แหวกกระแสไม้ด่าง "เชียงคานแคคตัส" ปั้นธุรกิจทำรายได้แบบเสือนอนกิน

TEXT / PHOTO : Nitta Su.
 
 


     กระแสไม้ด่างกำลังมา แต่ถ้าจะย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน สำหรับคนอยากลองหัดเลี้ยงต้นไม้ แคคตัสหรือกระบองเพชรอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ ด้วยความที่ดูแลง่าย น่ารัก มีหลากหลายรูปทรงและหลายสายพันธุ์ให้เลือก ในวันนี้ที่กระแสไม้ด่างกำลังมาธุรกิจเลี้ยงแคคตัสเป็นอย่างไรกันบ้าง ไม้ทะเลทรายที่เคยนิยมนี้ ยังฮิตอยู่เหมือนเดิมไหม ลองมาพูดคุยกับ “เชียงคานแคคตัส” จุดเช็คอินแห่งใหม่ของเชียงคาน คาเฟ่สีขาวในห้องกระจกใสที่ทำธุรกิจปลูกแคคตัสขายควบคู่กันไปด้วย
 




จากในรั้วบ้าน สู่คาเฟ่สุดชิค

 

     ปิยวรรณ พัฒนกิจชัยกุล เจ้าของร้านเชียงคานแคคตัสคาเฟ่เล่าให้ฟังว่าเริ่มต้นปลูกแคคตัสมาได้ 8 – 9 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากความหลงใหลในรูปทรงต่างๆ ของแคคตัสก่อน จากนั้นจึงค่อยสั่งซื้อเก็บสะสมทีละต้นสองต้นได้เรียนรู้และทดลองขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง จากพื้นที่เล็กๆ วันหนึ่งก็ขยายเป็นโรงเรือนขึ้นมาอยู่ในรั้วบ้าน จากแบ่งปัน ก็เริ่มมีลูกค้าตัวจริงแวะเวียนเข้ามากิจการสวนแคคตัสของเธอจึงได้เริ่มต้นขึ้น
             

     “จริงๆ เริ่มมาจากความชอบส่วนตัวก่อน ค่อยๆ ทยอยซื้อมาเก็บสะสมไว้ พอมีเยอะขึ้นก็เริ่มแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านบ้าง เอาไปฝากคนโน่นคนนี้บ้าง จนวันหนึ่งมันเยอะขึ้นมากเราเลยเริ่มทำเป็นโรงเรือนขึ้นมาที่หน้าบ้านเริ่มเปิดขายให้คนอื่นมาซื้อไปเลี้ยงบ้างและก็เปิดเพจขึ้นมา แต่ด้วยความที่อยู่ในรั้วบ้านจึงไม่ค่อยสะดวกเวลาลูกค้ามาดูต้นไม้ เพราะไม่มีที่ให้เขานั่งเล่น ห้องน้ำก็อยู่ในตัวบ้าน ก็คิดกันว่าจะทำยังไงดี จนกระทั่งได้ไปออกร้านที่งานๆ หนึ่งในตัวเมืองจังหวัดเลย เราก็เอาแคคตัสไปขาย ปรากฏว่าขายดีมากแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวันแต่ได้เงินกลับมา 3 – 4 หมื่นบาท ทำให้เริ่มมองเห็นลู่ทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งพอเขาถามว่าสวนอยู่ที่ไหน เราก็บอกว่าอยู่เชียงคาน เลยมาคิดกันว่าไหนๆ เราก็มีจุดเด่นอยู่แล้ว ทำไมไม่ใช่ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ คือ ได้มาซื้อต้นไม้ที่เรา แล้วก็ได้มาเที่ยวเชียงคานไปด้วย พอดีมาได้ที่ติดริมถนนตรงนี้เลยตัดสินใจเปิดเป็นคาเฟ่ขึ้นมาและทำโรงเรือนอยู่ด้านข้าง ใครอยากแวะมาก็สะดวกมากขึ้น” ปิยวรรณเล่าที่มาให้ฟัง



 

สมดุลที่ลงตัว

 

     หลังจากที่เปิดตัวคาเฟ่ขึ้นมา งานในธุรกิจจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คาเฟ่และโรงเรือนแคคตัส ซึ่งถึงจะมีงานร้านเข้ามาเพิ่ม แต่ทุกวันนี้เธอก็ยังเป็นคนสวนที่เลี้ยงกระบองเพชรเหมือนเดิม โดยวิธีการที่ปิยวรรณเลือกบาลานซ์ทั้งสองส่วนให้ลงตัว คือ การเทรนด์ลูกน้องขึ้นมาเพื่อให้ดูแลในส่วนคาเฟ่ ส่วนหน้าที่ดูแลแคคตัสจะเป็นของเธอและสามีเป็นหลัก


