โอเดงย่า ต้นตำรับขนมแถมการ์ดเกมในไทย กับ 30 ปีการกลับมาที่วันนี้มูลค่าพุ่งสูงกว่าใบละแสนบาท

TEXT :    Nitta Su.

PHOTO :  CoCoRi

 




     โอเดนย่า (โอเดงย่า) ขนมซองข้าวโพดอบกรอบรสซีฟู้ดกลับมาขายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังห่างหายไปนานกว่า 30 ปี โดยไม่ลืมของแถมการ์ดดราก้อนบอลในตำนานให้ได้หายคิดถึงกันด้วย แต่เพิ่มเติม คือ การ์ดชุดพิเศษ (SSR) ที่มีเพียง 150 ใบในโลก! จนมีการประกาศรับซื้อแตะหลักแสนบาทต่อใบไปแล้ว
             

     “การ์ดเกม” ของเล่นสุดฮิตของเด็กไทยยุค 90 หนึ่งในการ์ดเกมที่โด่งดังและมีชื่อเสียงถูกพูดถึงกันมาก คือ “การ์ดดราก้อนบอล” การ์ดเกมในยุคแรกๆ ของไทยที่แถมมากับขนมซองอย่างโอเดงย่า ซึ่งเริ่มจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2532 จากนั้นการ์ดเกมในไทยก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีขนมแถมการ์ดเกมออกมาให้เลือกสะสมมากมายในท้องตลาด เป็นกิจกรรมสันทนาการสุดฮอตของเด็กยุคนั้นที่มักนำการ์ดมาเปิดเอาค่าพลังมาแข่งกัน แต่สิบกว่าปีต่อมาหลังจากที่เกมออนไลน์เริ่มเข้ามาพร้อมกับของเล่นใหม่ๆ เข้ามาตีตลาดมากขึ้น ความนิยมเล่นการ์ดเกมเริ่มลดลง จึงได้เลิกแถมการ์ดเกมมาบนซองขนม



  
        ว่ากันว่าที่มาของการ์ดเกมนั้นพัฒนาต่อยอดมาจากเกมไพ่ ซึ่งมีการเล่นกันมานานกว่านับพันปีแล้ว จากประวัติศาสตร์ชาติต่างๆ เช่น จีน, อินเดีย, ฝรั่งเศส, เยอรมัน










ทำไมชื่อญี่ปุ่น แต่เจ้าของเป็นคนไทย

 
             

     ก่อนจะมาติดตามเรื่องราวการกลับมาอีกครั้งของโอเดงย่า ลองมาทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของแบรนด์กันก่อน ซึ่งผู้ให้กำเนิดโอเดงย่าขึ้นมา ก็คือ บริษัท เอสพีอาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของตระกูลเหรียญชัยวานิช ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาจากร้านยี่ปั๊วหรือร้านขายส่งที่มองเห็นโอกาสว่าขนมซองขายดี ภายหลังต่อมาจึงเริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตขนมของตัวเองขึ้นมาในปี 2518 กระทั่งสิบกว่าปีผ่านไปจึงจัดตั้งเป็นรูปแบบบริษัทขึ้นมาในปี 2527 พร้อมกับการเข้ามาช่วยดูแลของทายาทรุ่นสอง ซึ่งภายหลังต่อมาได้คิดค้นขนมข้าวโพดอบสูตรรสซีฟู้ดชื่อ “โอเดงย่า” ออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาด พร้อมกับของแถมการ์ดเกมลายการ์ตูน จึงทำให้ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ทำให้ต่อมามีการผลิตขนมซองแถมการ์ดเกมตามมาอีกเรื่อยๆ
             

     ส่วนที่มาของชื่อนั้นนำมาจากร้านโอเด้งก๋วยเตี๋ยวสไตล์ญี่ปุ่นนั่นเอง โดยได้มาจากการเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและเกิดความประทับใจในรสชาติอาหารจากร้านโอเด้ง จึงนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ในที่สุด ซึ่งหลังจากยุคหนึ่งที่การ์ดเกมเริ่มไม่เป็นที่นิยมเหมือนเก่าจึงได้เลิกผลิตไป และหันมาจับตลาดส่งออกแทน โดยไม่มีของแถมในซองเหมือนเก่า แต่ต่อมาภายหลังจึงได้กลับมาผลิตขนมข้าวโพดอบกรอบรสปลาหมึกขึ้นมาแทนในชื่อ “โคโคริ” พร้อมกับเพิ่มรสชาติใหม่ เช่น  รสสาหร่าย รสมะพร้าว โดยจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปี 2563 บริษัท เอสพีอาร์ ฟู๊ด อินดัสทรี จำกัด มีรายได้รวม 303 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6.34 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิ 3.5 ล้านบาท ลดลง 51.86 เปอร์เซ็นต์
 






จากโอเดงย่า ถึงโอเดนย่า

 

             
     การกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งของโอเดนย่าในวันนี้จึงเป็นการกลับมาในรอบ 30 ปี ว่ากันว่ากว่าจะกลับมาเปิดตัวได้อีกครั้งต้องใช้เวลาเตรียมโปรเจกต์กันนานกว่า 3 ปีเลยทีเดียว เพื่อทำให้สมบูรณ์แก่การรอคอยของผู้บริโภคที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ทั้งรสชาติขนมและการ์ดของแถม โดยเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น


