ส่อเค้าวุ่น ปัญหาแรงงานขาดระบาดทั่วโลก ญี่ปุ่นต้องพึ่งคนอายุ 80 กลับเข้าทำงาน

 

 

             “The Great Resignation” หรือการลาออกครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานกำลังเป็นอีกปัญหาที่ธุรกิจทั่วโลกต่างต้องเผชิญหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ สหรัฐอเมริกาพบสถิติคนลาออกจากงานกว่า 4 ล้านคนสูงสุดในรอบยี่สิบปีที่เคยเกิดขึ้น สตาร์บัคส์แห่ขึ้นค่าแรงเพื่อจูงใจพนักงานโดยกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง และอาจขึ้นให้ถึง 23 เหรียญต่อชั่วโมงในฤดูร้อนปีหน้านี้ ขณะที่ญี่ปุ่นพบอัตราคนว่างงานต่ำเพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เพราะกำลังฟื้นตัว แต่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จนต้องยืดอายุวัยเกษียณออกไป และเปิดรับผู้สูงอายุกว่า 80 ปีให้กลับมาช่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักนั่นเอง



          เมื่อผู้คนเริ่มเรียนรู้ที่จะทดลองใช้ชีวิตวิถีใหม่ทั้งรูปแบบที่มีข้อจำกัดและไร้ซึ่งข้อจำกัด ได้มีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำงานในสถานที่ที่ไม่ใช่ออฟฟิศ ฝึกฝนทักษะใหม่ด้วยตัวเอง ทำอาหารกินเอง ตัดผมเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือ การทดสอบมนุษย์ให้ลองออกจากกรอบเดิมๆ ที่เคยทำ จึงไม่แปลกที่วันนี้หลายคนจะลุกขึ้นมาเลือกทางเดินชีวิตตัวเองไม่ว่าการย้ายที่ทำงานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า หรือการลาออกเพื่อมาทำกิจการของตนเอง จนทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้



 

ลาออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 
               
            โดยกลุ่มประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤตในขณะนี้ ได้แก่ 2 ยักษ์ใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งมองว่านอกจากปัจจัยจากโรคระบาดแล้ว แต่ละประเทศยังมีปัญหาเฉพาะด้านจากโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันด้วย
 
 
● สหรัฐฯ : เงินประกันตกงานสูง, บำนาญเกษียณที่เพิ่มขึ้น
 
               
           เริ่มจากสหรัฐอเมริกามีรายงานระบุว่าหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและเปิดให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ กลับมีแรงงานจำนวนมากเต็มใจจะทิ้งงานเดิมเพื่อเปลี่ยนไปทำงานที่ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหรือลาออกไปเพื่อประกอบกิจการของตนเอง โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีตัวเลขคนลาออกจากงานมากกว่า 4.3 ล้านคน เป็นอัตราสูงสุดนับจากเดือนธันวาคมปี 2543 หรือเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ขณะที่กลับมีตำแหน่งงานว่างอยู่มากกว่า 10.4 ล้านตำแหน่ง โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ภาคธุรกิจบริการและร้านอาหาร
 
 
           ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนนี้ ร้านพิซซ่าเก่าแก่ในชิคาโก้ชื่อ “Coalfire Pizza” ต้องออกมาประกาศปิดร้านชั่วคราว เหตุเพราะแค่พนักงาน 2 คนโทรมาลาป่วยพร้อมกันกะทันหัน ทำให้ขาดคนทำงาน โดยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทำธุรกิจมาไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน
               
 
          โดยมองว่านอกจากปัจจัยจากโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตผู้คนให้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว การที่ผู้คนส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่กลับเข้าไปทำงานอยู่ในระบบเหมือนเช่นเดิมมาจากปัจจัย 2 ส่วน คือ 1. เพราะเงินช่วยเหลือการตกงานจากฝ่ายพัฒนาการจ้างงานเอง (Employment Development Department : EDD) ที่บางคนได้รับสูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2 หมื่นกว่าบาทต่อสัปดาห์ และ 2. มองว่ามาจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นมากทำให้ผลตอบแทนเงินบำนาญเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นมาก ทำให้หลายคนตัดสินใจเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนดมากกว่าจะกลับเข้าไปทำงานตามเดิม เพราะเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจมากกว่า



 
 
