เกาหลีเจ๋ง ทำฟาร์มแซลมอนสำเร็จเจ้าแรกในเอเชีย ผลิตได้ปีละ 20,000 ตัน เตรียมรุกตลาดโลก

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 
 

       ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อน มีข่าวที่สร้างความฮือฮาในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารทะเลเมื่อกระทรวงมหาสมุทรและประมงเกาหลีได้รายงานความสำเร็จของบริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดองแฮ เอสทีเอฟที่สามารถทำฟาร์มปลาแซลมอนเป็นประเทศแรกในเอเชีย เบื้องต้นได้เพาะเลี้ยงแซลมอนราว 10,000 ตัวบริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกของประเทศ โดยดองแฮ เอสทีเอฟได้นำเข้าไข่ปลาแซลมอนจากแคนาดาแล้วทำการฟักจนได้ลูกปลาและเลี้ยงนาน 10 เดือนให้มีน้ำหนัก 200-400 กรัมก่อนย้ายไปเลี้ยงในกระชังในทะเล เพื่อควบคุมอุณหภูมิน้ำให้อยู่ระหว่าง 15-18 องศาเซลเซียส กระชังที่เลี้ยงแซลมอนจะสามารถหย่อนลงในระดับความลึก 25 เมตร
               

      ที่ผ่านมา ประเทศเอเชียไม่สามารถเพาะเลี้ยงแซลมอนในฟาร์มได้เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะสูงเกินในช่วงฤดูร้อน แม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งทำฟาร์มแซลมอนมาหลายปี แต่ก็ยังเพาะเลี้ยงแซลมอนให้มีอายุได้เพียง 6-7 เดือน ทำให้มีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละประมาณ 2 กิโลกรัมเท่านั้น เทียบกับแซลมอนที่เพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ จะมีอายุ 14-24 เดือนและน้ำหนัก 4-5 กิโลกรัม ซึ่งความสำเร็จของเกาหลีในการทำฟาร์มแซลมอนแบบปิดครั้งนี้จะทำให้ลดการนำเข้าแซลมอนจากต่างประเทศ และแซลมอนที่เพาะเลี้ยงในประเทศยังมีราคาถูกกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย



               

         การนำร่องของของบริษัทดองแฮนำไปสู่ฟาร์มเลี้ยงแซลมอนจากหลายบริษัทตามมาหลังรัฐบาลประกาศนโยบายในปี 2017 อนุญาตให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สามารถทำฟาร์มปลาแซลมอน ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน และปลาอื่น ๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการทำฟาร์ม บริษัทที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับใบอนุญาตจะต้องมีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านวอน หรือมีรายได้ปีละมากกว่า 100,000 ล้านวอน
               

         เมื่อปีที่แล้ว ดองวอน อินดัสตรี้ส์ เครือบริษัทการประมงที่ใหญ่สุดของเกาหลีใต้ได้เริ่มจับธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเช่นกัน โดยประกาศทำฟาร์มแซลมอนที่ใช้เทคโนโลยี Flow Through System-Reuse ของบริษัทแซลมอน อีโวลูชั่นจากนอร์เวย์ ฟาร์มดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดกังวอน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลี ติดกับทะเลญี่ปุ่น และเป็นสมาร์ทฟาร์มที่จะสามารถผลิตแซลมอนได้สูงสุด 20,000 ตันต่อปี  
               

         ความเคลื่อนไหวล่าสุดในปีนี้คือรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศทุ่มงบ 178,100 ล้านวอน หรือราว 5,000 กว่าล้านบาทเพื่อสนับสนุนเครือบริษัทขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีในประเทศในการทำฟาร์มแซลมอนโดยเน้นลงทุนด้านเทคโนโลยีและเทคนิคต่าง ๆ ทั้งนี้ กระทรวงมหาสมุทรและประมงจะเตรียมก่อสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3 แห่ง พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการป้องกันโรคในปลาเพื่อวิจัยเกี่ยวกับโรคและสายพันธุ์ของแซลมอน



               

           ข้อมูลระบุว่าตลาดแซลมอนโลกมีมูลค่า 60 ล้านล้านวอนหรือราว 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณจะอยู่ที่ปีละ 4.8 ล้านตัน ร้อยละ 80 ของแซลมอนที่บริโภคเป็นแซลมอนเลี้ยงซึ่งส่วนใหญ่มาจากนอร์เวย์ และชิลี เกาหลีใต้นำเข้าแซลมอนแอตแลนติกจากต่างประเทศปีละกว่า 40,000 ตัน แต่การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน คาดว่าราวปี 2027 เกาหลีใต้จะสามารถผลิตแซลมอลได้ประมาณ 40,000 ตัน นอกจากตอบสนองความต้องการตลาดในประเทศซึ่งมีมูลค่า 420,000 ล้านวอน (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) นอกจากนั้น รัฐบาลยังเตรียมส่งออกแซลมอนที่เพาะเลี้ยงในประเทศไปยังประเทศเอเชียอื่น อาทิ จีน และญี่ปุ่นในปี 2029 อีกด้วย  
                 

          ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำฟาร์มปลาเนื่องจากการบริโภคอาหารทะเลที่สูงขึ้น แต่วัตถุดิบไม่พอเพียงเพราะการจับสัตว์น้ำทะเลแบบไม่บันยะบันบันยัง และสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำทะเลลดลง หรือแทบสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลต่าง ๆ รวมถึงปลาไหลทะเลที่มีราคาสูง และปลาอลาสก้าพอลล็อคที่นิยมบริโภคในฤดูหนาว
               

          นอกจากนั้น เกาหลีใต้ยังโดดเด่นในการทำฟาร์มกุ้งด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอีกด้วย ไม่เพียงทำฟาร์มกุ้งในประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อหลายปีก่อน เกาหลีใต้ยังให้ความช่วยเหลือรัฐบาลแอลจีเรีย เผยแพร่เทคโนโลยีทำให้สามารถสร้างฟาร์มเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มฟาร์มแรกของโลกที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายซาฮาร่าเป็นผลสำเร็จ
 
 
            ที่มา : www.koreatimes.co.krwww.ajudaily.comseawestnews.com
 


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​