     ซึ่งไม่เพียงกลับมาให้หายคิดถึง แต่มีการปรับเวอร์ชั่นใหม่ ตั้งแต่การปรับชื่อภาษาไทยจาก “โอเดงย่า” ให้เป็น “โอเดนย่า” ให้ถูกต้องตามคำสะกดในภาษาอังกฤษ คือ Oden – Ya จำหน่ายที่ซองละ 20 บาท ขนมหนึ่งซองจะมีการ์ดแถมให้ 2 ใบ แต่คราวนี้แทนที่จะใส่การ์ดไว้ในซองขนมเหมือนเก่ากลับมีการแปะแยกออกมาให้เห็นอยู่นอกซองเลย เพื่อให้สะดวกแก่ลูกค้ามากขึ้น เช่น บางคนอาจอยากแกะเอาการ์ดมาเล่นก่อน แล้วค่อยกินขนมทีหลังก็สามารถทำได้ อีกอย่าง คือ เพื่อเป็นไปตามตามประกาศของกฎหมายปี 2552 ด้วยว่า "ของแถม" ไม่สามารถใส่ลงไปในซองขนมได้
             





     โดยการกลับมาของโอเดงย่านั้นนอกจากจะนำรสชาติขนมข้าวโพดรสซีฟู้ดที่เคยคุ้นเคยกันดีให้กลับมาแล้ว ตัวการ์ดเองยังใส่ใจในรายละเอียดโดยเลือกใช้โรงพิมพ์เดิมในการผลิตด้วย คือ โรงพิมพ์อนิเมท ปริ้นแอนดีไซด์ ซึ่งเคยพิมพ์การ์ดดราก้อนบอลที่โด่งดังในอดีตของเด็กไทยมาแล้ว เพื่อให้ได้สไตล์การพิมพ์และออกแบบคล้ายคล้ายกับของต้นฉบับมากที่สุดสมกับการรคอยมานานหลายสิบปี
 





ขนมหลักสิบ การ์ดหลักแสน
 

     ส่วนตอนนี้ที่เป็นข่าวของราคาการ์ดที่แถมมาด้วยว่าทำไมราคาถึงไปแตะอยู่ที่หลักแสนบาทไปได้ ต้นตอมาจากการ์ดชุดพิเศษที่ชื่อว่า “SSR” ซึ่งมีผลิตออกมาเพียง 150 ใบในไทยหรือในโลกเท่านั้น


     โดยครั้งนี้มีการออกแบบการ์ดเกมมาให้สะสมทั้งสิ้น 147 แบบด้วยกัน แบ่งเป็นการ์ดธรรมดา 94 แบบ, การ์ดพิเศษโฮโลแกรม 35 แบบ, การ์ดพิเศษโฮโลแกรมปั้มทอง 17 แบบ และการ์ด SSR (Super Secret Rate) 1 แบบผลิตออกมาเพียง 150 ใบ





      จึงมีโอกาสเป็นไปได้ยากที่จะเจอการ์ด SSR ดังกล่าว และไม่แปลกใจเลยที่จะมีคนประกาศขอรับซื้อการ์ด SSR ในราคาสูงลิ่ว โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เฟสบุ๊กเพจ “ให้ไปเกิดแลนด์ ดินแดนของสะสมโมเดล ฟิกเกอร์ งานแท้ 100%” ได้มีการโพสต์ข้อความขอรับซื้อการ์ดดราก้อนบอลที่แถมมากับขนมโอเดนย่า โดยยินดีรับซื้อการ์ดหายากระดับ SSR ในราคาใบละ 1 แสนบาท พร้อมโอนเป็นเงินสดทันที

             


ในยุคหนึ่งราวยุค 90 ได้มีการผลิตออกมาเป็น Trading Card (TC) หรือการ์ดสะสม ต่อมาภายหลังมีการพัฒนาให้สามารถนำมาเล่นได้ โดยจะมีค่าพลังหรือคะแนนติดไว้ที่ตัวการ์ด จนปัจจุบันมีการต่อยอดกลายเป็น Digital Collectible Card Game (DCCG) หรือการ์ดเกมออนไลน์ขึ้นมาเล่นกันทั่วโลก
 






     โดยได้มีการแจ้งอัพเดตในโพสต์เดียวกันกันว่า ปัจจุบันทางเพจได้ทำการซื้อการ์ดหายากระดับ SSR มาไว้ในครอบครองทั้งหมด 4 ใบแล้ว ราคามีตั้งแต่ 50,000 - 130,000 บาท ซึ่งไม่ใช่ราคากลาง และไม่ใช่ราคามาตรฐานในการซื้อขาย แต่เป็นราคาที่เกิดจากความพึงพอใจระหว่างเพจและผู้ขายการ์ดเองที่ชื่นชอบในการ์ดเกมและเก็บเป็นของสะสมส่วนตัวไว้อยู่แล้ว
             

     คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอนาคตการ์ดเกมชุดดังกล่าวนี้ในมือของนักสะสมราคาจะพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ งานนี้เรียกว่าสมศักดิ์ศรีการกลับมาของโอเดนย่าจริงๆ ที่ผ่านมาแค่เพียงอาทิตย์กว่าก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้บริโภคและนักสะสมคนไทยได้ถึงขนาดนี้
 



 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​