● สหราชอาณาจักร : ถูกซ้ำเติมจากการยกเลิกสัญญาเบร็กซิต
 
 
            ในด้านสหราชอาณาจักร ซึ่งได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักเช่นกัน โดยมีรายงานว่าตั้งแต่ช่วงมิถุนายน - สิงหาคม 2564 สหราชอาณาจักรมีตำแหน่งงานว่างมากถึง 1 ล้านตำแหน่งด้วยกัน ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
 
 
              โดยว่ากันว่านอกจากเป็นเพราะวิกฤตโควิด-19 แล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหราชอาณาจักรต้องขาดแคลนแรงงาน ก็คือ การยกเลิกสัญญาเบร็กซิตหรือประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากนอกประเทศและในสหภาพยุโรป เพื่อกลับเข้าไปทำงานในสหราชอาณาจักรเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิมจากกฎระเบียบใหม่ที่ตั้งขึ้นมา ผิดจากตอนที่ยังคงเป็นสมาชิกอียูที่แรงงานสามารถเดินทางไปทำงานได้อย่างเสรีมากกว่า ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาตั้งแต่การขาดแคลนแรงงาน ความล่าช้าการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ
 
 
           โดยกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนและส่งผลกระทบมากที่สุด ก็คือ พนักงานขับรถบรรทุก ซึ่งจากกฏระเบียบขั้นตอนทางศุลกากรที่ยุ่งยากมากขึ้นทำให้หลายคนปฏิเสธที่จะเดินทางมายังสหราชอาณาจักร โดยเพียงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 พนักงานขับรถบรรทุกจากสหภาพยุโรปมากถึง 1.4 หมื่นคนลาออกจากงาน เพราะไม่อยากเดินทางเข้ามายังสหราชอาณาจักร และในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 มีพนักงานขับรถเพียง 600 คนเท่านั้นที่กลับเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ สมาคมขนส่งสินค้าสหราชอาณาจักรยังออกมาประกาศว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกมากถึง 1 แสนคนด้วยกัน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เชนร้านอาหารบางแห่ง เช่น เคเอฟซีและแมคโดนัลด์ไม่สามารถเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มบางเมนูให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากเกิดปัญหาด้านซัพพลายเชน บางแห่งถึงขั้นต้องปิดสาขาไปก็มีเพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ



 

แบรนด์ดังแข่งขันขึ้นค่าแรง

 
 
          จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง การให้ค่าแรงที่สูงขึ้นจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่หลายแบรนด์ต่างนำมาใช้จูงใจรักษาพนักงานเอาไว้ได้ ซึ่งเมื่อไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์เชนกาแฟดังระดับโลกในสหรัฐอเมริกามีการประกาศขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน โดยระบุว่าในปลายมกราคมปีหน้าสตาร์บัคส์จะจ่ายค่าแรงให้กับบาริสต้าที่ทำงานมาแล้ว 2 ปี โดยขึ้นเงินเดือนให้สูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน
 
 
           และในฤดูร้อนของปีหน้าจะขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงให้อีกเป็น 15 - 23 เหรียญต่อชั่วโมง จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 14 เหรียญต่อชั่วโมง โดยจากการประกาศดังกล่าวมีผลทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับพนักงานรายชั่วโมงทั้งหมดในสหรัฐฯ อยู่ที่ 17 เหรียญต่อชั่วโมง สตาร์บัคส์ยังกล่าวอีกว่าได้ใช้งบประมาณไปมากกว่า 1,000  พันล้านดอลลาร์หรือราว 33,000 ล้านบาทในการจูงใจให้พนักงานอยู่ทำงานกับองค์กรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
 
 
             ขณะที่ Costco ห้างค้าส่งของสหรัฐฯ เอง ซึ่งเป็นที่ร่ำลือว่าเป็นบริษัทที่พนักงานทำงานแล้วมีความสุขที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีอายุเฉลี่ยของการทำงานอยู่ที่ 9 ปี ก็กำลังเพิ่มค่าจ้างเริ่มต้นให้แก่พนักงานเป็น 17 เหรียญต่อชั่วโมง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งประกาศปรับค่าแรงเป็น  16 เหรียญเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
               
