รู้จักมันญี่ปุ่น ทำไมถึงฮิตจัง ทำยอดขายพุ่งจริงในบ้านเรา

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

     หน้าหนาวอย่างนี้ได้กินอะไรร้อนๆ อย่างมันเผาสักลูกก็น่าจะดี ซึ่งหากพูดถึงมันเผาที่อร่อยแล้วละก็ต้องนึกถึงมันเผาญี่ปุ่นแน่นอน เพราะมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อเนียนนุ่มละมุนลิ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคชาวไทยชื่นชอบมากทีเดียว เรียกว่าหากพูดถึงมันเผา ก็ต้องนึกถึงมันเทศญี่ปุ่นหรือมันหวานญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเห็นนิยมบริโภคกันมา 5 - 6 ปีก่อนเห็นจะได้

     โดยความนิยมในการบริโภคดังกล่าวนี้ ไม่ได้พูดกันขึ้นมาแค่ลอยๆ จากการสังเกตเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจริงที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็รับรู้ได้ โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เพจ “ภาษาญี่ปุ่นหัดเดิน” ได้มีการรายงานว่าสำนักข่าวญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอว่า มันหวานญี่ปุ่นทำไมนิยมในเมืองไทย แม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ไทยยังแนะนำ’ วันนี้ลองมาไล่เรียงย้อนรอยดูกันหน่อยสิว่า จริงๆ แล้วมันหวานญี่ปุ่นกลายเป็นกระแสฮิตขึ้นมาในไทยไปได้ยังไง ซึ่งหากจะว่าไปก็ไม่ถือเป็นการเสียสมดุลนะ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ชอบกินผักชีไทยมากเหมือนกัน!

เริ่มต้นจากคนไทยชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น

     หากจะหาสาเหตุว่าเพราะเหตุในมันญี่ปุ่นถึงเป็นกระแสฮิตขึ้นมาในบ้านเราได้ ถ้าจะให้ลองสันนิษฐานน่าจะมาจากในยุคหนึ่งที่คนไทยเองมีการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศญี่ปุ่นกันมาก จึงมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยจากมันเผาญี่ปุ่นเข้าและรู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากมันเทศในบ้านเรา อีกทั้งร้านขายมันเผาในญี่ปุ่นเองก็มีให้พบเห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องปกติไม่ว่าในร้านอาหารหรือร้านรถเข็นริมทางที่เรียกว่า “Yaki Imo” หรือรถเข็นขายมันเผา จึงทำให้เกิดการบอกต่อว่าหากใครไปญี่ปุ่นแล้วอย่าลืมไปลองชิมมันเผาญี่ปุ่นให้ได้ จนนำมาสู่การนำเข้ามาขายในประเทศ และกระจายความนิยมไปยังร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงรถเข็นริมทาง

    โดยในปี 2559 จากกระแสความนิยมมันญี่ปุ่นเริ่มเข้ามา จึงทำให้เกิดแฟรนไชส์มันหวานญี่ปุ่นขึ้นครั้งแรกในไทย มีชื่อว่า .”OIMO” (โออิโมะ) เจ้าของผู้ผลิต คือ บริษัท บางกอก ฟู้ด ซิสเต็ม จำกัด โดยเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้จากประเทศญี่ปุ่นและส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงมันหวานญี่ปุ่นด้วย เมื่อเห็นกระแสความนิยมดังกล่าวเกิดขึ้น จึงได้ต่อยอดเปิดเป็นแฟรนไชส์ร้านขายมันญี่ปุ่นเผาและแปรรูปเป็นเมนูอื่นขึ้นครั้งแรกในไทย

โควิดยิ่งทำให้ยอดขายพุ่ง

     โดยจากการรายงานของเพจภาษาญี่ปุ่นหัดเดิน ที่ได้นำเสนอข่าวความนิยมบริโภคมันญี่ปุ่นในไทยพบว่านอกจากเป็นอาหารยอดฮิตของคนญี่ปุ่นเองแล้วในช่วงฤดูหนาว ยังเป็นสินค้าส่งออกขายดีในต่างประเทศด้วย โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่แคนาดาและไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยมีการนิยมบริโภคกันมาก

     ซึ่งเกษตรกรรายหนึ่งในญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ ทำให้ยอดขายมันของเขาขายดีขึ้นจากเดิมถึง 15 เท่า และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขายได้มากถึง 30 เท่า จากเนื้อหาในข่าวมีการรายงานเพิ่มว่าได้มีการเดินทางมาสำรวจตลาดในเมืองไทยจากนักข่าวญี่ปุ่นด้วย โดยพบว่ามีการจำหน่ายมากในห้างสรรพสินค้าและริมทางทั่วไป โดยจำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 13,000 เยน หรือราว 400 บาท และนอกจากนี้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ยังมีการจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์ไทยให้มาทำคลิปแนะนำการทำอาหารจากมันหวานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย

     สอดคล้องกับข้อมูลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ทางเจโทร กรุงเทพฯ ได้มีการร่วมมือกับคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดังในไทยจัดแคมเปญ Fruitful Japan ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์เสน่ห์ผลไม้ญี่ปุ่นเพื่อนำมาใช้ผสมผสานกับวัตถุดิบท้องถิ่นในไทย ก็ยิ่งเป็นการการันตีให้เห็นว่าความนิยมบริโภคมันญี่ปุ่นในไทยยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวไทยแบบแรงดีไม่มีตก

อัพมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรไทย

     จากความฮอตฮิตของมันหวานญี่ปุ่น ทำให้จากที่เคยนำเข้ามาจำนวนมาก ก็เริ่มมีการพัฒนาการเพาะปลูกขึ้นในเมืองไทย โดยมีเกษตรกรไทยในหลายจังหวัดเริ่มมีการนำมันหวานญี่ปุ่นมาปลูก โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขายได้ราคาดีกว่ามันเทศไทยหลายเท่า รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้หลายคนจากที่ปลูกเป็นอาชีพเสริมก็ลาออกจากงานเพื่อปลูกเป็นอาชีพจริงจังขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีการนิยมปลูกกันในหลายจังหวัด อาทิ เลย, มุกดาหาร, นครราชสีมา เป็นต้น

     โดยหากลองเปรียบเทียบราคามันเทศญี่ปุ่นกับมันเทศไทยพบว่าขายได้ราคาดีกว่า 2 - 3 เท่าทีเดียว โดยจากข้อมูลของตลาดไทย ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2546 พบว่าราคามันเทศไทยขายอยู่ที่ราคา 17 - 26 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนมันเทศญี่ปุ่นราคา 60 - 70 บาทต่อกิโลกรัม แต่จากการสืบคันข้อมูลเพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ตพบว่าหากเป็นมันเทศญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจะมีราคาสูงถึง 400 บาทต่อกิโลกรัมทีเดียว จึงสรุปได้ว่ามันญี่ปุ่นที่จำหน่ายในไทยนั้น ปัจจุบันมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ นำเข้าจากต่างประเทศ และจากเกษตรกรไทยที่นำมาขยายพันธุ์เพาะปลูกเอง และนอกจากขายเป็นผลผลิตแล้ว ยังมีการต่อยอดจำหน่ายเฉพาะยอดมันชนิดต่างๆ เพื่อให้นำไปเพาะปลูกขยายพันธุ์ต่อด้วย

ของขึ้นชื่อจากญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มีต้นเกิดจากญี่ปุ่น

     จากที่หลายคนเรียกว่ามันหวานญี่ปุ่น รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่มีให้เลือกหลายสายพันธุ์ทีเดียว แต่ก่อนจะไปแนะนำให้รู้จักกับสายพันธุ์ต่างๆ ที่โดดเด่น ขอเกริ่นประวัติให้ทราบก่อนว่าจริงๆ แล้วถึงแม้จะเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างชื่อเสียงให้รู้จักในหลายประเทศ แต่แท้จริงแล้วกลับมีต้นกำเนิดมาจากเม็กซิโกและอเมริกากลาง โดยผู้นำเข้ามา คือ เหล่าพ่อค้าต่างแดนที่เข้ามาทำการค้าขายกับคนญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 18 ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาจากการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทำให้เจ้าเมืองมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกมันหวานเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะนอกจากจะปลูกง่ายแม้ดินคุณภาพต่ำ ยังเป็นพืชผลเกษตรที่ให้พลังงานดีด้วย ทำให้นับจากนั้นมาคนญี่ปุ่นก็เริ่มหันมาบริโภคมันหวานกันมากขึ้น กระทั่งราวศตวรรษที่ 21 ได้มีการต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น จึงทำให้กลายเป็นที่ครองใจคนญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้

     โดยมันหวานญี่ปุ่นมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก มีทั้งมันม่วง มันส้ม และมันเหลือง โดยแต่ละสีก็มีการแยกสายพันธุ์ออกมาอีก ซึ่งนอกจากใช้สีเป็นตัวแบ่งแยกสายพันธุ์แล้ว ยังมีการแบ่งตามรสสัมผัสหลังจากนำไปเผาแล้วด้วย เช่น Hoku-Hoku (โฮคุ-โฮคุ) หมายถึง รสสัมผัสที่นุ่มฟู แต่ไม่ฉ่ำ เนื้อคล้ายกับไส้ขนมเปี๊ยะถั่วเหลือง, Shittori (ชิตโตะริ) - รสสัมผัสนุ่มแบบเนื้อครีม และNettori (เนตโตะริ) - รสสัมผัสแบบนุ่มเหนียวหนึบ

ตัวอย่างสายพันธุ์ยอดนิยม ได้แก่

Beni Haruka มีต้นกำเนิดจากจังหวัดคาโกะชิมาในเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยน่าจะเป็นพันธุ์ที่คนไทยนิยมและรู้จักดีที่สุดแล้ว ลักษณะเด่น คือ เปลือกหรือผิวจะมีสีแดงม่วง ส่วนเนื้อด้านในจะมีสีเหลืองออกขาว เนื้อจะเนียนนุ่ม

Anno Imo เป็นมันสีส้มที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย โดยให้รสสัมผัสนุ่มแบบเนื้อครีม มีให้ความหวานสูง โดยสีของเนื้อจะมีความคล้ายกับสีส้มแครอท

Silk sweet เป็นสายพันธุ์ใหม่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน โดยผิวเปลือกจะไม่เรียบ เป็นริ้วๆ หัวจะสั้น ทรงวงรี ส่วนเนื้อมันจะมีสีเหลืองอ่อน ให้ความหวานสูง เนื้อสัมผัสนุ่มราวกับไหม กินแล้วให้ความฉ่ำแทบละลายในปากได้เลย

Okinawa Beni-imo หรือม่วงโอกินาว่า เนื้อมันจะมีสีม่วงเข้ม รสหวานกำลังพอดี ถือเป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกในไทยค่อนข้างมาก

Okinawa-Kugani-Imo หรือส้มโอกินาว่า นับเป็นอีกมันญี่ปุ่นที่สามารถเพาะปลูกได้ง่ายที่สุดในบรรดามันญี่ปุ่นทั้งหมด และให้หัวเร็วเพียง 90 วัน ลักษณะเนื้อจะมีสีส้มเข้ม หวานปานกลาง นิยมนำไปทำเป็นมันนึ่ง หรือทำไส้ขนมต่างๆ เป็นอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากในเมืองไทยเช่นกัน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​