How to วิธีลดต้นทุนวัตถุดิบร้านอาหาร คุณภาพไม่ลด แต่ยอดขายเพิ่มของ Mo-Mo-Paradise

ภาพ : Mo-Mo-Paradise


               


       การจะพาธุรกิจเอาตัวรอดไปได้มักมีหนทางหลักๆ อยู่ 2 ทาง คือ “หารายได้เพิ่ม” กับ “ลดรายจ่าย” แต่ในช่วงวิกฤตแบบนี้การทำยอดขายให้ได้เท่าเดิมยังเป็นเรื่องยาก ฉะนั้น หนทางที่เหลือก็ต้องเป็นการลดต้นทุน
               

       ในมุมมองผู้บริโภค เมื่อได้ยินคำว่า “ลดต้นทุน” ก็คงคิดว่าจะเป็นการลดคุณภาพสินค้าหรือบริการไปหรือเปล่า เรื่องนี้ Mo-Mo-Paradise ร้านชาบู-สุกี้ สไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมียมที่มีคนไปรอต่อคิวหน้าร้านทุกวัน ทุกสาขา ในทันทีที่รัฐประกาศผ่อนคลายมาตรการให้กลับมาเปิดบริการนั่งกินในร้านได้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดนั้นไม่จริง เพราะธุรกิจสามารถลดต้นทุนการผลิตโดยที่ยังคงคุณภาพเอาไว้ได้แน่ๆ

 



 

 

การผลักภาระต้นทุนให้ลูกค้า ไม่ใช่คำตอบ


               
        Mo-Mo-Paradise ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมาก ยอดขายตกลงเหลือเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยได้ และถึงแม้จะได้ปรับตัวไปอย่างมาก มีบริการส่งเดลิเวอรีหรือซื้อกลับบ้าน แต่ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจในวันนี้อยู่ในภาวะขาดทุน แถมยังต้องดูแลพนักงานที่มีอยู่ถึง 500 คน


        สุรเวช เตลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด เจ้าของร้าน Mo-Mo-Paradise (โมโม พาราไดซ์) บอกเอาไว้ว่า “การผลักภาระต้นทุนไปที่ลูกค้าไม่ใช่คำตอบ” นั่นหมายถึง Mo-Mo-Paradise ก็ต้องแบกต้นทุนนั้นเอาไว้เอง ซึ่งสิ่งที่ทำให้ยังสามารถเดินธุรกิจต่อได้มาจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การสร้างระบบภายในของร้านที่เริ่มทำมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด


         เขาได้นำหลัก Build to Order มาใช้อย่างจริงจัง เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่ของร้านเป็นประเภทของสดและมีหลากหลายชนิด จึงวางแผนและคำนวณปริมาณวัตถุดิบให้เหมาะสมกับยอดขายและลูกค้าในแต่ละช่วงและมีการปรับเปลี่ยนตลอด เพื่อช่วยลดการสูญเสีย (Waste) ให้เหลือน้อยที่สุด






หัวใจของการลดต้นทุน คือ ข้อมูล




“หากโฟกัสแต่เฉพาะที่วัตถุดิบหลักและมองข้ามวัตถุดิบตัวรองๆ ลงมา
อาจทำให้เราไม่เห็นต้นทุนที่แท้จริง


 
 
 
        ก่อนจะลงมือปรับปรุงประสิทธิภาพการทำธุรกิจ เขาเริ่มจากการเก็บข้อมูลด้วยความใส่ใจอย่างถี่ถ้วนกับทุกอย่างที่มีในร้าน เพราะหัวใจของความสำเร็จในการลดต้นทุนวัตถุดิบคือการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด


        “เพื่อให้รู้ว่าควรปรับปรุงวัตถุดิบตัวใดก่อนหรือหลัง และต้นเหตุของการสูญเสียเกิดจากสิ่งใด สำหรับทางร้านพบว่าปัญหาอยู่ที่ คู่มือในการทำงานสำหรับพนักงานไม่ละเอียด พนักงานขาดความเข้าใจในการตัดแต่งที่ถูกต้อง คุณภาพของผักไม่ตรงตามต้องการ ผักถูกเก็บไว้นานเกินไป และอุณหภูมิจัดเก็บไม่เหมาะกับชนิดของผัก


        หากโฟกัสแต่เฉพาะที่วัตถุดิบหลักและมองข้ามวัตถุดิบตัวรองๆ ลงมา อาจทำให้เราไม่เห็นต้นทุนที่แท้จริง บางครั้งวัตถุดิบตัวรองมีมูลค่าการสูญเสียเมื่อคิดเป็นต้นทุนสูงกว่าตัวหลักก็ได้ โดยเฉพาะต้นทุนของผักซึ่งเกิดการสูญเสียโดยเฉลี่ยมากถึง 22 เปอร์เซ็นต์ จึงตั้งเป้าหมายลดการสูญเสียไว้ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลลัพธ์ที่ทำได้จริงเหลือเพียง 14.6 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น”


