เปิดกลยุทธ์ 6 แบรนด์กาแฟท้องถิ่นจีนที่ท้าชนคาเฟ่ข้ามชาติและเอาอยู่

 

 

     มีการคาดการณ์ว่าในปี 2024 ตลาดกาแฟในจีนจะมีมูลค่าเกิน 330,000 ล้านหยวน และจะเติบโตปีละราว 10 เปอร์เซนต์ตลอด 5 ปีข้างหน้า นับเป็นการขยายเกินเท่าตัวเมื่อเทียบกับตลาดโลกที่โตในอัตรา 4.2 เปอร์เซนต์ จึงไม่แปลกที่แบรนด์คาเฟ่จากต่างประเทศจะพยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในจีน นอกจากสตาร์บัคส์ที่เข้ามายึดหัวหาดตั้งแต่ปี 1999 จนสามารถสยายปีกกว่า 5,000 สาขาใน 200 เมืองใหญทั่วประเทศ ก็ยังมีแบรนด์คาเฟ่อื่น เช่น อิลลี่คาเฟ่ ลาวาซซ่า และทิม ฮอร์ตันส์ที่ลงสนามแข่งด้วยเช่นกัน

     อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคาเฟ่ข้ามชาติเหล่านั้นจะกำลังเผชิญกับคลื่นของคาเฟ่ท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่แพรวพราวด้วยกลยุทธ์การตลาด อีกทั้งนักลงทุนยังเทใจหว่านเม็ดเงินสนับสนุนสตาร์ทจีนที่ทำธุรกิจกาแฟอีกด้วย ทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่าผู้บริโภคในจีนโดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวเมืองอายุ 20-30 ปีมีแนวโน้มหันมาอุดหนุนคาเฟ่สัญชาติจีนมากขึ้นทำให้คาเฟ่ท้องถิ่นเติบโตระยะยาว มาดูกันว่าแบรนด์คาเฟ่จีนที่โดดเด่นทาบชั้นแบรนด์นอกได้สบาย ๆ มีคาเฟ่ใดบ้างและทางร้านใช้กลยุทธ์ใดหรือสร้างจุดเด่นแบบไหนในการชิงลูกค้า

      Manner Coffee ร้านกาแฟที่กำลังมาแรงสุด จากร้านกาแฟเล็ก ๆ ข้างถนนเพียงร้านเดียวที่เปิดบริการเมื่อปี 2015 ปัจจุบันขยายไปกว่า 300 สาขาทั่วประเทศ การขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดของ Manner เกิดขึ้นช่วงเดือนมิย.-ตค. ปีที่แล้วหลังจากที่นักลงทุนรายใหญ่ทั้ง เทมาเส็กจากสิงคโปร์ ไบต์แดนซ์เจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok  และเหมยถ้วน แอปเดลิเวอรี่เจ้าดังสนับสนุนทุนก้อนโต ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจรวดเดียว 150 สาขา ส่งผลให้มูลค่าบริษัทในตลาดพุ่งสูงและเตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

สำหรับกลยุทธ์การตลาดของ Manner ก็คล้ายสตาร์ทอัพธุรกิจกาแฟท้องถิ่นหลายเจ้า นั่นคือ “ขายกาแฟคุณภาพเทียบเท่าสตาร์บัคส์แต่ราคาถูกกว่า”  Manner กำหนดราคาเครื่องดื่มต่ำกว่าเชนร้านกาแฟต่างประเทศประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ ทั้งยังทำโปรโมชั่นส่วนลดต่าง ๆ ทั้งยังหมั่นทำอีเวนต์ จับมือกับแบรนด์เครื่องดื่มอื่น เช่น แบรนด์ชานมไข่มุกทำการตลาดแนะนำเครื่องดื่มใหม่ ๆ ลูกค้าเป้าหมายของ Manner เป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีกาแฟเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์   

