ต่อยอดธุรกิจยังไงให้ดังระดับโลก ฟังแนวคิดผู้บริหาร C2 Water น้ำดื่มไร้ฉลากรายแรกของไทย

TEXT: Neung Cch.





          เมื่อได้รับโอกาสมาบริหารธุรกิจผลิตน้ำดื่มของครอบครัวที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี อาจโชคดีที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ในความโชคดีก็มีความโชคร้ายเมื่อคู่แข่งในตลาดเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าถึงเกือบ 40% เพื่อมาช่วงชิงตลาดน้ำดื่มที่มูลค่าตลาดก็ไม่มากไม่มายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ไหนจะสงครามราคา ไหนจะต้องช่วงชิงลูกค้า


            ไม่ใช่แค่การรักษาธุรกิจให้รอดแต่ต้องเรียกว่าสร้างความท้าทายให้ ธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ (ส้มโอ) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เอส.เอ.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ไม่ได้วาดฝันต้องมาเป็นนักธุรกิจ แต่ก็สู้ไม่ถอยพร้อมตั้งเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่และชัดขึ้นคือ ต้องการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และวันนี้เขาคือเจ้าของแบรนด์ C2 ผู้ผลิตขวดน้ำดื่มไร้ฉลากรายแรกของไทยที่ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว





นับหนึ่งในวัย 19

           

          เพราะได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวของแฟนให้เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจน้ำดื่ม สิ่งที่สาวที่ ธัญรัศม์ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมนอกจากการเรียนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยแล้วก็คือ การทำธุรกิจน้ำดื่มทุกอย่างตั้งแต่การสั่งของ ติดต่อลูกค้า ทำบิล ไปจนถึงส่งของ


         “ต้องยอมรับว่าเราเข้ามาทำงานตอนอายุยังน้อย บางครั้งความที่เราเป็นเด็กเสียงเราก็จะเล็ก จะพูดอะไรก็ค่อนข้างยาก แต่เมื่อเราลงมือทำงานด้วยตัวเองทุกขั้นตอนแล้วสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเราทำได้จริงๆ ก็เป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรรวมทั้งได้รับความไว้วางใจลูกค้า มันก็ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น”


          นั่นคือปัญหาด่านแรกๆ ในการเริ่มต้นทำธุรกิจของเธอ แน่นอนว่าเส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และต้องแลกมาด้วยความเครียดหลายครั้งบีบคั้นให้น้ำในตาไหลออกมาไม่รู้ตัว
               

          “มันก็มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นและทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโต เช่น ช่วงแรกๆ ที่รับงาน คำนวณดูว่าเครื่องจักรสามารถผลิตตามออเดอร์ได้ แต่ในความเป็นจริงมันยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ตอนนั้นเรานึกไม่ถึง ทำให้เกือบทำงานส่งไม่ทัน ช่วงนั้นเครียดพอสมควร ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปต้องเพิ่มกะทำงาน ผลิตเสร็จปุ๊บก็มีรถมารอรับถึงหน้าโรงงาน เป็นประสบการณ์เวลาทำงานต้องวางแผนให้ชัดเจนรอบคอบมากขึ้น”



                 


หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน

               

            เมื่อสั่งสมประสบการณ์ถึงจุดหนึ่ง นอกจากจะทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเติบโตกว่าเก่าจากที่มีโรงงานผลิตอยู่ในกรุงเทพฯ ขยายโรงงานไปยังอยุธยา ขอนแก่น นครศรีธรรมราช แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ธัญรัศม์ รู้สึกภูมิใจในการทำธุรกิจคือ สามารถพาธุรกิจครอบครัวเจาะตลาดเซเว่นได้ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายในการทำธุรกิจของเธอ 


          “พอเรามีลูกสองคน ยิ่งต้องสร้างธุรกิจที่มั่นคงให้ลูกต่อไป เหมือนที่ป๊า ม๊าทำมาให้เรา เราอาจโชคดีกว่าที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ มาถึงก็มีโรงงาน มีลูกน้อง มีทุกอย่าง เราต้องทำให้ธุรกิจไปต่อให้ได้ อยากมีแบรนด์น้ำดื่มของตัวเองที่ประสบความสำเร็จบ้างก็เลยเป็นที่มาแบรนด์ C2”


