ลูกค้าคิด หุ่นยนต์ทำ โมเดลธุรกิจร้านอาหารแห่งอนาคต

PHOTO : Creator Burger





          ในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาดูแลเรื่องอาหารการกินของผู้คน มีหุ่นยนต์บาริสต้าที่จะชงลาเต้พร้อมกับวาดลาเต้อาร์ตเจ๋งๆ มีหุ่นยนต์เชฟที่จะพิซซ่าให้ แม้กระทั่งมีหุ่นยนต์มาส่งอาหารให้ถึงบ้าน


          ภาพแบบนี้กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยตอนนี้ก็มีหุ่นยนต์ที่เตรียมเบอร์เกอร์อร่อยๆ ให้แล้วที่ร้าน Creator Burger ในซานฟรานซิสโก ด้วยราคาเพียง 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ และน่าจะเป็นเบอร์เกอร์ที่ราคาถูกที่สุดที่สามารถหาได้ในพื้นที่นั้นด้วยซ้ำ





หุ่นยนต์ที่ทำงานได้เหนือกว่าคน

 

           Creator Burger เปิดตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นจุดเริ่มต้นความฝันของ Alex Vardakostas ในการสร้างครัวหุ่นยนต์แห่งอนาคต ที่ไม่เพียงแต่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการทำเบอร์เกอร์ แต่เป็น Fully Automated Kitchen ที่ใช้หุ่นยนต์ที่มีชิ้นส่วนกว่า 600 ชิ้น คอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง หัวจ่ายส่วนผสม 50 หัว เซนเซอร์อีก 350 ตัว กับอัลกอริธึ่มอีกนับไม่ถ้วนเพื่อรังสรรค์เมนูเบอร์เกอร์สำหรับลูกค้า


            แล้วทำไมเขาจึงมีความฝันเช่นนั้น


           Vardakostas เติบโตมาในร้านเบอร์เกอร์ของพ่อแม่ เขาต้องพลิกเนื้อ (แพตตี้) วันละเป็นร้อยๆ ชิ้น ซึ่งระหว่างนั้นก็มีความผิดพลาดหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งที่มาจากคนทำ หรือสาเหตุอื่นๆ อย่าง อุณหภูมิ ความเชื้น หรือระยะเวลาในการทอดเนื้อก็ตาม ทำให้คุณภาพเบอร์เกอร์อาจจะไม่คงที่ และเขาคิดว่าหุ่นยนต์จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ และทำได้ดีกว่า “คน” ด้วย



               

          หุ่นยนต์ที่นี่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นเครื่องทุ่นแรงหรือทำงานซ้ำซากจำเจออย่างพลิกเนื้อ หั่นผัก หรือบีบซอสเท่านั้น แต่มันมีความอัจฉริยะมากกว่านั้นโดยการถอดแบบเทคนิคการทำเนื้อแพตตี้ของเชฟมิลชิน 3 ดาว จนได้เนื้อที่มีสัมผัสที่ดีสุดยอดเมื่อลูกค้ากัดเบอร์เกอร์ลงไปสักคำ มีการสร้างสรรค์เมนูโดยเชฟชื่อดังหลายคน โดยที่ถอดแบบทั้งส่วนผสมและวิธีทำของเชฟแต่ละคน มีเครดิตอยู่ในแต่ละเมนูที่คิดด้วย
               

            หุ่นยนต์ในร้านสามารถผลิตเบอร์เกอร์ได้มากถึง 120 ชิ้นต่อชั่วโมง ลูกค้าจะได้เห็นแทบทุกกระบวนการทำเบอร์เกอร์ ตั้งแต่การหั่นและปิ้งขนมปังบริออชไปจนถึงการเพิ่มท็อปปิ้งตามที่ลูกค้าสั่ง พนักงานที่จะได้เห็นอยู่รอบๆ เครื่อง คือ พนักงานเสิร์ฟ ที่ยืนอยู่หน้าแผนกรับคำสั่งซื้อและชำระเงิน และนำเบอร์เกอร์ไปเสิร์ฟให้



               

ลูกค้าเป็นผู้สร้างสรรค์

 

         Creator Burger เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปิดตัวลงเพราะโควิด-19 แม้ว่าช่วงแรกที่มีการระบาดร้านจะได้รับความนิยมสูงขึ้นเพราะแบรนด์สามารถสื่อสารเรื่องความโปร่งใสในการทำอาหารแทบทุกขั้นตอนโดยที่ไม่ต้องใช้คนปรุงเลย จึงไม่มีการสัมผัสกับคน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายแล้วร้านก็ยังพ่ายแพ้


         แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Creator Burger กลับมาเปิดอีกครั้งในทำเลใหม่ไม่ไกลจากเดิม พร้อมกับหุ่ยนต์ตัวใหม่ที่ลูกค้าสามารถควบคุมได้!


          หุ่นยนต์ตัวใหม่แตกต่างจากรุ่นแรกเล็กน้อย โดยนำเสนอฟังก์ชั่นการทำงานแบบใหม่เป็นหุ่นยนต์ที่เร็วกว่า สามารถปรุงเบอร์เกอร์ได้ภายในเวลาไม่ถึง 4 นาที บรรจุซอสปรุงรสและซอสต่างๆ ได้ถึง 25 ชนิด และการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ จากเดิมที่ร้านเป็นผู้สร้างสรรค์เมนูเบอร์เกอร์ให้ลูกค้าเลือกเท่านั้น หุ่นยนต์รุ่นนี้จะอนุญาตให้ใครก็ได้มาคิดเมนูใหม่ โดยที่ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Creator ลงในมือถือและปรับแต่ง เลือกเครื่องปรุงและซอสได้ตามชอบใจ จากนั้นก็บันทึกและแชร์เมนูที่ถูกคิดค้นขึ้นนั้นให้ใครก็ตามที่มีรสนิยมเดียวกันกดสั่งไปลองก็ได้


         ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้ “เชฟที่มีชื่อเสียง” ได้ย้ำแบรนด์ของตัวเอง ด้วยการสร้างสรรค์เบอร์เกอร์ให้เหล่าแฟนคลับหรือคนอื่นสามารถนำไปทำซ้ำได้





ยังต้อง “สื่อสาร” กับมนุษย์

 

           แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีจำนวนมากในร้าน แต่ Creator Burger ก็ยังมีพนักงานที่เป็นมนุษย์ Vardakostas กล่าวว่าทีมงานของเขาเคยคิดถึงการใช้ตู้สั่งซื้ออัตโนมัติเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะให้คนมาเป็นคนรับออเดอร์อยู่ดี “สำหรับผู้บริโภคหลายคน เขาต้องการคุยกับมนุษย์” เขาบอกแบบนั้น
               

              แน่นอนว่าระบบอัตโนมัติทำให้จำนวนพนักงานบริการในร้านอาหารลดลง แต่ก็มีตำแหน่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพราะการใช้เทคโนโลยี พนักงานยังต้องเติมส่วนผสม แนะนำวิธีใช้ให้กับลูกค้า ให้คำแนะนำในการเลือก ทำความสะอาด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติ หรือช่างซ่อมและบำรุงรักษา ซึ่งเป็นงานที่คนจะได้รับค่าจ้างมากยิ่งขึ้นด้วย เมื่อเร็วๆ นี้เขาได้เลื่อนตำแหน่งพนักงานในร้านอาหาร 2 คนให้เป็นนักพัฒนาในห้องปฏิบัติการ
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​