ความหวังโค้งสุดท้ายปลายปี ได้เงินก้อนหรือเงินทิพย์ ถ้าคนเที่ยวจะมีแต่คนไทยกันเอง




             การเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกลับมาสู่สภาพปกติของธุรกิจท่องเที่ยวไทย ซึ่งจาก KTC Live Talk งานเสวนาออนไลน์ เคทีซีผนึกพันธมิตรธุรกิจ ร่วมบุกตลาดท่องเที่ยวไทยเต็มสตีม ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยภาคส่วนต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเราอาจต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลักก่อน เพราะคนต่างชาติมักจะวางแผนเที่ยวกันแบบระยะยาวซึ่งได้วางแผนเที่ยวใน High season ปลายปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว


               ส่วนความหวังจะคว้าเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นอาจต้องรอถึงซัมเมอร์หน้าคือเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป            


  
               

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทย เที่ยวครั้งหนึ่ง ไปให้คุ้ม

 

            หากมองดูสถานการณ์ประเทศไทยในตอนนี้อาจจะไม่ได้พร้อมเปิดประเทศเต็มที่ แต่เมื่อคำนึงถึงภาพรวมในด้านเศรษฐกิจที่ต้องการการฟื้นตัว จึงต้องแบบกล้าๆ กลัวๆ ซึ่งประเด็นนี้ โชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด มองว่าการที่รัฐเพิ่งตัดสินใจไม่กี่สัปดาห์นี้อาจช้าไป


             “ปกติแล้วปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซัน คนยุโรปมักจะเดินทางช่วงนี้ ลูกค้าของผมส่วนใหญ่ก็เป็นยุโรป ซึ่งเขาจะวางแผนล่วงหน้านานถึง 7-8 เดือน จนถึงตอนนี้เขาวางแผนเรื่องการท่องเที่ยวไว้หมดแล้ว เช่น ไปกรีซ ไปตุรกี เราเปิดตอนนี้ไม่ทันแน่นอน และหลังปีใหม่ไม่ใช่ช่วงท่องเที่ยวของเขาแล้ว ได้อีกทีหนึ่งก็คือซัมเมอร์ปีหน้า”
               

              อย่างไรก็ตาม ตลาดท่องเที่ยวไทยยังคงเดินได้ด้วยคนในประเทศ จะเห็นว่าหลังจากที่ถูกล็อกดาวน์ภาคการท่องเที่ยวบูมมากหลังจากคลายล็อกเพราะคนมีความอัดอั้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เต็มไปด้วยความอัดอั้นอยากเที่ยวต่างหาก
               

            “วิธีการที่เราต้องดูแลลูกค้าคือพยายามทำความเข้าใจอินไซต์ของเขา เพราะการท่องเที่ยวต่อไปนี้จะมีความยุ่งยากมากขึ้น เช่น ถ้าจะเดินทางต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศไทยเองต้องมีแอปพลิเคชัน ต้องโชว์เอกสาร ต้องตรวจโควิด ต้องมีการเตรียมตัวมากมาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางบ่อยครั้ง ความถี่เลยจะน้อยลง เพราะฉะนั้นลูกค้าจะเดินทางเป็น Long Trip มากขึ้น ใช้เวลาในแต่ละทริปนานขึ้น เราเห็นเทรนด์นี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว พอเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ นักท่องเที่ยวไทยก็เอาเวลา 6-7 วันนั้นมาเที่ยวในประเทศแทน พอตอนนี้เปิดประเทศแล้วเราก็เห็นว่าลูกค้ายังมีความต้องการเดินทางระยะยาวอยู่ เพราะรู้สึกว่าการเดินทางแต่ละครั้งมีความเสี่ยง ความยุ่งยาก ฉะนั้นเที่ยวทีหนึ่งก็ไปให้คุ้ม”



 

สายการบินพร้อมกางปีก 14 เส้นทางทั่วไทย

 

           ด้านสายการบินอย่าง Thai Vietjet ก็มองตลาดท่องเที่ยวไทยหลัง 1 พฤศจิกายนในทิศทางเดียวกัน และไม่ได้คาดหวังว่าวันแรกที่เปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเยอะเหมือนเช่นเคย แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าจะเปิดเต็มที่ทีเดียวแล้วต้องกลับมาเจอวิกฤตหนักอีกครั้งจนต้องถอยหลังหลายก้าว


          ซึ่งเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา Thai Vietjet ก็ปรับตัวตลอดเวลา ทั้งเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดว่าจะจับกลุ่มไหนหรือบินไปที่ไหน ซึ่งข้อจำกัดของธุรกิจสายการบินคือต้องวางแผนล่วงหน้าเพราะต้องมีการขออนุญาตบิน และจากก่อนหน้านี้ที่ Thai Vietjet มีเส้นทางบินในประเทศไม่มากนัก แต่ในช่วงโควิดต้องเปลี่ยนมาบินในประเทศมากขึ้น มีการเปิดเส้นทางใหม่ๆ จนปัจจุบันบินครบทั้ง 14 เส้นทาง