          แต่แบรนด์น้ำดื่มในท้องตลาดที่มีอยู่มากมาย การสร้างแบรนด์น้ำดื่มจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เธอจึงมองหาช่องว่างในตลาด มาลงตัวที่น้ำดื่มเพื่อสิ่งแวดล้อม คือการผลิตขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก ที่เป็นเทรนด์และเป็นความชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยที่ได้ทำเพื่อโลก”





ไม่ใช่แค่ไร้ฉลากแต่ต้องรีไซเคิลได้ 100%



          เมื่อได้คอนเซปต์ของการทำน้ำดื่มที่ไร้ฉลากแล้ว เธอยังเพิ่มโจทย์ไปด้วยว่าต้องสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% เพื่อให้เป็นน้ำดื่มที่รักษ์โลกอย่างแท้จริง ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าทดลองต่างๆ ราวสองปี ในที่สุดไม่เพียงได้ขวดน้ำที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% แต่ในแง่ดีไซน์ก็ยังสวยจนสามารถไปคว้ารางวัลระดับประเทศอย่าง DEmark Award 2021 ยังคว้ารางวัลระดับโลกอย่าง Dieline Award 2021 ไปครองได้อีกด้วย


        “ตอนนี้ในท้องตลาดมีน้ำดื่มหลากหลาย การเป็นน้ำดื่มที่ช่วยโลกได้ เป็นช่องทางที่เราจะไปแทรกแบรนด์ใหญ่ๆ ในตลาด โชคดีที่ได้บริษัท prompt ของคุณแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ถูกใจคนมากๆ เราเพิ่งทำได้สองปี เรียกว่าอยู่ในช่วงพัฒนาสินค้าและมาร์เก็ตติ้งไปควบคู่กัน ฟีดแบคดีพอสมควร”


           ในแง่ต้นทุนผู้บริหารสาวยอมรับว่าการผลิตสินค้ารักษ์โลกจะมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่เธอไม่ได้ขายสินค้าแพงกว่าท้องตลาด เพราะไม่อยากผลักภาระให้กับผู้บริโภค และอีกสส่วนหนึ่งคือการเป็นผู้ผลิตเอง ทำให้ต้นทุนไม่สูงเกินไป 


          ส่วนที่มาของชื่อ C2 Water เป็นคำพ้องเสียงมาจากคำว่า “See Through” ที่แปลว่า มองทะลุ เนื่องจากเราต้องการออกแบบเป็นน้ำขวดดื่มไม่มีฉลาก กับความหมายอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ C = “Circular Economy” เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วน 2 (ทรู) เราต้องการล้อเสียงกับคำว่า Together ความหมายโดยรวม คือ การออกแบบอย่างยั่งยืนที่ต้องคิดควบคู่กันไป





เหนื่อยเร็วได้พักผ่อนเร็ว

           

        กว่าทศวรรษที่อยู่ในธุรกิจน้ำดื่มเรียกได้ว่า ธัญรัศม์ ทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับงาน อาจกล่าวได้ว่าชีวิตช่วงวัยรุ่นของเธอหายไปแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ประสบการณ์การทำงานที่เร็วกว่าอีกหลายๆ คน


          “เราทำงานตั้งแต่เรียน พอเรียนจบก็ทำงานเลยไม่ได้ไปเที่ยว เหมือนเป็นช่วงกอบโกยความรู้ ความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย ในอนาคตอายุเยอะก็สบายเร็วกว่าคนอื่น” 


          นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ความคิดที่อยากจะทำงานวงการบันเทิงในวัยเด็ก ธัญรัศม์ เปลี่ยนไปและหันมาเอาจริงเอาจังทุ่มเทกับงานธุรกิจน้ำดื่มมากขึ้น เหมือนกับที่เธอย้ำเสมอว่า “ต้องเป็นอาชีพเราต่อไป จะต้องไปให้ไกลกว่าเดิม”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​