มารู้จักครกหิน สินค้าล่าสุดที่พิมรี่พายไลฟ์สด ขายหมดเกลี้ยง! 2 หมื่นใบ ในเวลา 1 นาที

TEXT : Nitta Su.
 



 
              มีเรื่องออกมาให้เซอร์ไพรส์กันอยู่เรื่อยๆ สำหรับเจ้าแม่ออนไลน์ขายทุกอย่าง “พิมรี่พาย” ที่ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งไลฟ์สดขายครกหิน 20,000 ใบ หมดภายใน 1 นาที ทุบสถิติขายครกหินจำนวนเยอะและเร็วที่สุดในไทยหรือในโลกไปครองเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้ คือ ครกหินจำนวนมากที่เธอสั่งมานั้น กลับไม่ได้มาจากตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี แหล่งผลิตครกหินขึ้นชื่ออย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับมาจากจังหวัดตาก จริงๆ แล้วตอนนี้ครกหินผลิตอยู่ที่ไหนกันแน่ แล้วครกหินแท้ๆ ของอ่างศิลายังมีอยู่ไหม แตกต่างจากครกหินที่อื่นยังไง วันนี้ลองไปสำรวจเรื่องครกๆ ไปพร้อมกัน

 



กำเนิดครกหิน

 

  • ไทยเริ่มผลิตครกหินใช้ครั้งแรกเมื่อไหร่?

     ครกหินเริ่มผลิตขึ้นมาในไทยในช่วงสงรามโลกครั้งที่สอง จากชาวจีนชื่อ “เจ๊กฮั้ว แซ่ตั้ง” ได้เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ที่พื้นที่ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีหินแกรนิตอยู่จำนวนมาก โดยมีหินก้อนใหญ่ลักษณะคล้ายรูปอ่างอยู่ภายในหมู่บ้าน ในช่วงแรกนั้นนายเจ๊กฮั้วได้ทดลองสกัดหินออกมาทำเครื่องโม่แป้งเพื่อทำขนมก่อน ต่อมาภายหลังมีเศษหินเหลืออยู่จึงนำมาทดลองผลิตเป็นครกหิน เพื่อใช้ประกอบอาหารและตำเครื่องยาต่างๆ ต่อมาภายหลังจึงเริ่มมีการนำมาสกัดใช้กันในครัวเรือนมากขึ้น รวมถึงเริ่มหันมาประกอบอาชีพแกะสลักหินเป็นของใช้อื่นๆ และของตกแต่งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำประมงด้วย 





ของดีอ่างศิลา ครัวไหนก็ต้องมี

 

  • ในยุคแรกหลังเริ่มผลิตออกมาขายนั้นจะไม่ได้มีการซื้อขายครกกันในพื้นที่ แต่จะส่งไปขายในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัดต่างๆ จึงทำให้ชื่อเสียงครกหินของอ่างศิลาเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

 

  • ต่อมาเมื่อมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จึงหันมาผลิตเป็นอาชีพหลักอยู่ในพื้นที่ มีการสกัดหินออกมาใช้ปริมาณมาก จึงทำให้ปัจจุบันมีเหลืออยู่ในปริมาณน้อย ต้องนำเข้าหินแกรนิตจากจังหวัดอื่นๆ มาใช้ทดแทน รวมไปถึงครกหินสำเร็จรูปด้วย จึงทำให้ครกหินแท้ๆ ที่ใช้หินในพื้นที่และผลิตจากช่างฝีมือในอ่างศิลาจริงๆ มีเหลืออยู่น้อยเต็มที





  • โดยจุดเด่นของครกหินอ่างศิลา คือ มีความแข็งแกร่งมาก ตำแล้วไม่เป็นทราย ลักษณะของหินแกรนิตที่นี่ คือ จะมีสีขาวนวลและออกสีเหลืองมันปูกว่าครกหินจากแหล่งผลิตอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีเทาและดำ ทำให้ไม่ว่าบ้านหรือครัวไหนๆ ก็ต้องการ แม้แต่แบรนด์น้ำพริกเผาชื่อดังอย่างแม่ประนอม ก็ยังซื้อครกหินจากที่นี่ไปใช้

 

  • การผลิตครกหินแต่เดิมนั้นจะใช้สิ่ว ลิ่ม ค้อนปอนด์ และเครื่องเจียในการทำ ปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยตัดออกมาให้เป็นรูปร่าง เพื่อได้ความรวดเร็วขึ้น แต่ว่ากันว่าครกที่ผ่านการตีด้วยมือจะมีความทนทานสูงกว่าครกที่ผ่านการเจียด้วยเครื่อง เพราะเครื่องใช้แรงดันน้ำและความร้อนในการเซาะหินจะทำให้เกิดการเปราะแตกง่ายกว่า โดยครกหินที่กะเทาะหรือตีด้วยมือตัวหินจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือน จึงมีความแข็งแกร่งเหนียวกว่าครกที่ทำด้วยเครื่อง

 



ครกหินแพงที่สุดในโลก

 

  • เนื่องจากปัจจุบันครกหินที่เป็นของอ่างศิลาแท้ๆ มีเหลืออยู่น้อยเต็มที ช่างฝีมือที่ผลิตด้วยการตีจากมือจริงๆ ก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว จึงทำให้ถึงแม้จะมีขายอยู่ แต่ก็มีราคาสูงลิ่วและกลายเป็นของสะสมหายาก ตกใบหนึ่งหลายพันบาท ไปจนถึงหลักหมื่น หรือหลักแสนบาทเลยก็มี ซึ่งหากเทียบกับในท้องตลาดราคาเพียงใบละไม่กี่ร้อยบาทเอง ด้วยเหตุนี้ครกหินอ่างศิลาจึงเป็นครกเพียงชนิดเดียวที่สถานธนานุบาล เทศบาลตำบลอ่างศิลา รับจำนำ

 

  • ว่ากันว่าการจะสังเกตว่าเป็นครกหินของอ่างศิลาแท้ไหม นอกจากสังเกตสีและลักษณะของหินแล้วให้ลองยกขึ้นส่องกับแสงแดดหากเห็นเกร็ดเพชรอยู่จำนวนมากแสดงว่าแท้

 

  • เพื่อเป็นการอนุรักษ์ จึงมีการยื่นเรื่องทำหนังสือขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) แล้ว

 

  • ปัจจุบันนอกจากในพื้นที่ตำบลอ่างศิลาแล้ว หลายพื้นที่ในไทยก็มีการผลิตครกหินเป็นอุตสาหกรรมระดับครัวเรือนด้วย อย่างที่พิมรี่พายนำขายเป็นหลายหมื่นใบนั้น ก็สั่งผลิตมาจากจังหวัดตาก ที่มีชื่อ คือ อำเภอแม่สอด และตำบลแม่สลิด นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตที่ตำบลปากข้าวสาร จังหวัดสระบุรี ซึ่งตามประวัติแล้วเล่าว่าเริ่มทำขึ้นมาพร้อมๆ กับอ่างศิลาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเหมือนกัน โดยทหารได้มีการทดลองใช้ปืนใหญ่ระเบิดภูเขาหิน ทำให้มีหินแกรนิตจำนวนมากหล่นกระจายอยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านจึงไปเก็บและนำมาทดลองผลิตเป็นครกหินกัน

 

 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​