           ปิ่นยศ พิบูลสงคราม Head of Commercial สายการบิน Thai Vietjet บอกว่า “ในช่วงวิกฤตสายการบินมองเห็นโอกาสเยอะมากทำให้เราสามารถกระโดดเข้าไปตว้าไว้ได้ เราเปิดเส้นทางบินไปทั้งเหนือ อิสาน ใต้ เริ่มเปิดข้ามภาค เช่น เชียงรายไปภูเก็ต เชียงรายไปหาดใหญ่ เรื่องของภายในหลายๆ อย่างเราก็พัฒนาขึ้น เรื่องของระบบสมาชิก ทำให้เราเอากระแสเงินสดเข้ามาได้บ้าง”


          และสถานการณ์เดียวกันทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยที่ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายมากขึ้นเพราะความไม่แน่นอนของทั้งสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่และมาตรการภาครัฐ จนต้องดูก่อนว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกบ้าง ทำให้รูปแบบโปรดักต์และการส่งเสริมการขายเปลี่ยนไป มีการโปรโมทและขายตั๋วที่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม



 

ผู้ประกอบการต้องปรับ รับมือกับนักท่องเที่ยวออนไลน์

 

           ด้านของธุรกิจสวนสนุก สวนน้ำ ก็มีความหวังจากการที่เห็นธุรกิจเดียวกันในต่างประเทศซึ่งชัดเจนว่าไม่ว่าจะจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ จีน หรือญี่ปุ่นก็ตาม เมื่อกลับมาเปิดให้บริการแล้วมีตัวเลขลูกค้าเข้ามามากกว่าปกติด้วยซ้ำ ซึ่ง วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ นายกสมาคมสวนสนุก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก ผู้บริหารสวนน้ำและสวนสนุกสวนสยาม ประเทศไทย ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าสวนน้ำ สวนสนุก หรือสวนสัตว์ในประเทศไทยจะได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าดีเช่นกัน


            ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มี 2 ส่วนที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการเปิดรับลูกค้าหลังจากนี้ คือ 1. มาตรการดูแลรักษาระยะห่าง จุดแข็งของธุรกิจสวนน้ำ สวนสนุกคือการอยู่ในพื้นที่โล่งที่ผู้ประกอบการสามารถช่วยผู้บริโภครักษาระยะห่างได้ด้วยโครงสร้างสถานที่ กับการเตือนลูกค้า วิธีนี้เป็นเรื่องยากกว่าเพราะหากคนกำลังสนุกแล้วถูกเตือนคงไม่สนุกอีกต่อไปจนอาจส่งผลเสียกับธุรกิจได้ แต่ผู้ให้บริการทุกรายคงต้องเผชิญกับปัญหานี้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า


            และ 2. พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อบัตรแบบออนไลน์มากขึ้น และใช้เงินสดน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว อย่างสวนสยามได้ปรับเรื่องการซื้อบัตรและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และมีบริการผ่อน 0 เปอร์เซ็นต์จากที่ไม่เคยทำมาก่อนเพราะราคาบัตรสวนสนุกหรือสวนน้ำไม่ได้สูงมาก จนกระทั่งมีผู้บริโภคมาถามจึงตัดสินใจทำ เป็นการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น





สนุกได้แต่ยังต้องเข้มมาตรการ

 
               
             หากมองดูพื้นที่ชลบุรีหรือพัทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ จากสถิติแล้วพัทยาเคยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาถึงเดือนละ 1 ล้านคนในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี ซึ่งจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
               

             แต่การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดชลบุรี มองว่ายังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการที่ทำให้ไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการตรวจ RT-PCR ต้องซื้อประกัน อีกส่วนหนึ่งคือมาตรการของรัฐที่ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทำให้ประเทศไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของนักท่องเที่ยว หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 30,000-40,000 คนก็นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงแล้ว
               

           ซึ่งการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังไม่แน่นอนนั้นต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี ทั้งกับกลุ่มลูกค้านการชี้แจงเรื่องมาตรการที่เข้มงวด ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามาแล้วปลอดภัย


             กับอีกส่วนคือทำความเข้าใจกับคนในท้องถิ่นที่มองว่าเปิดประเทศเร็วเกินไปทั้งที่ยังฉีดวัคซีนกันได้ไม่เท่าไร และมีความกังวลว่าจะกลับมาระบาดอีกรอบหรือไม่ ในประเด็นนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาลต้องสื่อสารว่าถึงแม้เขาจะไมได้อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็จะทำให้มีเงินหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
 
 
 

 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​