รู้หรือไม่? ป้ายโฆษณาแบบไหน เสียภาษีถูกกว่ากัน

TEXT : กองบรรณาธิการ




               
           ส่วนประกอบสำคัญของการทำธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งอย่าง นอกจากการตั้งชื่อร้านที่เหมาะสมแล้ว การติดตั้งป้ายชื่อร้านชื่อธุรกิจ ไปจนถึงป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดและทำให้ลูกค้าสนใจในตัวสินค้าและบริการของเราเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ช่วยให้หน้าร้านดูสวยงาม และยังเป็นการแจ้งบอกตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจด้วย
               

           แต่ใช่ว่านึกอยากจะขึ้นป้ายอะไร ก็สามารถติดตั้งได้เลยนะ หากไม่ศึกษาให้ดีก่อน ระวังอาจเจอภาษีป้ายราคาสูงลิ่วแบบไม่ทันตั้งตัวก็ได้ วันนี้เราจึงพามาทำความรู้จักกับระเบียบการขออนุญาตติดตั้งป้าย จนถึงอัตราค่าภาษีป้ายกัน





รู้ก่อนติดป้าย

 
               
          อันดับแรก เพื่อการวางแผนเลือกรูปแบบป้ายที่เหมาะสมกับธุรกิจ ลองมาทำความรู้จักกับประเภทของป้ายและอัตราการเสียภาษีป้ายกันก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วป้ายอาจมีอยู่หลายชนิด เช่น ป้ายบอกชื่อร้าน ชื่อแบรนด์ เครื่องหมายการค้า โปรโมชั่น หรือป้ายเพื่อการโฆษณา แต่สุดท้ายแล้วจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะและเรียกเก็บค่าภาษีตามอัตราที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ (อัพเดตล่าสุดจากกฎกระทรวงมหาดไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2566)
 

  • ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน



         หากเป็นข้อความคงที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จะคิดภาษีป้ายในอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม
หากเป็นข้อความเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป้ายไฟ จะคิดภาษีในอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
 

  • ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น



         หากเป็นข้อความคงที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จะคิดภาษีป้ายในอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
หากเป็นข้อความเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป้ายไฟ จะคิดภาษีในอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
 

  • ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย หรือป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ



        หากเป็นข้อความคงที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จะคิดภาษีป้ายในอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
หากเป็นข้อความเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป้ายไฟ จะคิดภาษีในอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
 

         โดยป้ายทุกประเภทเมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาทเป็นขั้นต่ำ
               

สรุป
               

           จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงพอสรุปได้ว่าถ้าเลือกใช้ภาษาไทยล้วนราคาจะถูกที่สุด (ประเภทที่ 1) ถ้าเป็นภาษาอังกฤษล้วนหรือมีภาษาไทยผสมด้วย แต่จะอยู่ข้างล่างภาษาอังกฤษจะเป็นประเภทที่มีราคาแพงที่สุด (ประเภทที่ 3)


        ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดร้านค้าหรือธุรกิจต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษใส่ลงไปในป้ายด้วยนั้น มักจะชอบใส่ภาษาไทยตัวเล็กๆ ไว้อยู่มุมบนของป้าย ก็เพื่อลดการจ่ายภาษีให้ถูกลงมานั่นเอง (ประเภทที่ 2)


 

ป้ายที่ได้รับยกเว้นภาษี

 
               
        ใช่ว่าจะมีแต่ป้ายที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น ยังมีป้ายอีกหลายประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยในที่นี่จะขอกล่าวถึงเฉพาะป้ายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเท่านั้น ได้แก่

  • ป้ายที่ติดตั้งในอาคาร (รวมถึงป้ายร้านค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าด้วย แต่ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตร.ม.)

 

  • ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก)

 

  • ป้ายจัดงานอีเวนต์

 

  • ป้ายโรงมหรสพ

 

  • ป้ายที่แสดงไว้ที่ตัวสินค้า

 

  • ป้ายธุรกิจการเกษตร ซึ่งมีการค้าผลผลิตจากการทำเกษตรของตนเอง

 


 

การคำนวณภาษีป้าย

 
               
        ข้อควรรู้ต่อมา คือ การคำนวณอัตราภาษีป้ายที่จะต้องจ่าย ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้

     
        พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี (กว้าง x ยาว ซม. / 500 ตร. ซม.) x อัตราภาษีป้ายแต่ละประเภท

 

         ยกตัวอย่าง เช่น ป้ายขนาดกว้าง 1 เมตร x ยาว 1.5 เมตร คำนวณได้ดังนี้
               

 
                   (100 ซม. X 200 ซม.) / 500 ตร.ซม. =  40 ตร.ซม.


  • ป้ายประเภทที่ 1 ต้องจ่ายภาษี 40 x 5  = 200 บาท

 

  • ป้ายประเภทที่ 2 ต้องจ่ายภาษี 40 x 26  = 1,040 บาท

 

  • ป้ายประเภทที่ 3 ต้องจ่ายภาษี 40 x 50  = 2,000 บาท

 

        (หมายเหตุ 1 ป้าย =  1 ด้าน ถ้าป้ายเดียวกัน แต่มี 2 ด้าน ก็ต้องเสีย 2 ครั้ง)
               

        โดยในแต่ละปีผู้ประกอบการธุรกิจสามารถชำระภาษีป้ายได้ตั้งแต่มกราคม – มีนาคมของทุกปี ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีป้าย ก็คือ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบล หรืออบต. ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนติดตั้งต้องมีการไปยื่นขออนุญาตก่อน แต่ถึงใครจะติดตั้งไปก่อนแล้ว ภายหลังก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐทำการสำรวจและเรียกจัดเก็บภาษีเอง ซึ่งหากไม่ได้ศึกษารูปแบบมาให้ดีอาจทำให้เสียภาษีแพงเกินกว่าความจำเป็นในการใช้งานก็ได้ ดังนั้นแล้วควรหาข้อมูลหรือขอคำปรึกษาจากผู้รู้ก่อนจะดีกว่า





กฎหมายป้าย

               

  • ห้ามติดตั้งป้ายในบริเวณหรือพื้นที่ที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นได้ อาทิ ติดตั้งในบริเวณที่คร่อมถนน ใกล้เสาไฟฟ้า ต้นไม้ เป็นต้น

 

  • หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในเวลาที่กำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย

 

  • หากยื่นแบบรายการป้ายไม่ถูกต้อง ทำให้เสียภาษีป้ายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของเงินที่ต้องประเมินเพิ่ม

 

  • หากไม่ชำระภาษีป้ายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย (ไม่นำเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มจากข้อ 1 และ 2 มารวมเพื่อคำนวณซ้ำ)

 

  • ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท

 

 

 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