ปลูกข้าวไร้สารเคมียังไงให้กิจการรุ่ง ส่องความสำเร็จ บ้านแม่แต๋ว เมื่อผู้จัดเทศกาลดนตรีเปลี่ยนวิถีสู่ชาวนา

 

     “ถ้าเจออุปสรรคเมื่อไหร่คุณต้องตั้งสติ แล้วคุณค่อยสตาร์ทแล้วสตางค์มันจะมา” ประโยคเตือนสติของ เฮง-บุรินทร์ทร แซ่ล้อ ผู้จัดงานเทศกาลดนตรีที่ต้องสูญรายได้ปีละ 40-50 ล้านบาท หายวับไปกับตาเมื่อโควิดมาเยือน เส้นทางชีวิตชาวนาของเขาจึงเริ่มต้นขึ้นพร้อมแนวคิดที่ว่า สร้างแบรนด์ บ้านแม่แต๋ว ให้เป็นข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีและสามารถปลดหนี้ให้ชาวนา

ไม่เคยก็ต้องลอง

     นอกจากจะสูญเสียรายได้แล้ว บุรินทร์ยังต้องสูญเสียน้องชายด้วยโรคร้ายมะเร็ง หน้าที่ดูแลนาข้าวของบ้านจึงตกเป็นภาระของผู้เป็นแม่แต่ผู้เดียว นั่นคืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้จัดงานเทศกาลดนตรีผันตัวเข้าสู่อาชีพชาวนาอย่างเต็มตัว แม้จะไม่เคยทำนามาก่อนแต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค

    “เราคิดว่าน่าจะสานต่อตรงนี้ อย่างน้อยปลูกเอาไว้กินกันเอง เหลือก็ให้เอาไปแจกหรือเอาไปแลก อยากลองทำดูว่าจะได้ผลไหม ช่วงแรกๆ เอาข้าวไปแลกๆ กับพี่ขายเสื้อพวกวงดนตรีต่างประเทศที่มาทัวร์ในเมืองไทยเป็นเสื้อมือสองแต่ราคาเป็นหมื่นใช้ข้าวประมาณ 100 กิโลกรัมไปแลกปรากฏว่าแลกได้นี่หว่า”

สืบสานของดีให้ดียิ่งขึ้น

     ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเริ่มต้นปลูกข้าวของ บุรินทร์ทร ไปได้ดีคือ เขามีการวางแผนการทำนาอย่างเป็นขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การสร้างคอนเซปต์ว่าจะทำนาแบบ ไม่สร้างสรรค์ ใช้วิธีสืบสาน พร้อมกับนำวิธีการทำนาแบบเก่าเอากลับมาใช้ อาทิ การไหว้แม่โพสพ หรือการรับขวัญข้าวที่หายไปกว่า 40 ปีก็นำกลับมาใหม่ ที่สำคัญคือ ต้องไม่ใช้สารเคมีในการทำนา

     “สิ่งเก่าๆ หลายอย่างมันดีอยู่แล้ว การไม่ใช้สารเคมีไม่ได้ลำบากเหนือกว่าแรง เพียงแต่เราต้องเรียนรู้มันให้เข้าใจ เช่น ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แต่ที่มีชาวนาบางส่วนไปปลูกในน้ำหรือขังน้ำไว้เพราะกลัวหญ้าขึ้น ดังนั้นมันมีวิธีการควบุคมไม่ให้หญ้าโต ไม่ต้องใช้เคมี เช่นเปลี่ยนจากทำนาหว่านมาเป็นนาดำ จะได้มีระยะห่างเป็นระเบียบสามารถเดินไปถอนหญ้าได้

     สิ่งที่เกิดขึ้น บุรินทร์ทร บอกว่าไม่ใช่แค่ลดการใช้สารเคมีเท่านั้นแต่ยังช่วยลดต้นทุน และยังทำให้เขาค้นพบวิธีอื่นๆ เช่นใช้มูลไส้เดือนมาแทนสารเคมี ซึ่งมูลไส้เดือนมีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและช่วยในการกำจัดแมลง