       เมื่อรู้ปัญหาที่ชัดเจนจึงนำมาสู่การหาวิธีแก้ไข โดยจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานอย่างละเอียดให้กับพนักงาน เพื่อให้การทำงานในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานของร้าน โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ ขั้นตอนการตรวจเช็คสินค้าจากซัพพลายเออร์ วิธีการจัดเก็บ การจัดเตรียม การบริหารจัดการ การสั่งวัตถุดิบเข้าสต็อก ซึ่งจะทำให้วัตถุดิบต่างๆ ของร้านถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียได้ตามเป้าหมาย และจัดเทรนนิ่งให้พนักงานเข้าใจวิธีการทำงานมากขึ้น อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพวัตถุดิบโดยทำการตรวจผักตั้งแต่รับของเข้าและตกลงกับซัพพลายเออร์ให้ชัดเจนถึงสเปคสินค้าที่ต้องการ ซึ่งทำให้ทางร้านได้รับวัตถุดิบที่มีมาตรฐานสูงขึ้น





จัดระบบผัก First in First Out
เหลือน้อย สดนาน
 

 
“เมื่อใดก็ตามที่เราคิดจะลดคุณภาพสินค้าแล้ว ธุรกิจจะมีแต่ลงกับลง
ร้านอาหารต้องรักษาคุณภาพให้ได้เท่าเดิมหรือดีกว่าเดิมเท่านั้น”

 

         อีกปัญหาใหญ่สำหรับร้านอาหารที่มีวัตถุดิบเป็น “ของสด” เข้ามาทุกวัน ซึ่งอายุการจัดเก็บก็แสนสั้นไม่สามารถสต็อกไว้ได้นานๆ Mo-Mo-Paradise ใช้หลักการง่ายๆ คือ FIFO (First in First out) วัตถุดิบที่ซื้อเข้ามาก่อนจะต้องนำไปใช้ก่อน


       แล้วจะทำอย่างไรให้รู้แน่ชัดว่าอันไหนมาก่อน?


       วิธีการก็คือ ติดสติ๊กกอร์สีแยกตามวันและเขียนให้ชัดเจนว่าสินค้าตัวใดเข้ามาวันไหน วิธีนี้ช่วยให้พนักงานมองเห็นวัตถุดิบที่เข้ามาก่อน-หลังได้ง่ายที่สุด นอกจากนั้นยังกำหนดตำแหน่งในตู้เย็น ว่ามุมไหนชั้นไหนเหมาะกับการเก็บผักชนิดใด ส่งผลให้ผักต่างๆ มีอายุจัดเก็บยาวนานขึ้น


       สำหรับการจัดการกับปัญหาผักตัดแต่งที่ถูกเตรียมไว้มากเกินไป ร้านได้ปรับรูปแบบของภาชนะบรรจุที่บาร์ผักสำหรับลูกค้าให้พอดีกับปริมาณความต้องลูกค้า เช่น ใช้ถาดที่ตื้นขึ้นสำหรับผักที่ออกช้า ทำให้ผักทุกชนิดที่บาร์มีคุณภาพ สด สวยงามตลอดเวลา


           “สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดต้องอาศัยความละเอียดมาก แต่มันสามารถตอบวัตถุประสงค์ของเราที่ต้องการลดต้นทุนให้ได้โดยไม่ลดคุณภาพสินค้า” สุรเวชยืนยันอย่างนั้น





เงินที่ไหลออกต้องเป็นไปเพื่อการลงทุน
               

        สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ Mo-Mo-Paradise ยังสามารถประคองธุรกิจให้เดินต่อได้ คือ ความพยายามรักษาสภาพคล่องที่เริ่มทำมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ในช่วงสถานการณ์ปกติ


         “เราไม่ต้องการให้เกิดคำที่ว่า ทำร้านอาหารขายดีจนเจ๊ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไม่น้อย เพราะร้านอาหารเป็นธุรกิจเงินสดได้เงินมาทันที แต่การจ่ายค่าวัตถุดิบมีระยะเครดิตเทอม หากไม่มีการบริหารจัดการและทำบัญชีที่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่ามีเงินอยู่จำนวนมาก แต่จริงแล้วรายจ่ายก็มีจำนวนมากเช่นกัน อย่าลืมว่าธุรกิจต้องบริหารให้เงินเข้ามากกว่าเงินออกและกันเป็นทุนสำรองเอาไว้ หากขายดีแต่ฟุ่มเฟือยและไม่ควบคุมปัญหาจะเกิดตามมาแน่นอน


          ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจมีแต่เงินไหลออก ขอให้ทำสภาพคล่องที่ไหลออกในตอนนี้เป็นการไหลออกเพื่อการลงทุน (Investing Cashflow) สิ่งที่ทำในวันนี้ต้องต่อยอดไปถึงอนาคตให้ได้ และเมื่อถึงวันที่ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ธุรกิจของเราต้องพร้อมและสมบูรณ์  หรือหากเกิดวิกฤตใดขึ้นมาอีกธุรกิจของเราจะเจ็บตัวน้อยกว่าการไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย” 


          การปรับลดต้นทุนวัตถุดิบด้วยวิธีที่สร้างสรรค์จะช่วยให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน เป็นหนทางที่ช่วยให้ร้านอาหารสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างที่คาดไม่ถึง ขณะเดียวกันยังส่งผลทางอ้อมให้ลูกค้าของร้านได้รับประทานอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพและสดใหม่อยู่เสมอ
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​