สังคมคาร์บอนต่ำ โจทย์ใหญ่การค้าแห่งอนาคต “โลก” คือลูกค้ารายใหญ่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจ




        อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งสัญญาณเตือนให้มนุษย์เริ่มตระหนักกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำร้ายโลกรวมไปถึงเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งสำหรับคนทำธุรกิจภายใต้บริบทใหม่ๆ ที่จะมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะบริบทแห่งสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกรูปแบบที่เกิดจากการดำรงชีวิตปกติ โดยเฉพาะการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตของโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี


         สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้อธิบายว่าสังคมคาร์บอนต่ำ มี 3 ลักษณะดังนี้ 1. สังคมที่ต้องช่วยกันลดความต้องการใช้พลังงาน 2. สังคมที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3. สังคมต้องมีมาตรการความมั่นคงทางพลังงานและเป็นสังคมที่มีการพบปะหารือกันในเรื่องความต้องการของคนทุกกลุ่มในสังคม





วิถีคาร์บอนต่ำจะกลายเป็น Norm ของธุรกิจยุคใหม่



         ไม่ใช่แค่นิยามหรือสโลแกนสวยๆ ที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น ในปัจจุบันประเทศและองค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ผลักดันให้ประเทศคู่ค้าต่างๆ นำเอากฎเกณฑ์ทางการค้ามาบังคับใช้อย่างเข้มข้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ


         ขณะนี้มีกว่า 190 ประเทศทั่วโลกได้ให้การรับรองกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) วาระแรก คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และหุ้นส่วนการพัฒนา เพื่อบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals: SDGs ภายในปี 2030


       นอกจากนี้หลายๆ ประเทศได้มีมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือ มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนของยุโรป เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน” หรือ “Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM)” ของสหภาพยุโรป (EU) ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ภาคส่งออกสินค้าของไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจได้รับผลกระทบในอนาคตได้ โดยที่มาตรการ CBAM มีหลักการสำคัญ คือ การปรับราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้า อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบขั้นต้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ระบบ EU-ETS เช่น ซีเมนต์ เหล็ก แก้ว กระดาษ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่าสินค้าสำเร็จรูปซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ซับซ้อนมากกว่า



               

        หันมาดูเพื่อนบ้านเรา เวียดนามได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสิ่งแวดล้อม (Law on Environmental Protection) ฉบับแก้ไขเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมาโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2022 มีสาระสำคัญ คือ การจัดตั้งระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก Carbon Emission Trading Scheme: ETS) พร้อมทั้งกลไกการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) อย่างไรก็ดียังคงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลเวียดนามในประเด็นที่เกี่ยวกับเพดานการลดการปล่อยก๊าซเรอืนกระจกและการจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรอืนกระจก กรอบเวลา และอุตสาหกรรมที่จะถูกนำเข้ามาในระบบ ETS เป็นต้น


      ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยต้องการจะแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยสามารถเริ่มต้นได้จากการเตรียมทำ Carbon Footprint ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการทราบว่าการดำเนินธุรกิจของตนเอง รวมถึงการผลิตสินค้าหรือบริการ มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากน้อยเพียงใด และยังช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงวิธีการลด Carbon Footprint ของตน





Carbon Footprint คืออะไร?



       คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือ การแสดงปริมาณรวมของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยในปัจจุบัน มีการประเมิน Carbon Footprint สองรูปแบบคือ


      หนึ่ง การประเมิน Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) เป็นการประเมินวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นส่วน การจัดจำหน่ายและขนส่งการใช้งาน ไปถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หรือของเสียหลังการใช้งาน


       สอง การประเมิน Carbon Footprint ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) เป็นการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า





How to ทำ Carbon Footprint



        ทั้งนี้หากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับต่ำ จะสร้างความได้เปรียบ สร้างโอกาสการขายสินค้ามากขึ้น รวมทั้งช่วยลดแรงกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมหรือกฎเกณฑ์ทางการค้าที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของยุโรป


        สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) สามารถดำเนินการผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้ความสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย


          ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ CFP รวมทั้งสิ้น 4,603 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง CFP และยังอยู่ในอายุสัญญามีเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีสัดส่วนสูงถึง 56 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตามด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามลำดับ


          ส่วนการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรนั้น บริษัทที่ได้รับการรับรอง CFO และยังอยู่ในอายุสัญญามีจำนวน 151 บริษัท จากทั้งหมด 664 บริษัทที่ได้การรับรอง


       โดยแยกเป็นรายอุตสาหกรรมดังนี้


  • อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 31.8 เปอร์เซ็นต์

 

  • ภาคการบริการ และสำนักงาน 16.6 เปอร์เซ็นต์

 

  • พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ 9.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • หัตถกรรม และเครื่องประดับ 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • สิ่งทอ 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • ยานยนต์ 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • ก่อสร้าง 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • ยางพารา 1.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 1.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • ปิโตรเลี่ยม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 2.0 เปอร์เซ็นต์

 

  • เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 3.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • อื่นๆ 19.9 เปอร์เซ็นต์

 

  • ไม่ระบุ 11.9 เปอร์เซ็นต์

 

ที่มา : Krungthai COMPASS
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​