 
          อีกหนึ่งแบรนด์ดังที่ยอมทุ่มค่าแรงเพื่อจูงใจพนักงาน ก็คือ แมคโดนัลด์ “Chris Kempczinski” ซีอีโอเปิดเผยถึงผลกระทบว่าทำให้การบริหารช้าลง และร้านบางแห่งก็ปิดก่อนเวลา เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานปกติได้เหมือนช่วงสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3 กลับพุ่งสูงขึ้น โดยกล่าวว่านอกจากการประกาศขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานแล้วแมคโดนัลด์ในรัฐอิลลินอยส์ยังได้เสนอ iPhones สำหรับผู้ที่ได้รับการว่าจ้างเข้ามาทำงานใหม่ ส่วนสาขาในฟลอริด้าประกาศให้เงิน 50 ดอลลาร์ให้แก่ทุกคนที่เดินทางสัมภาษณ์งานด้วย โดยปัญหาการขาดแคลนแรงงานมิได้เกิดขึ้นแค่กับแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับห่วงโซอุปทานของธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ,น้ำมันสำหรับทอด, ห่อกระดาษแพ็กเกจจิ้ง เป็นต้น จึงทำให้ต้นทุนวัตถุดิบขยับมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเหตุให้แมคโดนัลด์ต้องขยับประกาศขึ้นราคาสินค้าอีก 6 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน



 

แรงงานผู้สูงอายุที่พึ่งแรงงานทดแทน

 
 
           ขณะที่หลายแบรนด์ดังต่างทุ่มขึ้นราคาค่าแรงเพื่อหวังดึงพนักงานให้กลับมาทำงานด้วย ญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นประเทศอยู่ในซีกโลกโซนเอเชียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่าอัตราว่างงานในญี่ปุ่นจะต่ำกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของโลกโดยอยู่ที่เพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงาน 8.3 เปอร์เซ็นต์, จีน 5 เปอร์เซ็นต์, สหราชอาณาจักร 4.3 เปอร์เซ็นต์, และเยอรมนี 4.3 เปอร์เซ็นต์
 
 
            แต่ก็ไม่ใช่ว่าเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เกิดขึ้นเพราะการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักต่างหาก จนทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะไม่ปลดคนออก แถมบางแห่งกลับจ้างพนักงานผู้สูงอายุให้กลับมาช่วยทำงานด้วย เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกนั่นเอง โดยมีสัดส่วนสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ อิตาลี และโปรตุเกส ขณะที่อัตราการเกิดกลับลดลง จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ดำเนินมาก่อนหน้าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 หลายปีแล้ว เช่นในปี 2557 เครือร้านอาหารชื่อดังอย่าง Zensho Holdings ต้องปิดสาขาลงกว่า 200 แห่ง เพราะหาพนักงานมาทำงานไม่ได้
 
 
           มีการคาดการณ์ว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 ญี่ปุ่นจะต้องการแรงงาน 62.3 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีอยู่เพียงแค่ราว 60.8 ล้านคนเท่านั้น โดยสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำเพื่อแก้ไขปัญหามีอยู่หลายข้อด้วยกัน ตั้งแต่การส่งเสริมแรงงานผู้หญิงญี่ปุ่นให้มากขึ้น, การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทน, การลดหย่อนเงื่อนไขและข้อกำหนดให้แรงงานต่างชาติในการเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น
 

           และที่เด็ดสุด ก็คือ การผ่อนคลายให้ผู้สูงอายุสามารถกลับเข้ามาทำงานในระบบได้ โดยยืดอายุการเกษียณออกไป ว่ากันว่าบางบริษัทถึงขั้นจ้างคนสูงอายุกว่า 80 ปีให้เข้ามาทำงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ Nojima ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่นที่ขยายเวลาเกษียณอายุของพนักงานออกไปจาก 65 ปีเป็น 80 ปี และรับคนวัยเกิน 80 ปีให้สามารถกลับมาทำงานได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และนี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงมีอัตราการว่างงานที่น้อยทั้งที่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน เพราะมีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า รวมถึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงานก่อนประเทศอื่นๆ นั่นเอง



 
 
               สำหรับในไทยเราปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่มีเกิดขึ้นให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามคงต้องเตรียมตัวรับมือไว้ เพราะถึงจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงแต่จากการที่ประเทศคู่ค้าซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทยเกิดปัญหาขึ้น  ผู้ประกอบการเองไม่ว่าส่งออกหรือนำเข้า ไปจนถึงผู้บริโภคก็ย่อมต้องได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบและสินค้าที่อาจพุ่งสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้า การชะลอตัวการเติบโตของธุรกิจ และอื่นๆ ที่อาจตามมาอีกมากมาย
 
 
         ที่มา : www.businessinsider.com
                   https://www.longtunman.com/33538
                   https://www.thairath.co.th/news/foreign/2207259
                   https://www.thairath.co.th/business/market/2161937
                   https://blockclubchicago.org
 


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​