     Luckin Coffee เป็นเชนร้านกาแฟ to-go สัญชาติจีนที่มีชื่อเสียงสุด ก่อตั้งเมื่อปี 2017 เป้าหมายเพื่อชิงส่วนแบ่งจากสตาร์บัคส์ที่เป็นเจ้าตลาด ซึ่งก็สามารถทำได้ดีจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก นั่นคือลูกค้าสามารถสั่งกาแฟและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ลูกค้าสามารถมารับกาแฟเองที่ร้านหรือใช้บริการเดลิเวอรี่ก็ได้ ที่สำคัญLuckin แจกส่วนลดมากมายทำให้กาแฟของร้านราคาไม่แพงแต่คุณภาพดี รสชาติอร่อย

     ในเวลาเพียงปีครึ่งที่เปิดธุรกิจ Luckin ก็สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และขยายไปมากกว่า 4,500 สาขา มีฐานลูกค้า 40 กวาล้านคน ก่อนต่อยอดธุรกิจไปยังแบรนด์ร้านชาชื่อ Xiaolu Tea รวมถึงการกระจายตู้จำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มแบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2020 พบหลักฐานว่า Luckin ปั้นตัวเลขยอดขายและตกแต่งบัญชีเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้สนใจบริษัท แต่ถึงแม้ Luckin จะยื่นล้มละลาย และถูกถอนหุ้น แต่แบรนด์กาแฟนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมในจีนอย่างมาก

     Coffee Box เปิดบริการเมื่อปี 2014 เริ่มจากการเป็นแอปพลิเคชั่นสั่งกาแฟสำหรับแบรนด์นอก เช่น สตาร์บัคส์ และคอสต้า คอฟฟี่ หลังจากสะสมข้อมูลของลูกค้าที่สั่งกาแฟผ่านแอปจนทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้า และกาแฟที่สั่ง Coffee Box ก็ทำแบรนด์ขายกาแฟของเองในปี 2016  จุดเด่นของ Coffee Box คือเป็นบู้ทกาแฟเล็ก ๆ จำหน่ายแบบเดลิเวอรี่ มีบาริสต้าเพียง 2 คน แต่เน้นไรเดอร์จำนวนมากเพื่อการจัดส่งอย่างรวดเร็ว จึงกล้ารับประกันว่าจัดส่งใน 30 นาที โดยมากออร์เดอร์ของ Coffee Box  จะมาจากแพลทฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่าง วีแชท หรือเหม่ยถวน

     เปิดบริการเพียงปีเดียวก็สามารถขยายกว่า 400 สาขา ธุรกิจ Coffee Box ทำกำไรและประกาศแผนเปิดคาเฟ่แบบฟูลเซอร์วิสขนาดใหญ่ 50 สาขาในหัวเมืองใหญ่ของจีน อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2019 Coffee Box เกิดอาการสะดุดเมื่อกระแสเงินร่อยหรอจากการทำการตลาดแข่งกับ Luckin จึงจำใจถอยกลับมาตั้งหลักด้วยการปิดสาขาไป 30-40 เปอร์เซนต์และดำเนินนโยบายลดค่าใช้จ่าย ก่อนกลับมาทำกำไรอีกครั้งในเดือนเมย.ปีเดียวกัน จังหวะเดียวกับที่การระดมทุนในรอบซีรีส์บีทำให้ได้เงินทุนเข้ามา 206 ล้านหยวน ทำให้บริษัทได้ขยายธุรกิจ เปิด “pocket coffee” ร้านกาแฟขนาดจิ๋วราคาถูกกว่า เป็น fighting brand ของ Coffee Box ปัจจุบัน ยอดขาย Coffee Box เฉลี่ยอยู่ที่ 1,200-1,500 แก้วต่อสาขา

     Pacific Coffee เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1992 เป็นแบรนด์ร้านกาแฟยอดนิยมในฮ่องกงก่อนขายหุ้น 80 เปอร์เซนต์ให้รัฐวิสาหกิจในจีน และเริ่มทำตลาดในแผ่นดินใหญ่ในปี 2011 ด้วยเป้าหมายขยาย 1,000 สาขาในจีน และมีแผนรุกตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียด้วย สิ่งที่ทำให้ Pacific Coffee แตกต่างจากร้านกาแฟอื่นคือการรังสรรค์เมนูเครื่องดื่มฟิวชั่น เช่น เมนู “Huadiao Mocha” กาแฟมอคค่าผสมเหล้าจีน นอกจากนั้นยังเปิดร้านชา Tai Cha เพื่อบริการเครื่องดื่มชาต่าง ๆ อีกด้วย  

     ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น Pacific Coffee จึงจับมือเป็นพันธมิตรกับ Dong’e E’jiao  ผู้ผลิตเจลาตินสกัด donkey hide extract ที่ใช้เป็นส่วนผสมในยาจีนรายใหญ่สุดของประเทศ เพื่อแนะนำกาแฟสูตรพิเศษที่มีส่วนผสมจาก Dong’e E’jiao ทั้งยังเปิดร้านกาแฟ specialty ที่ใช้เมล็ดกาแฟคัดพิเศษคุณภาพดี และใช้เทคนิคขั้นสูงในการสกัดเพื่อเจาะลูกค้าอีกกลุ่ม Pacific Coffee ให้บริการกว่า 500 สาขา เฉาะในจีนมี 300 กว่าสาขาใน 15 เมือง รวมถึง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเสิ่นเจิ้น 

     Greybox Coffee กำเนิดปี 2016 เน้นเจาะตลาดบนด้วยคอนเซปต์ร้านกาแฟ specialty เครื่องดื่มของที่ร้านจึงเป็นกาแฟมาตรฐานสูงทั้งเมล็ดกาแฟ และเทคนิคการชง Greybox Coffee สาขาแรกเปิดบริการที่ปักกิ่ง ภายในปีเดียวก็ขยายไปยังเมืองเศรษฐกิจอื่น อาทิ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น และหังโจวหลังระดมทุนรอบซีรี่ส์เอได้ 100 ล้านหยวน

     Greybox มีความแตกต่างจากสตาร์ทอัพกาแฟรายเล็กเจ้าอื่นในเรื่องทำเล ขณะที่ส่วนใหญ่เลือกเปิดบริการในตรอกซอกซอยเล็ก ๆ Greybox เลือกเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าหรู และอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงเป็นนักธุรกิจ ศิลปิน เซเลบในสังคม และคนที่รักกาแฟ นอกจากบริการกาแฟสเปเชียลตี้ Greybox ยังเปิดคลาสสอนทำกาแฟให้กับผู้สนใจในช่วงหวันหยุดสุดสับดาห์ Greybox ยังชิมลางตลาดต่างประเทศด้วยการเปิดโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2019 สำหรับคนที่สนใจอีกด้วย

     Fisheye Café ก่อตั้งปี 2010 เป็นร้านกาแฟสเปเชียลตี้เช่นกัน บริการกาแฟคุณภาพสูง โมเดลธุรกิจมีทั้งขายปลีก ขายส่ง ทำธุรกิจโรงคั่ว เรียกว่าครบวงจร ปี 2017 Fisheye Café ขยับมาเปิดร้านกาแฟขนาดเล็ก จำกัดที่นั่ง ทำเลเน้นกลางใจเมือง รวมถึงร้านทูโกและเดลิเวอรี่ ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มผ่านวีแชทได้ ต่อมาปี 2019 ระดมทุนรอบซีรีส์เอได้ก้อนหนึ่งหลายสิบล้านหยวน

     ร้าน Fisheye Café ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะทำกำไร และใช้เวลาประมาณ 1 ปีจึงเข้าสู่จุดคุ้มทุน นอกจากเครื่องดื่มกาแฟ ทางร้านยังมีเบเกอรี่บริการ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟ เช่น เมล็ดกาแฟ กาแฟกระป๋อง และของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น แก้วกาแฟ และเสื้อยืด  

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

https://kr-asia.com/meet-chinas-homegrown-coffee-companies-hint-its-more-than-just-luckin

https://jingdaily.com/starbucks-could-struggle-as-chinese-coffee-upstarts-master-content-commerce

www.cnbc.com/2021/04/28/rising-competition-for-starbucks-in-china-from-hey-tea-and-others.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​