รู้จัก แรมลี จากลูกจ้างสู่เจ้าของร้านเบอร์เกอร์ใหญ่สุดในมาเลเซีย

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     ที่มาเลเซีย อาหารชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมีขายแทบทุกตรอกซอกซอยจนเรียกได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติอย่างไม่เป็นทางการ อาหารที่ว่าคือ “เบอร์เกอร์” และผลิตภัณฑ์เบอร์เกอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็เห็นจะเป็น “แรมลีเบอร์เกอร์” (Ramly Burger) ซึ่งเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่กำเนิดขึ้นในปี 1982 อันเป็นปีเดียวกับที่แมคโดนัลด์มาเปิดสาขาแรกในมาเลเซีย ร่วม 40 ปีผ่านไป แรมลีเบอร์เกอร์กลายเป็นอาณาจักรผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ผลิตไส้เบอร์เกอร์มากถึงวันละ 1 ล้านชิ้น ทำรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านริงกิต และสร้างอาชีพให้ผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่า 30,000 ราย

     ความสำเร็จขั้นสูงสุดของแรมลีเบอร์เกอร์เกิดจากชายชาวมาเลเซียวัย 64 ปีผู้มีนามว่า แรมลี บิน ม็อกนี เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทแรมลี กรุ๊ป ชายผู้หลีกเลี่ยงการทำตัวเป็นจุดเด่นในสังคมจน “แรมลี” กลายเป็นแบรนด์ที่ผู้คนรู้จักมากกว่าเจ้าตัวซึ่งเป็นคนสร้างแบรนด์เสียอีก และความโด่งดังของแบรนด์นั้น ว่ากันว่าไม่ว่าหนุ่มสาวหรือแก่ ถ้าเป็นชาวมาเลเซีย อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเคยลิ้มลองรสชาติแรมลีเบอร์เกอร์ มาดูเส้นทางการสร้างอาณาจักรแรมลีว่าเริ่มต้นอย่างไร    

     แรมลี บิน ม็อกนีเกิดในครอบครัวชาวนาที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐเปรัก เขาเป็นลูกคนที่ 8 ในจำนวน 16 คน ในวัยเด็กเขาฝันอยากมีอาชีพเป็นหมอ แต่ความขัดสนทำให้บิดามารดาไม่สามารถส่งเสียให้เล่าเรียนได้ แรมลีจึงติดตามพี่ชายไปทำงานที่รัฐสลังงอร์โดยทำงานรับจ้างทั่วไป ก่อนจับพลัดจับผลูได้งานที่ร้านขายเนื้อในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์

     กระทั่งปี 1978 เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้แรมลีมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ นั่นคือมีการพบว่าตราฮาลาลที่ติดบนฉลากไส้เบอร์เกอร์ซึ่งจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตราที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้ผู้บริโภคที่เป็นชาวมุสลิมเกิดความไม่เชื่อใจ ก่อนซื้อสินค้า ลูกค้าจึงมักถามว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่ชำแระโดยมุสลิมหรือไม่   

     เมื่อเป็นเช่นนั้น แรมลีจึงตัดสินใจทำไส้เบอร์เกอร์ขายโดยพยายามขอสินเชื่อจากธนาคาร แต่ไม่มีธนาคารไหนอนุมัติเลย เขาจึงใช้เงินเก็บที่มีเพียง 2,000 ริงกิต (ราว 16,000 บาท) ลงทุน ไม่มีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ซับซ้อนใด ๆ เขาและภรรยาได้ทำไส้เบอร์เกอร์เนื้อจากครัวในอพาร์ทเมนต์ แล้วเปิดแผงลอยจำหน่ายทั้งไส้เบอร์เกอร์พร้อมปรุง และแบบดิบ ช่วงแรกขายได้น้อยเพราะในชุมชนที่เป็นทำเลแผงลอยยังไม่คุ้นเคยกับเบอร์เกอร์สักเท่าไร แต่แรมลีและภรรยาก็อดทนขายมาเรื่อย แต่ไส้เบอร์เกอร์ที่เขาบรรจงคิดค้นสูตรและปรับรสชาติให้ตรงตามความชอบของผู้บริโภคก็เริ่มได้รับความนิยม จากที่ขายได้ 200 ชิ้นก็ขยับเป็น 2,000-3,000 ชิ้นต่อวัน   

     เมื่อคะเนแล้วว่าธุรกิจน่าจะสดใจ แรมลีก็ตัดสินใจเปิดบริษัทในปี 1980 และภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี ด้วยเงินกู้จากธนาคาร เขาก็สามารถสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตไส้เบอร์เกอร์วันละ 10,000 ชิ้น ในเวลาต่อมา บริษัทเล็ก ๆ ได้ขยายไปยังบริษัทในเครืออีกมากมาย จากผลิตภัณฑ์ไส้เบอร์เกอร์ก็ขยายไปยังเนื้อบด ไส้กรอกแฟรงค์เฟิร์ต นักเก็ต ลูกชิ้น ไก่ทอด ขนมปังก้อนกลม ซ้อสพริก และมายองเนส ความนิยมในผลิตภัณฑ์แรมลียังเพิ่มขึ้นเรื่ย ๆ

     ปี 2015 แรมลีได้ทุ่มทุน 1,000 ล้านริงกิตหรือประมาณ 8,000 ล้านบาทสร้างโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลฮับที่รัฐสลังงอร์ บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ โงรงงานแห่งนี้ผลิตไส้เบอร์เกอร์ได้มากถึง 1 ล้านชิ้นต่อวันโดยร้อยละ 70 จำหน่ายในประเทศ ที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ

     สินค้าในเครือแรมลีไม่เพียงจำหน่ายในมาเลเซีย แต่ยังส่งออกไปหลายประเทศอื่น รวมถึง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ไทย เมียนมา กัมพูชา และบังคลาเทศ โดยมีแผนขยายตลาดไปยังเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศในตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกอีกด้วย ปัจจุบัน แรมลีมีโรงงานทั้งหมด 7 แห่ง ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท 16 แห่ง และซุ้มจำหน่ายเบอร์เกอร์ 12 แห่งที่ในอนาคตมีการตั้งเป้าจะขยายเป็น 450 สาขา

     ในด้านผลประกอบการของแรมลี กรุ๊ป เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ล้านริงกิตต่อปี แต่ผู้บริหารตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้เท่าตัวเป็น 2,000 ล้านริงกิต และเพิ่มกำลังการผลิตไส้เบอร์เกอร์จาก 1 ล้านชิ้นเป็น 6 ล้านชิ้นต่อวัน ธุรกิจในเครือแรมลีถือได้ว่าสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการขนาดจิ๋วซึ่งโดบยมากเป็นแผงลอยหรือรถเข็นขายเบอร์เกอร์เกือบ 30,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งผู้บริหารแรมลีวางแผนจะสร้างเครือข่ายร้านค้าให้ถึง 100,000 ราย  

ข้อมูล

www.ryzplayer.com/2021/07/the-story-of-ramly-burger-company.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Ramly_Group

https://vulcanpost.com/722927/ramly-burger-malaysia-founder-history/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​