นักทัศนมาตร จุดขายใหม่ในธุรกิจวัดสายตาประกอบแว่น

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     สำหรับคนที่ใช้บริการร้านจำหน่ายแว่นมาตลอดและอย่างยาวนานคงจะพอเห็นวิวัฒนาการของการบริการจากแวดวงร้านแว่นตาที่มี “ช่างแว่นตา” เป็นผู้วัดสายตาและประกอบแว่นให้ ซึ่งช่างแว่นตาเหล่านี้อาจเป็นเฮียหรือซ้อเจ้าของร้าน หรือพนักงานในร้านก็ได้ แต่ช่วงหลัง เราเริ่มได้ยินคำว่า “นักทัศนมาตร” เข้ามาเกี่ยวข้อง และร้านจำหน่ายแว่นสายตาบางร้านเริ่มขึ้นป้าย “ตรวจวัดสายตาโดยนักทัศนมาตร”

      หลายคนอาจไม่เคยได้ยินคำนี้ นักทัศนมาตรคือใคร ล่าสุด ผู้เขียนได้ไปวัดสายตาเพื่อตัดเลนส์ใหม่ ให้บังเอิญได้เจอกับ “พงศธร สงเสนา” นักทัศนมาตรประจำร้าน Burgundy Dipper สาขาลาดพร้าวซอย 1 มาให้บริการ ความแตกต่างแรกที่ค้นพบเมื่อเทียบกับร้านทั่วไปคือในการวัดสายตาที่ใช้ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ และแบบให้อ่านจากแผ่นชาร์ทวัดการอ่านนั้นยาวนานนับชั่วโมง เรียกว่าละเอียดยิบเพื่อให้เกิดความแม่นยำที่สุด เทียบกับการวัดสายตาครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่ใช้เวลาน้อยกว่ามาก

     ระหว่างอยู่ในร้านก็ได้พูดคุยกับพงศธรเกี่ยวกับอาชีพนี้ เขาเล่าว่าสาขาทัศนมาตรศาสตร์ต้องเรียนนานถึง 6 ปี ในไทยมีสอนที่มหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดสอนเมื่อ 20 ปีก่อน ตามด้วยมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวเขาเองจบจากนเรศวร

     พงศกรกล่าวว่านักทัศนมาตร หรือ optometrist ไม่ใช่แค่คนวัดสายตาแล้วตัดแว่น ปัจจุบันมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยราคาแพง คนทั่วไปที่รับการฝึกอบรมก็สามารถใช้เครื่องวัดสายตาและให้บริการได้ แต่คุณสมบัติของนักทัศนมาตรมีมากกว่านั้น กล่าวคือสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้น วินิจฉัยปัญหาสุขภาพสายตา ถ้าเป็นปัญหาสายตาก็สามารถจัดการแก้ไข โดยการใช้เลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาสายตาได้เลย แต่ถ้าเป็นปัญหาโรคเกี่ยวกับดวงตาที่แก้ไขไม่ได้ด้วยแว่นสายตา ก็ส่งต่อให้จักษุแพทย์

     เรียกได้ว่านักทัศนมาตรจะทำงานร่วมกับจักษุแพทย์โดยเป็นด่านหน้าในเรื่องของ primary eyecare อย่างร้านที่ผู้เขียนไปใช้บริการจะมีเครื่องมือแพทย์ที่เรียกว่า slit lamp เป็นเครื่องตรวจสุขภาพตาสำหรับจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรใช้งานเท่านั้น นักทัศนมาตรสามารถคัดกรองอาการต่าง ๆ เช่น โรคต้อทั้งหลาย อาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือเบาหวานขึ้นตา แล้วแนะนำให้ลูกค้าพบจักษุแพทย์ และยังทำหน้าที่ฟืนฟูการมองเห็นหลังผ่านการรักษาจากแพทย์อีกด้วย

     ปัจจุบัน ในไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบแว่นสายตาตามมาตรฐานสากลที่กำหนดให้ต้องมีบุคลากรเฉพาะทางด้านสายตาเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตรเป็นผู้ควบคุมดูแล ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพระบุปัจจุบันจำนวนร้านแว่นตาในประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 5,000 ร้าน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขที่แท้จริงมีมากกว่า 7,000 ร้าน

     ขณะที่ร้านแว่นตาที่มีนักทัศนมาตรประจำคอยให้บริการน้อยกว่า 1 เปอร์เซนต์ จำนวนนักทัศนมาตรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะมีไม่ถึง 500 คน และจำนวนที่ผลิตได้ในแต่ละปีประมาณ 70-80 คนซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดเพราะโดยมากกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาล

    มีข้อมูลว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายที่กำหนดให้ร้านแว่นตาต้องมีนักทัศนมาตรประจำ ก็คงเหมือนช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่บังคับให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำร้าน จึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ยากว่าในอนาคตหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการมากที่สุดคืออาชีพนักทัศนมาตรนี่เอง

     สำหรับลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีพฤติกรรมใช้สายตาหน้าจอมือถือ หน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา หรือแม้กระทั่งคนรุ่นเก่าที่คุ้นชินกับร้านแว่นตาแบบดั้งเดิม การใช้บริการจากนักทัศนมาตรจึงถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ใช่แค่วัดสายตาและประกอบแว่นแต่ยังรวมไปถึงการได้รับการดูแล การแนะนำที่น่าเชื่อถือจากมืออาชีพด้านสุขภาพตาด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​