7 วิธีพัฒนาธุรกิจรับปี ’65 ให้โตได้ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะ ขึ้น หรือ ลง

               


         ตลาดกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนชะลอการเดินทาง และธุรกิจต่างๆ แม้แต่ธุรกิจใหญ่อย่าง Google หรือ Apple กำลังเลื่อนแผนการกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ธุรกิจต่างๆ ต่างตั้งคำถามว่าจะวางกลยุทธ์อย่างไร เพราะกลยุทธ์ที่วางไว้ในเดือนมกราคมอาจจะต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม บางธุรกิจในประเทศไทยถึงขั้นต้องเปลี่ยนกันรายเดือน รายสัปดาห์กันเลยด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐ
               

         คาดว่าในปี 2565 ก็ยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นความไม่แน่นอนก็ยังคงมีอยู่มาก


         และนี่คือ 7 วิธีพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองต่อแนวโน้มในปัจจุบันให้ทันท่วงที ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลงก็ตาม



               

  1.  อย่าประมาทสถานการณ์โควิด-19

 

          นี่คือคาถาสำคัญที่ต้องคำนึงถึงทุกครั้งที่จะตัดสินใจวางกลยุทธ์อะไรสักอย่าง ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดจะไม่กลับไปรุนแรงจนต้องล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเหมือนปี 2563 แล้ว แต่เรื่องโรคระบาดก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากระวังเนื้อระวังตัวกันมากขึ้น เห็นได้จากการสำรวจของ Deloitte ที่บอกว่าผู้บริโภคประมาณ 51 เปอร์เซ็นต์มีความกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้นเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมต่างๆ


         มีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่รอดูสถานการณ์หรือเทรนด์ก่อนค่อยขยับตัวทำอะไรแทนที่จะคิดล่วงหน้าหรือวางแผนงานเพื่อไปดักทางความต้องการผู้บริโภค ลองเปลี่ยนวิธีคิดดู ติดตามสถานการณ์ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่ของตัวเองอย่างใกล้ชิด แล้วปรับธุรกิจให้ทัน เพราะถ้าไม่ทำล่ะก็ ลูกค้ายุคนี้ก็จะเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจอื่นที่ตอบสนองและทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยได้มากกว่า






  1. ปรับเข้าสู่เส้นทางดิจิทัลโดยสมบูรณ์

 

           มีหลายบริษัทที่เปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์ตั้งแต่ก่อนปี 2563 แต่โควิดได้เร่งเร้าให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องพัฒนาด้านดิจิทัลด้วยเช่นกัน การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ การประชุมทางไกลกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของการทำธุรกิจ แต่พอสถานการณ์ดีขึ้น หลายธุรกิจก็กลับไปดำเนินการแบบเดิม หยุดการทำงานผ่านดิจิทัล ซึ่งนั่นถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่


         ดูเหมือนว่าโลกจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่บางอย่างที่เปลี่ยนไปแล้วจะไม่มีวันย้อนกลับนั่นก็คือการค้าดิจิทัล ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์ในการทำงาน หรือมีบริการอัจฉริยะต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า กระซิบว่าเทรนด์ที่กำลังมาแรงสุดๆ นั่นก็คือ การสั่งงานด้วยเสียงและผู้ช่วยอัจฉริยะ
 

  1. สร้างวิธีทำงานที่ไปต่อได้ไม่ว่าจะขาขึ้นหรือขาลง

 

          ในเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2563 ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำลง แต่สถานการณ์นั้นกลับใช้เวลาเพียง 2 เดือนก็กลับมามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้นำธุรกิจหลายคนก้าวไปข้างหน้าโดยคาดการณ์ว่าการเติบโตนี้จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี
แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เหรอ


          อย่าสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจบนพื้นฐานของการมองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียว สร้างระบบการทำงานที่สามารถใช้ดั้งในช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี วางกลยุทธ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว แบบนี้แล้วไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไรธุรกิจของคุณก็ยังจะไปต่อได้



 

  1. ดักเจอลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

 

          ในปี 2563 สินค้าและบริการต้องสามารถเสิร์ฟลูกค้าได้ถึงหน้าบ้าน แต่ในปี 2564 ลูกค้าต่างกระตือรือร้นที่จะออกจากบ้าน เพราะพวกเขาเบื่อบ้านเต็มที แล้วปี 2565 ล่ะ? ธุรกิจต่างๆ จะต้องรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคแบบไหน

 

         การยึดติดกับหน้าร้านอาจเป็นปัญหามากกว่าที่คิด จากตัวเลขของ Bloomberg รายงานว่าอี-คอมเมิร์ซจะมีมูลค่ามากกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2570 แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเดิมพันมากเกินไป ลองพิจารณาการตลาดแบบไฮบริด รองรับลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์แบบดั้งเดิม และคนที่ต้องการบริการแบบเสมือนจริง


  1. โลดแล่นในโซเชียลมีเดีย

 

           โซเชียลมีเดียกำลังเฟื่องฟูทุกแพลตฟอร์ม จากแบบสำรวจของ Google พบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ YouTube บอกว่าครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์น่ะเข้าใจพวกเขาดีกว่าเพื่อนซะอีก พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์และสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า เพราะนั่นจะได้รับความสนใจมากกว่าโฆษณา แถมเป็นไปอย่างออแกนิก โซเชียลมีเดียน่ะไม่ใช่เรื่องเหลวไหลแน่ๆ



 

  1. ให้ความสำคัญกับพนักงาน

 

         ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคและตลาดที่เปลี่ยนไปในปีที่ผ่านมา พนักงานของคุณก็น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปด้วย พวกเขาใส่ใจคุณภาพชีวิต สวัสดิการ และการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น


          อันที่จริง การพยายามกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิมอย่างรวดเร็วอาจทำให้ทีมงานตื่นตกใจได้ไม่น้อย จากการสำรวจล่าสุดของ The Morning Consult พบว่า แรงงาน 39 เปอร์เซ็นต์จะคิดพิจารณาเรื่องการลาออกถ้าถูกบังคับให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ พวกเขาคาดหวังตัวเลือกการทำงานทางไกลและยืดหยุ่น และการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ใน 5 วันต่อสัปดาห์ อาจเป็นวิธีการทำงานที่ล้าสมัยไปแล้ว



 

  1. คิดให้ไกล แล้วเป็นใหญ่ในพื้นที่ของตัวเอง

 

           ตั้งแต่ก่อนโควิด การสื่อสารและการทำธุรกิจข้ามพรมแดนทำได้ง่ายและทำได้ตลอดเวลา แต่การห้ามเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศที่ยากลำบากขึ้นทำให้คนทำธุรกิจต้องหันมาสนใจตลาดในประเทศ


           แล้วปี 2565 ล่ะ? คิดว่าการทำธุรกิจข้ามพรมแดนจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หรือจะทำธุรกิจอย่างปลอดภัยในประเทศ คำตอบก็คือ ทำไมไม่ทำทั้งสองอย่างเลยล่ะ!


           อย่าทิ้งตลาดในพื้นที่ของตัวเองด้วยความหวังว่าจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศในอนาคตอันใกล้ ให้รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีอยู่ ในขณะที่รอเวลาที่เหมาะสมในการขยายตัว
 

           ถ้ามีคนมาบอกว่าพวกเขารู้ว่าปี 2565 จะเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งเชื่อ ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้น กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือยืดหยุ่น เตรียมธุรกิจให้พร้อมกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อค่อยๆ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
 
 


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​