ส่องแนวคิด Let's plant meat ปั้นธุรกิจแพลนต์เบสยอดพุ่ง 300% สวนเศรษฐกิจภาวะของแพง

 

 

     ว่ากันว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เหมือนกับ “นิธิฟู้ดส์” ผู้ผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสชั้นนำที่ได้ทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิต “แพลนต์เบส”ภายใต้ชื่อ “Let’s plant meat” นับเป็นการจับเอาเทรนด์รักสุขภาพมาผสมผสานกับหน่วยธุรกิจเดิม ช่วงชิงความได้เปรียบทำให้ปีที่ผ่านบริษัทมียอดโตขึ้น 300%

      สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคโปรตีนทางเลือกโดยวัตถุดิบที่ทำจากพืช จนได้ลองหันมาบริโภคมังสวิรัติด้วยตัวเอง และได้พบว่าตัวเลือกอาหารสำหรับคนไทยที่หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ยังคงมีน้อย ด้วยราคาที่สูง รวมถึงยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความอร่อยและขาดความหลากหลายทางรสชาติ จึงเกิดเป็นแนวคิดที่อยากใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส ประกอบกับได้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารที่มีอยู่มาร่วมกันพัฒนาอาหารทางเลือกอย่างแพลนต์เบสให้มีรสชาติอร่อยตอบโจทย์คนไทย และสามารถผลิตได้เองในราคาถูก อีกทั้ง เล็งเห็นว่าธุรกิจแนวนี้ในตลาดไทยยังมีจำนวนไม่มากและยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว โดยข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย พบว่า มูลค่าตลาดแพลนต์เบสฟู้ดในประเทศไทยอาจสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

3 เคล็ดลับตัวช่วยปั้นธุรกิจโต

     นิธิฟู้ดส์เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 2541 จากการทำธุรกิจเครื่องเทศอบแห้งและเครื่องเทศเจียว ต่อมาได้ขยายธุรกิจมาเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส จนเมื่อปลายปี 2562 เป็นช่วงที่บริษัทได้ริเริ่มธุรกิจแพลนต์เบสในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Let’s plant meat” โดยมี 3 ปัจจัยเป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่

1. อาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ตัวเลือกแต่เป็นเรื่องจำเป็น

     จริงอยู่ที่โควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจกับสิ่งที่บริโภคเข้าไปมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการลดบริโภคเนื้อสัตว์หรือหันมาเป็นผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

     “สำหรับ Let’s plant meat” เราไม่เพียงแค่เชื่อในเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาธุรกิจขึ้นมารองรับเท่านั้น แต่เรามีแพสชั่นในการทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานแพลนต์เบสฟู้ดและเป็นตัวเลือกหลักเพื่อลดผลกระทบจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ทั้งในแง่ของความเสี่ยงจากการเกิดโรคที่น้อยกว่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์ อีกทั้งเป็นการเสริมความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี”

     ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชให้มีความพร้อมสำหรับตลาดไทยเพราะเราต้องการเป็นผู้ที่ไปยืนรออยู่ปลายทางพร้อมกับอาหารทางเลือกที่เป็นทางรอด ในวันที่แพลนต์เบสฟู้ดกลายเป็นอาหารทางเลือกหลักสำหรับการบริโภค

2. ความพร้อมของตัวเอง

    การมีธุรกิจเครื่องปรุงรสถือเป็นต้นทุนที่มีติดตัวและทำหน้าที่เป็นเหมือนธุรกิจพี่เลี้ยง (Business Brotherhood) ให้กับ “Let’s plant meat” ได้ ทั้งในแง่ทรัพยากรทางปัญญาจากทีมวิจัยและพัฒนาอาหารที่มีอยู่โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากธุรกิจเครื่องปรุงรสเพื่อต่อยอดในเรื่องการพัฒนาและคิดค้นรสชาติแพลนต์เบสฟู้ดที่อร่อยและตอบโจทย์คนไทย รวมถึงความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีการผลิต ที่ช่วยให้ไม่ต้องลองผิดลองถูกมากกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

     “สำหรับผลประกอบการในปี 2564 ถือว่าสามารถเติบโตท่ามกลางช่วงแห่งความท้าทายนี้ได้อย่างน่าพอใจโดยเรามียอดขายที่โตขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าจะโตต่อไปอีก 1-2 เท่าในปีถัดไปหรือทันทีที่การค้าระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง เนื่องจากเรามีความต้องการจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่รออยู่” 

3. มีพาร์ตเนอร์ที่ดี

     นอกเหนือจากการรู้จักเทรนด์ผู้บริโภค รู้จักความพร้อมของตัวเอง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเดินหน้าธุรกิจใหม่สำหรับ Let’s plant meat” นั่นก็คือ การมองหาความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เสมอ เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขัน

     “เราไม่ได้รอบรู้ในทุกด้าน การมีหน่วยงานเข้ามาให้คำปรึกษาก็เปรียบเสมือนมีผู้ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้กับเรา โดยในปีนี้เราได้ร่วมงานกับดีพร้อม ช่วยให้เราได้พัฒนาธุรกิจในหลายด้าน ทั้งการเชื่อมโยงตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาระบบคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร และระบบฮาลาล ซึ่งเมื่อแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ สินค้าของเราก็พร้อมเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้ทันที เพราะได้เตรียมความพร้อมด้านระบบความปลอดภัยของอาหารที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกลุ่มประเทศต่าง ๆ  ไว้ล่วงหน้าแล้ว” สมิต กล่าวทิ้งท้าย

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​