โชนัน โชว์ไอเดีย “ตู้กับข้าว” ทางออกใหม่ของร้านอาหาร หวังพึ่งแค่ห้างกับเดลิเวอรีไม่ได้

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : ChouNan



             
     เป็นยังไงกันบ้าง ผ่านมาวันแรกหลังปลดล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดร้านขายกันได้ ขายดีกันไหม ห้างฯ ช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้หรือเปล่า
             

     ดูเหมือนจะเป็นความหวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายคนขึ้นมาทีเดียว เมื่อรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ให้กลับมาเริ่มเปิดขายกันได้อีกครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วการพึ่งพาห้างสรรพสินค้า หรือเดลิเวอรีจะใช่ทางออกที่แท้จริงของร้านอาหารไหม หรืออาจต้องเพิ่มทางเลือกใหม่เข้าไปเหมือนอย่างล่าสุดที่ “โชนัน” (ChouNan) แบรนด์ร้านข้าวหน้าเนื้ออาหารญี่ปุ่นโชว์ไอเดียธุรกิจใหม่เปิดตู้ขายอาหารอัตโนมัติเป็นของตัวเองภายใต้แบรนด์ “ตู้กับข้าว Cloud Kitchen”   ขึ้นมา เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ โดยไม่ต้องง้อแต่เดลิเวอรีที่มีค่า GP สูงๆ หรือราคาค่าเช่าพื้นที่แพงในห้างอย่างเดียวอีกต่อไป
 




กำเนิดตู้กับข้าว

 
             

     กุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัล ฟาร์ม จำกัด ผู้บริหารร้าน ChouNan เปิดเผยที่มาของไอเดียให้ฟังว่า


     จากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆ ระลอกตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหาร คือ ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอดจากมาตรการความคุมและล็อคดาวน์ต่างๆ เช่น การจำกัดที่นั่งรับประทานในร้าน เปิดให้ขายได้เฉพาะซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรีอย่างเดียวเท่านั้น หรือแม้แต่ต้องปิดร้านห้ามขายเลยก็ตาม


     โดยโชนันเป็นร้านอาหารจานด่วนสไตล์ญี่ปุ่นที่เปิดให้บริการในศูนย์การค้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการทำ ChouNan Franchise Ecosystem, การทำตลาดออนไลน์และเดลิเวอรี, การปรับเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ และลดข้อจำกัดเรื่องสถานที่, การทำ ChouNan Sushi Corner เพื่อเน้นให้ซื้อกลับบ้านในช่วงที่ไม่สามารถนั่งทานในร้านได้ ไปจนถึงการทำข้าวกล่องบริจาคผ่านแคมเปญ “ลูกค้าสั่งเท่าไหร่ โชนันช่วยเท่ากัน” หรือแม้กระทั่งการปรับกลยุทธ์มาขายวัตถุดิบต่างๆ เน้นการทำสินค้า D.I.Y. เพื่อให้ทำกินเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน
             




     แต่ทั้งหมดนี้ดูเหมือนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว เนื่องจากมองว่าวิกฤติดังกล่าวได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและบริโภคของผู้คนไปจากเดิมแล้ว ดังนั้นจะรอคอยลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการที่สาขาหรือพึ่งพาแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีต้นทุนการบริหารจัดการและค่าบริการที่ค่อนข้างสูง กอรปกับทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตแบบออกนอกบ้านน้อยลง มีการทำงานอยู่บ้านกันมากขึ้น


     จึงเล็งเห็นว่าหากสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและให้บริการแบบเข้าถึงตัวลูกค้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น จะสามารถช่วยแก้ปัญหาจากข้อจำกัดต่างๆ และทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองได้ โดยพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกให้น้อยที่สุด จึงเกิดเป็นไอเดียธุรกิจตู้ขายอาหารอัตโนมัติ หรือ Vending Machine ออกมา

 



เปิดตู้กับข้าว

 

             
     โดยนอกจากเหตุผลทางธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าแล้ว กุลวัชรตั้งใจให้โมเดล ตู้กับข้าว Cloud Kitchen ที่มีสโลแกนง่ายๆ ว่า “อิ่มง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว” เป็นการรวบรวมแบรนด์และเมนูอาหารต่างๆ ของ ChouNan Group มาไว้ในตู้เดียวกัน เพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นตู้กับข้าวในบ้านของทุกคนด้วย โดยเฉพาะคนเมืองที่ใช้ชีวิตเร่งรีบจะได้มีอาหารดี อร่อย และมีคุณประโยชน์ไว้รับประทาน


     ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น เช่น ข้าวหน้าเนื้อ ข้าวแกงกะหรี่ หรือข้าวหน้าต่างๆ จากแบรนด์โชนัน, เมนูข้าวปั้นและซูชิต่างๆ จากแบรนด์ “โซลชิ (SOULSHI)”, เมนูก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียมจากแบรนด์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเสือหน้าหยก (JadeTiger Boat Noodle), เมนูต้นตำรับสำรับไทยเมนูโบราณที่หากินได้ยากจากแบรนด์ “บรรจง (Bunnjong)” อาทิ แกงระแวงเนื้อน่องลาย แกงฮังเล หรือจะเป็นเมนูอาหารอีสานรสแซ่บๆ จากแบรนด์ “สามเกลอ” เป็นต้น
             



รู้ไหม จริงๆ แล้วสินค้าที่จำหน่ายผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในยุคแรกของโลกนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เครื่องดื่ม ของกิน หรือของใช้อะไร แต่กลับคือ “น้ำมนต์” โดยผู้คิดค้นขึ้นมา คือ  “เฮโรแห่งอะเล็กซานเดรีย” วิศวกรและนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก โดยเมื่อหยอดเหรียญลงไปใส่เครื่องเหรียญจะตกลงบนถาดที่เชื่อมต่อกับคันโยก จนทำให้น้ำมนต์ไหลออกมาในที่สุด


     เริ่มตั้งแต่ราคาเมนูละ 49 -209 บาท ซึ่งทุกเมนูจะเป็นการทำสดใหม่ทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูด และมีการเปลี่ยนใหม่ในตู้ทุกวัน โดยแต่ละเมนูจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3 วัน นับจากวันที่ผลิต โดยลูกค้าสามารถจ่ายผ่าน E-Wallet / QR Scan ได้ทุกประเภท ในหนึ่งตู้นั้นจะสามารถวางอาหารได้ประมาณ 130 – 160 ชิ้นขึ้นอยู่กับแต่ละเมนูที่จัดวาง เพื่อคัดเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ


     โดยในระยะแรกจะเริ่มวางตามตึกที่อยู่อาศัย คอนโดมีเนียมต่างๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายไปยังโลเคชั่นอื่นๆ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานีขนส่ง โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นต้น ในด้านของกระบวนการทำงานนั้นบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ตั้งแต่การปรุงอาหาร บรรจุใส่กล่อง ขับรถขนส่งเพื่อนำอาหารมาเติมในตู้ รวมถึงจัดเก็บของเก่าออกไป โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะเปิดให้ได้ทั้งหมด 30 ตู้ด้วยกัน
 




แชร์ตู้กับข้าว

 
             

     กุลวัชรได้กล่าวทิ้งท้ายว่าโมเดลธุรกิจตู้ขายอาหารอัตโนมัติที่เขาได้คิดขึ้นมานี้ นอกจากจะเป็นการหาทางออกให้กับธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแล้ว อนาคตอาจเปิดขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจ รวมไปถึงการเปิดให้แบรนด์อื่นๆ ได้เข้ามาร่วมแชร์วางขายสินค้าไปด้วยกัน หรือสำหรับร้านค้า เช่น คาเฟ่ ร้านกาแฟ Co-working Space ต่างๆ อยากนำไปติดตั้งเพื่อเพิ่มเมนูทางเลือกให้กับลูกค้า และหารายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
             

     “จากที่ทดลองทำมาแล้วหลายอย่าง เรามองว่าวิธีการนี้น่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในระยะยาวให้กับธุรกิจได้ และสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นช่องทางการเปิดโอกาสให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นในรูปแบบที่ยังไม่มีร้านอาหารใดทำมาก่อน เรารู้ดีว่าวิธีนี้ถึงจะช่วยลดต้นทุนแทนการเปิดหน้าร้าน ต้นทุนแรงงานคน และเดลิเวอรีไปได้มาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการและความสูญเสียค่อนข้างสูงของสินค้าที่อาจเหลือทิ้งในแต่ละวัน แต่มองว่ายังไงก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าที่ผ่านมา และส่งผลดีกับธุรกิจในระยะยาวได้อย่างแน่นอน”
 


 
ถึงจะโด่งดังมาจากข้าวหน้าเนื้อ ภายใต้แบรนด์โชนัน แต่ ChouNan Group ก็ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแบรนด์ในเครือด้านอาหารผลิตออกมาเยอะเช่นกัน ได้แก่ แบรนด์ Sumi Tei Yakiniku, SOULSHI (ซูชิ), ก๋วยเตี๋ยวเรือ สือหน้าหยก, บรรจง (อาหารไทย) และสามเกลอ (อาหารอีสาน) รวมถึงแบรนด์ ตู้กับข้าว Cloud Kitchen ด้วย




 
ChouNan

  • Facebook : ChouNan
  • โทร. 02 940 4500
  • www.chounan.co.th

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​