ปิดๆ เปิดๆ จะปรับธุรกิจอย่างไรให้รอด ทางแก้ของธุรกิจซาลอนอินเดียเจอวิบากกรรมครั้งใหญ่

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์



        การระบาดของไวรัสโควิดทื่ยืดเยื้อแรมปีทำให้เกิดวิกฤตไปทั่วโลกและส่งผลกระทบแทบทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจหนึ่งที่เสียหายจากการแพร่ของไวรัสคือร้านตัดผมและร้านเสริมสวยที่โดยมากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เรียกง่ายๆ คือ SME นั่นเอง ไปดูสถานการณ์ที่อินเดียกันว่าเจ้าของร้านซาลอนทั้งหลายรับมืออย่างไร
               

        อย่างที่ทราบกัน อินเดียเป็นประเทศที่โควิดระบาดรุนแรงอันดับต้นๆ ของโลก การระบาดระลอกที่สองช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมแตะ 33 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 4 แสนราย ประชาชนสมัครใจอยู่บ้านมากกว่าออกไปไหนมาไหน บรรดาผู้ประกอบการร้านซาลอนไม่เพียงขาดรายได้ แต่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนพนักงานหรือค่าเช่าร้าน



               

        มอลติ โชฮัน เจ้าของร้านซาลอนขนาด 1 ห้องแถวในนิวเดลีเล่าว่าก่อนเกิดโควิด ร้านของเธอเคยทำรายได้มากกว่า 50,000 รูปี (ราว 25,000 บาท) ต่อเดือน ปัจจุบันรายได้หดเหลือไม่ถึงครึ่งของที่เคยได้ ข้อมูลระบุ ร้านซาลอนส่วนใหญ่ในอินเดียเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าอย่างเป็นทางการ ธุรกิจขนาดเล็กประเภทนี้มีมูลค่ารวมแล้ว 100,000 ล้านรูปี หรือราว 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว  
               

        โชฮันกล่าวว่าที่ธุรกิจได้รับความเสียหายมากเนื่องจากเป็นบริการที่ต้องสัมผัสลูกค้าโดยตรงอันเป็นสิ่งต้องห้ามในยามนี้ ช่วงนี้เธอมีลูกค้าไม่กี่คน รายได้แทบไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่เพียงคนเดียวแล้วทำทุกอย่างเองทั้งหมด ถึงกระนั้นก็ยังไปไม่รอด เธอจึงจำใจปิดกิจการ



               

        ไม่เฉพาะธุรกิจซาลอนที่ได้รับผลกระทบแต่ยังรวมร้านสปาด้วย ด้วยเหตุที่ลูกค้าไม่ไปใช้บริการที่ร้าน ร้านซาลอนหลายแห่งรวมถึงอดีตลูกจ้างร้านที่ถูกเลิกจ้างแต่มีทักษะในการตัดผมหรือทำสีผมจึงเปลี่ยนไปใช้วิธีเดินทางไปบริการถึงที่บ้านซึ่งมีความปลอดภัยและราคาถูกกว่า ทำให้บริการทำผมถึงบ้านเป็นที่นิยมอย่างมาก 
               

       รายงานระบุว่าการระบาดของโควิดระลอกที่สองในอินเดียและนำไปสู่การล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจซาลอน ไม่เฉพาะขนาดเล็ก แต่ยังรวมแบบเครือข่ายหลายสาขาต้องปิดตัวจำนวนนับล้านแห่ง รวมถึงเชนร้านซาลอน “เอ็นริช” ที่ปิดไป 5 สาขาจากทั้งหมด 88 สาขา วิกรม ภัท ผู้ก่อตั้งเอ็นริช ซาลอนเปิดเผยว่าโควิดรอบสองส่งผลกระทบด้านการเงินรุนแรงกว่ารอบแรกซึ่งเกิดในปีที่แล้วมาก ทางร้านได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมทางออนไลน์ซึ่งสร้างรายได้ราว 15 เปอร์เซ็นต์  
               

        ด้าน “ลักษมี” แบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของบริษัทฮินดูสถาน ยูนิลีเวอร์ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านซาลอน 490 สาขาทั่วอินเดียก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทต้องพลิกกลยุทธ์ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลช่วงที่มีการล็อกดาวน์โดยการอบรมทีมงานเพื่อให้สามารถแนะนำและให้คำปรึกษาทางออนไลน์แก่ลูกค้าได้ 



               

         ส่วน Jean-Claude Biguine Salons เชนร้านซาลอนจากฝรั่งเศสก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความกดดันและความไม่แน่นอนในอนาคตเช่นกัน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการที่ร้านลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ร้าน Jean-Claude Biguine Salons ที่ให้บริการบางเมือง เช่น มุมไบ ปูเน่ และเบงกาลูรูต้องปิดบริการชั่วคราว
               

       ขณะเดียวกัน Jean-Claude Biguine Salons ได้หันไปเปิดร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อ Shopatjcb.com เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม อาทิ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นออร์แกนิกและเป็นสินค้าพรีเมียมคุณภาพสูง และยังเพิ่มบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความงามด้านต่างๆ แบบทางไกลแก่ลูกค้าอีกด้วย 
               

       ดร.ดี.พี. ชาร์มา ผู้อำนวยการแผนกผลิตภัณฑ์เพื่อมืออาชีพแห่งลอรีอัล อินเดียที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับร้านซาลอนราว 45,000 แห่งในอินเดียเผยว่าความเสียหายต่อธุรกิจจากโควิดระลอกสองเลวร้ายสุดคือจำนวนลูกค้าและรายได้เป็นศูนย์ “ร้านซาลอนที่เป็นพันธมิตรกับเรามากถึง 4-5 เปอร์เซ็นต์ต้องปิดตัวลง มีไม่กี่ร้านใหญ่ๆ ที่สามารถพลิกกลยุทธ์ได้ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ส่วนร้านที่ขาดทุนก็พิจารณาปิดกิจการไป โชคร้ายที่ร้านเล็กจำนวนมากไม่สามารถประคองตัวตั้งแต่ล็อคดาวน์รอบแรก”



               

       แม้มีการคาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์ความงามและของใช้ส่วนบุคคลของอินเดียจะมีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งเติบโตในอัตรา 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ธุรกิจหลักที่เกี่ยวกับความงาม เช่น ซาลอน สปา และร้านตัดผมก็ยังเป็นเพียงธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือไม่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ธุรกิจเหล่านี้จ้างแรงงานที่มีทักษะถึง 7 ล้านคน โดยมากเป็นชนชั้นรากหญ้าในสังคมที่ได้รับผลกระทบหนักจากการล็อคดาวน์ ปัญหาที่ภาคธุรกิจนี้กำลังเผชิญคือปัญหาด้านการเงิน และปัญหาแรงงานที่ย้ายกลับภูมิลำเนาเนื่องจากร้านปิดกิจการ ร้านไหนสายป่านไม่ยาวจึงต้องม้วนเสื่อพับกิจการไป เหลือไว้ก็แต่ร้านที่สามารถปรับตัวและประคองธุรกิจให้พอไปต่อได้
 
 
         ที่มา : www.livemint.com/news/india/salon-business-takes-a-severe-hit-as-covid-second-wave-grips-india-11621425866893.html
         https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Disrupted-India-s-beauty-salons-battle-haircut-delivery-services
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