    อีกหนึ่งจุดเด่นของ บ้านแม่แต๋ว คือ การใช้ข้าวพันธุ์ กข 43 ซึ่งมีน้ำตาลน้อย ที่ผู้จัดงานเทศกาลดนตรีบอกว่าการเลือกใช้ข้าวพันธุ์นี้ก็เพื่อขอเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน

     “เมื่อทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ข้าวแม่แต๋วไม่แข็ง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ แม่ผมกินข้าวยังไง พี่ๆ เพื่อนก็ได้กินข้าวแบบนั้นเช่นเดียวกัน”

วิธีคิดพิชิตความสำเร็จ

     สำหรับคำแนะนำว่าทำอย่างไรให้การปลูกข้าวไร้สารเคมีสำเร็จนั้น บุรินทร์ทร อธิบายว่า มันต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองที่ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำเพื่ออะไร ทำไปแล้วจะได้อะไร ถ้าไม่ทำจะเสียอะไร

     สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความชัดเจนของผู้จัดการเทศกาลดนตรีคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยนอนตี 3 ตื่นสายๆ ก็ลดการปาร์ตี้และหันมาเข้านอนเร็วขึ้นประมาณ 3.30 ทุ่มเพื่อที่จะได้ตื่น 6 โมงไปทำงานแต่เช้า

    “ถ้าอยากอยู่กับมันก็ต้องปรับตัวให้ได้ ผมใช้วิธีคิดในการจัดเทศกาลดนตรีมาปรับใช้อยู่นะ ผืนนาก็เหมือนพื้นที่การจัดงานดนตรี ข้าวก็เปรียบเสมือนเป็นศิลปินของผม ผมถึงบอกวิธีคิดสำคัญ ถ้าเจออุปสรรคเมื่อไหร่คุณต้องตั้งสติ แล้วคุณค่อยสตาร์ทแล้วสตางค์มันจะมา”

     ส่วนวิธีการสำเร็จมีมากมาย เช่น พยายามไปอยู่กับคนที่ประสบความสำเร็จ หรือจะหาความรู้จากยูทูบ แต่ทั้งนั้นทั้งนั้นก็ต้องลงมือทำให้เร็วที่สุด พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จภายในเมื่อไหร่ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานให้ชัดเจนไม่ใช่ทำไปเรื่อยเปื่อย

    “สำหรับเป้าหมายของผมคือจะต้องให้คนในประเทศได้กินกันแและส่งออก 1 ล้านกิโลกรัมภายในปีนี้ ส่วนเป้าหมายต่อไปคือ ต้องการปฏิวัติวงการข้าวทำนาโดยปลอดสารเคมี ช่วยให้ชาวนาไม่มีหนี้สิน มีชีวิตที่ดีขึ้น”

ไม่เกี่ยงงานไม่ยากจน

     ก่อนที่จะมาเป็นผู้จัดการเทศกาลดนตรีที่จับเงินล้านนั้น บุรินทร์ทร บอกว่าตัวเขาเองก็ผ่านความลำบากมาไม่ใช่น้อย ด้วยความที่เคยเป็นเด็กเกเร ทำให้เรียนจบแค่จบ ม.3 ต้องดิ้นรนผ่านการทำงานมาหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ขายของ เป็นเด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจาน

    “เอาพลังที่เคยผิดพลาดในชีวิตมาเป็นพลังบวกในการทำงาน เป็นบทเรียนชีวิต ไม่อยากให้ผิดพลาดอีก ผมไม่ค่อยมองอะไรเป็นอุปสรรค เพราะทำงานเจออุปสรรคเป็นเรื่องปกติ ผมว่าการประสบความสำเร็จไม่มีทางลัด งานอะไรผมก็ทำหมดเพราะทุกอย่างเป็นประสบการณ์ ผมไม่เก่ง แต่ความอดทนสูง ผมไม่หวั่นไหวอะไรง่ายๆ ผมเหมือนม้าแข่ง พุ่งมันไปเลย คิดวางแผนแล้วทำไปเลย”

     ความคิดที่ไม่ได้ลงมือทำอาจเป็นแค่ความฝัน แต่มันจะเปลี่ยนเป็นความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำ

Text: Neung Cch.

 

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: banmeataew

โทรศัพท์: 064 797 8941

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​