชียงคานได้ร่วมกันจัดทำโปรเจกต์ “เชียงคาน สบายใจ” ขึ้นมา เพื่อช่วยป้องกันและต่อสู้กับโรคระบาดอย่างไวรัสโควิด-19 ในยามที่ไร้เงาจากนักท่องเที่ยว แถมยังต้องรับมือกับไวรัสร้ายที่มาเยือนถึงตัว





พลังเล็กที่ยิ่งใหญ่

 

          เสริมสิน คูณแสนโชติสิน เจ้าของบ้านพัก “ชานเคียง ที่เชียงคาน” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เชียงคาน สบายใจ เล่าที่มาของโปรเจกต์ดังกล่าวให้ฟังว่า สืบเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างแทบหยุดชะงักลงชั่วคราว ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เคยมี ก็แทบจะไม่มีหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ธุรกิจเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพความปลอดภัยของเหล่าผู้ประกอบการเองด้วย ด้วยเหตุนี้ตนและเพื่อนๆ จึงช่วยกันคิดว่ามีอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์และพอทำกันขึ้นมาเองได้บ้าง เพราะเป็นช่วงว่างที่แทบจะไม่ได้ทำอะไรกันอยู่แล้ว จนเกิดเป็นโปรเจกต์ เชียงคาน สบายใจ ขึ้นมา โดยการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ เพื่อช่วยป้องกันตนเอง


           “เรื่องมันเริ่มมาจากมีพี่สองคนชื่อ “พี่ก้อย - ดุจหทัย นาวาพานิช” และ “พี่วิทย์ – สุวิทย์ นามแสง” ซึ่งศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยอยู่แล้ว จนเปิดเป็น “ชีวาดีคลินิกการแพทย์แผนไทย” ขึ้นมา ได้นำความรู้เรื่องการนำสมุนไพรตำรับช่วยดูแลระบบทางเดินหายใจมาแนะนำให้ทดลองทำใช้กัน  เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิดลงสู่ปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเรามองเห็นแล้วว่ามีประโยชน์ เลยอยากนำมาเผยแพร่ออกไปให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย จึงร่วมกันจัดทำโปรเจกต์ เชียงคาน สบายใจ ขึ้นมา นำเสนอวิธีการนำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ หรือแม้แต่คนที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ก็สามารถทำได้ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น”





           โดยเสริมสินเล่าเพิ่มเติมว่าโปรเจกต์เชียงคาน สบายใจจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกนั้นจะเป็นการนำเสนอวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ ด้วยสมุนไพรผ่านรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นที่ถ่ายทำกันเอง ประเดิมด้วยชุดแรก คือ การสอนวิธีทำ “สุมโปง” หรือ “สุมยา” เพื่อสูดดมไอระเหยของสมุนไพรเข้าไป โดยใช้วิธีต้มสมุนไพรให้เดือดจากนั้นก้มหน้าและใช้ผ้าคลุมศีรษะให้มิดชิดแล้วสูดดมเข้าไป ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ก็เป็นสมุนไพรพื้นบ้านพืชผักสวนครัวที่หาได้ง่าย เช่น เช่น มะกรูด ข่า ตะไคร้ กระเพรา หอมแดง ฯลฯ ซึ่งเพิ่งเริ่มเผยแพร่ออกมาได้ไม่นาน


          หลังจากนั้นจะทำเพิ่มอีก 2 คลิป คือ การสอนทำ Wellcome drink ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรง่ายๆ เช่น น้ำขิง น้ำกระชาย น้ำกระเพรา หรือเวลคัมดริงค์เพื่อเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือรับประทานเอง และชุดสุดท้ายจะจัดทำเป็นคลิปวิดีโอยาว โดยฉายภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดในโครงการที่เกิดขึ้น เพื่อเผยแพร่ออกไปให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นในการเดินทางมาท่องเที่ยวที่เชียงคานมากขึ้น

 



เมื่อสบายใจ ก็สบายดี

 

           ในส่วนที่ 2 จะเน้นเรื่องการลงมือทำ โดยผู้ประกอบการที่พักหรือร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย ทางกลุ่มจะมีการแจกสติ๊กเกอร์ของโครงการให้ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาอีกทางหนึ่ง ซึ่งวิธีการเข้าร่วมก็ง่ายๆ  เพียงนำสมุนไพรมาใช้ดูแลตัวเองตามคำแนะที่ให้ไป รวมไปถึงนำไปต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจของตนและถ่ายทอดให้แก่นักท่องเที่ยวและบุคคลอื่นๆ ได้รับรู้และทดลองใช้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การทำเวลคัมดริ๊งค์ด้วยสมุนไพรเพื่อต้อนรับลูกค้า การจัดทำชุดสุมโปงขึ้นมาให้กับแขกที่เข้าพัก


           ไปจนถึงการให้คำแนะนำด้านการดูแลตัวเองด้วยสมุนไพรในวิธีต่างๆ อาทิ การสวนล้างจมูกด้วยเกลืออนามัย, การทำออยพูลลิ่ง ด้วยน้ำมันมะพร้าวเพื่อช่วยล้างเชื้อโรคในปากและลำคอ หรือหากใครสนใจอยากอบตัวด้วยสมุนไพร ก็สามารถแนะนำสถานที่ให้บริการได้ อาทิ บ้านสวนพอเพียงพอเพลิน เพียงเท่านี้ก็สามารถเข้าร่วมในโครงการเชียงคาน สบายใจ ได้แล้ว





         “จริงๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำขึ้นมานี้จะสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เกิดความสบายใจ ตั้งแต่สบายใจที่ได้ลงมือทำอะไรขึ้นมาบ้างดีกว่าอยู่เฉยๆ ต่อมา คือ ความสบายใจที่ได้ป้องกันดูแลตัวเองบ้าง และสุดท้าย คือ สบายใจที่ได้ทำให้ผู้อื่นสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้นเช่นกัน ไม่ว่านักท่องเที่ยว หรือคนในเชียงคานด้วยกันเอง ซึ่งถ้าเราทุกคนช่วยกันดูแลปกป้องตัวเองให้ดี เราก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเหมือนเดิม


         “ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาจากการร่วมแรงร่วมใจของพวกเรากันเอง ใครถนัดอะไร พอทำอะไรได้บ้าง ก็ช่วยกัน เป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ที่ช่วยกันทำขึ้นมา เรียกว่าตอนนี้อะไรที่พอทำได้ก็ต้องทำไปก่อน พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อน แต่หลังจากคลิปตัวแรกออกไป ก็เริ่มมีหน่วยงานรัฐให้ความสนใจเข้ามาสนับสนุนบ้างแล้ว” เสริมสินกล่าวทิ้งท้าย

 
IFrame





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​