     “เราแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ คาเฟ่และสวน โดยแบ่งหน้าที่กัน คือ เช้าก่อนเปิดร้านเปิดเราจะรีบทำเค้กให้เสร็จ จากนั้นจึงมาดูแลดูแลสวน ที่ร้านก็จะให้น้องๆ บาริสต้า ซึ่งเราเทรนด์มาแล้ว น้องสามารถอบพิซซ่า ทำขนมเพิ่มได้บางส่วน และดูแลลูกค้าได้ มีป้าแม่บ้านเป็นตัวเสริมคอยช่วยอีกคน แต่ถ้าวุ่นจริงๆ เราก็เข้าไปช่วย แต่ถ้าไม่มีอะไรหลักๆ เรากับสามีจะทำหน้าที่รับดูแลอยู่ที่โรงเรือน”





     ตัวร้านเองถึงแม้จะตั้งใจทำเป็นคาเฟ่ให้นั่งชิลล์ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ปิยวรรณเล่าว่าเธอเองก็คาดหวังรายได้จากลูกค้าในท้องที่ด้วย การต้งราคาสินค้าจึงไม่สูงเกินไป เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถมาใช้บริการได้บ่อยขึ้นด้วย


     “เชียงคานเป็นเมืองเล็กๆ จริงๆ เที่ยวแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็หมดแล้ว นอกจากตั้งใจทำร้านขึ้นมาเพื่อรองรับลูกค้าแคคตัสของเราเอง เราจึงตั้งใจอยากให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาเช็คอิน ถ่ายรูป ดูต้นไม้ ทำกิจกรรมเวิร์กช้อปปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งด้วย แต่ขณะเดียวกันเราก็มองถึงผลระยะยาว คือ ไม่ได้รองรับแค่นักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนเชียงคานเองก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ เรตราคาอาหารเครื่องดื่มเราจึงตั้งไว้ไม่สูง เป็นราคาที่ใครก็สามารถจับต้องได้ โดยเครื่องดื่มร้อนจะเริ่มต้นที่แก้วละ 35 บาท, เครื่องดื่มเย็นเริ่มที่แก้วละ 45 บาท ขนมชิ้นละ 20 บาทก็ยังมี พิซซ่าก็ถาดละ 170 บาท ไซส์ 12 นิ้วจำนวน 8 ชิ้น เรียกง่ายๆ ว่าหากมาคนเดียวมานั่งกินน้ำกินขนมที่ร้านเรามีเงินไม่ถึงร้อยก็สามารถมานั่งได้”
 




แคคตัสไม้เหนือกระแส มาเรื่อยๆ เงียบๆ แต่อยู่นาน

 
             
     เมื่อหากถามถึงกระแสความนิยมของการเลี้ยงแคคตัสเมื่อสิบกว่าปีก่อนเปรียบเทียบกับวันนี้ว่าแตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง ปิยวรรณเล่าว่าถึงแม้ช่วงนี้กระแสไม้ด่างจะมาแรง แต่ความนิยมของกลุ่มคนรักแคคตัสก็ยังคงอยู่เหมือนเช่นเดิม อาจมีขึ้นลงบ้างตามกระแส แต่ก็ไม่เคยหายไปไหน
             

     “แคคตัสเป็นอะไรที่เลี้ยงง่ายมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มหัดเลี้ยงต้นไม้ เพราะไม่ต้องดูแลเยอะ นานๆ ทีค่อยรดน้ำก็ได้ และเป็นไม้ที่มีฟอร์มให้เลือกเยอะ แต่ละตระกูลก็มีแยกย่อยออกไปอีก บางคนชอบดุดันมีหนามก็มีให้เลือก หรือใครชอบแบบน่ารักตะมุตะมิก็มีแบบขนฟูๆ ให้เลือก ปลูกได้ตั้งแต่พื้นที่เล็กๆ อย่างบนโต๊ะทำงานหรือจริงจังก็ได้ ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยซื้อต้นละ 20 บาทยังไง วันนี้ก็ยังมีขายอยู่”
             





     โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากในไทย คือ ตระกูลยิมโนคาไลเซียม ตระกูลแอสโตไฟตั้ม ที่น่าสนใจอีกอัน คือ ตระกูลอวบน้ำ โดยราคามักขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุต้น และสังกัดของสวนแต่ละแห่ง หากสวนใดมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากหน่อยก็จะได้รับความไว้วางใจและได้ราคาดี อาทิ สวนเพชรแต้มสี, สวนสนุนแคคตัสของโก๊ะตี๋ อารามบอย ผู้ปลูกแคคตัสหลายคนจึงพยายามสร้างจุดเด่นให้สวนของตัวเองเพื่อสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในวงการแคคตัส


     “ทุกคนที่เป็นเจ้าของสวน เป็นคนปลูก เป็นคนผสมสายพันธุ์ต่างก็อยากมีความหวังเหมือนกันว่าวันหนึ่งหน้าไม้ในสังกัดของตัวเองจะมีความสวยแปลกและแตกต่างไม่เหมือนใคร โดยนอกจากลูกค้าที่ซื้อแคคตัสเพื่อไปเลี้ยงแล้ว บางทีเจ้าของแต่ละสวนนั้นแหละที่ช่วยอุดหนุนกันเอง เพื่อเก็บสะสม และตามหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม้แปลกๆ ใหม่ๆ มาผสมเพื่อขยายพันธุ์ออกไปอีก ซึ่งตอนนี้เขาฮิตเล่นไม้ด่าง ในวงการแคนตัสเองก็ฮิตเล่นหน้าไม้ที่มีรูปทรงและสีสันแปลกๆ เช่นกัน อย่างยิมโนคาไลเซียม ตอนนี้ก็ฮิตนำมาผสมให้ออกมาเป็นสีด่างมากขึ้น”





     โดยเล่าว่าคนที่เลี้ยงแคคตัสนั้นมีอยู่หลายระดับ เริ่มตั้งแต่ซื้อไปทดลองปลูกจากต้นละ 20 - 30 บาทก่อน เมื่อเริ่มรู้ว่าชอบรูปทรงไหนก็จะค่อยๆ ลงลึกและสรรหาอัพเลเวลขึ้นไปเรื่อยๆ จากเล็กๆ ก็ไปใหญ่ขึ้น จากไม้ตลาดก็เป็นไม้หายาก จากที่เคยซื้อก็เริ่มทดลองปลูกและขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง อย่างที่สวนของเธอเองก็มีเริ่มตั้งแต่ราคา 20 บาทไปร้อยปลายๆ  ยกเว้นต้นที่หายากที่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็จะอีกราคาหนึ่งมีตั้งแต่หลายพันธุ์บาท ไปจนถึงหลักหมื่นก็มี โดยในจังหวัดเลยเองนั้นก็มีคนนิยมปลูกแคคตัสเป็นงานอดิเรกกันค่อนข้างมาก บางคนดั้งด้นมาไกลจากหลายอำเภอยอมขับรถมาไกลเป็นร้อยกิโลเมตรก็มี เช่น วังสะพุง, ด่านซ้าย, ภูเรือ เป็นต้น
 




ยิ่งเลี้ยง ยิ่งรวย

 
             
     ซึ่งเมื่อถามถึงการปลูกต้นไม้เป็นอาชีพว่ายังมีแนวโน้มที่น่าสนใจน่าลงทุนต่อไปอีกหรือไม่ ปิยวรรณได้ฝากไว้ว่า
             

     “ถามว่าเป็นอาชีพที่ดีไหม เป็นอาชีพที่ดีนะ สามารถเลี้ยงเราได้เลย จากตอนแรกเราเลี้ยงเขา จนทุกวันนี้เขากลับมาเลี้ยงเราได้ อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมาบอกตรงๆ เลยว่ารายได้ที่เข้ามาช่วยพยุงร้าน ค่าจ้างพนักงาน 3 คน ค่าน้ำค่าไฟนั้นได้มาจากแคคตัสเลย ซึ่งถ้าใครสนใจมุ่งเลี้ยงจริงๆ จากที่เห็นในวงการบางคนมีรายได้เป็นแสนเป็นล้านก็มี เพราะขายมานาน มีชื่อเสียง มีลูกไม้ในมือเยอะ เวลาปล่อยทีก็ได้เยอะ พอถึงระดับหนึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลก็ไม่ได้เยอะอะไรเลย เดือนหนึ่งดูแลแค่ 2 หน รดน้ำอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น


     “ต้นไม้เขาไปได้เรื่อยๆ นะ เพราะเขาโตทุกวัน ราคาก็เปลี่ยนทุกวัน อย่างวันนี้ 20 บาทอีกเดือนหนึ่งราคาก็เปลี่ยนแล้ว ความมหัศจรรย์ คือ แค่ 1 เมล็ด ซึ่งเล็กมาก พอเพาะขึ้นมาเป็นต้นก็ขายได้ 20 บาทแล้ว ซึ่งต้นหนึ่งมีหลายเมล็ดมาก พอโตขึ้นวันหนึ่งอาจขายได้ 500 – 1,000 บาทก็ได้ มูลค่าก็อัพขึ้นไปเรื่อยๆ ดียิ่งกว่าฝากธนาคารหรือเทรดหุ้นซะอีก แต่ก็ต้องใช้ทั้งระยะเวลา แรงกายแรงใจ และความอดทนสูง แต่ถ้าเราดูแลเขาดี วันหนึ่งเขาก็จะกลับมาดูแลเราเอง” ปิยวรรณกล่าวทิ้งท้าย
 

 

เชียงคานแคคตัสคาเฟ่

Facebook : เชียงคานแคคตัสคาเฟ่

โทร. 0818737381

เปิด 8.30 - 17.00 น.

 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​