เหตุใดเส้นทางการเป็น ฟาร์มเลี้ยงหมึกยักษ์เชิงพาณิชย์รายแรกของโลก จากบริษัทสเปนจึงเจอกระแสต้าน

 

     การทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงหอย หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผ่านมา เคยมีใครได้ฟังหรือได้ยินเกี่ยวกับการทำฟาร์มเพาะปลาหมึก (ซึ่งไม่ใช่ปลา) หรือไม่ แน่นอนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น เมื่อนูวา เปสคาโนวา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสัญชาติสเปนประกาศทำฟาร์มเพาะหมึกสาย หรือหมึกยักษ์ (octopus) เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของโลก โดยจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ข่าวนี้ก็เรียกทั้งเสียงฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาเดียวกัน

     ทั้งนี้ นูวา เปสคาโนวาได้เตรียมการมาหลายปีกระทั่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เมืองกาลิเซียทางตะวันตกเฉลียงเหนือของสเปนก่อสร้างแล้วเสร็จด้วยเงินลงทุน 7.5 ล้านยูโร พบนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร และมีนักวิจัย 40 คนเริ่มประจำทำงาน นูวา เปสคาโนวา

    โรเบอร์โต้ โรเมโร่ ผู้อำนวยการฝ่ายเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของนูวา เปสคาโนวาเผยในส่วนของฟาร์มเพาะหมึกยักษ์ซึ่งมีขนาดใหญ่นั้น บริษัทได้ลงทุนแล้วมากกว่า 65 ล้านยูโร ฟาร์มตั้งอยู่ที่เกาะคานารี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินการในกลางปี 2022 นี้และคาดว่าจนถึงปี 2026 จะสามารถเพาะหมึกยักษ์ได้ราว 3,000 ตัน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ การยื่นขอใบอนุญาตดำเนินการยังไม่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด   

     ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สเปนแข่งขันกับเม็กซิโก และญี่ปุ่นมาตลอดในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนก็จะกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเลยทีเดียว ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมสหประชาชาติระบุ ช่วงปี 2010-2019 ตลาดซื้อขายหมึกยักษ์ทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 27,200 ล้านดอลลาร์ แต่ปริมาณหมึกยักษ์ที่จับได้เพิ่มขึ้นเพียง 9 เปอร์เซนต์คิดเป็นปริมาณ 380,000 ตันเท่านั้น

     คำถามคือ ไม่เคยมีการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์มาก่อน แล้วทำไมถึงมีความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้น โดยทั่วไป หมึกยักษ์เป็นอาหารยอดนิยมในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เม็กซิโก และเอเชีย แต่ช่วงหลังความต้องการหมึกยักษ์ในตลาดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้คนในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่เคยลิ้มลองก็หันมาบริโภคหมึกยักษ์มากขึ้น ส่งผลให้มีการจับหมึกยักษ์มากกว่าเดิม และราคาหมึกยักษ์ก็สูงขึ้นด้วย โดยประเทศที่นำเข้าหรือบริโภคหมึกยักษ์มากสุดในโลกได้แก่ อิตาลี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสเปน

    ด้วยราคาที่จูงใจ และศักยภาพของตลาดที่ขยายใหญ่ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงสนใจแนวคิดทำฟาร์มเพาะหมึกยักษ์เชิงพาณิชย์ บรรดาบริษัทประมงทั่วโลกต่างพยายามศึกษาและทดลองด้านนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอัตราการตายของหมึกสูงมาก ทั้งนี้ การนำหมึกยักษ์ในธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงทำให้เกิดปัญหาหมึกมีความก้าวร้าว ทำร้ายตัวเองจนหนวดขาด และกินหมึกที่เลี้ยงในบ่อเดียวกันเอง 

     นอกจากอุปสรรคในการเพาะเลี้ยง โครงการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในมุมของนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักกิจกรรมพิทักษ์สิทธิสัตว์หมึกยักษ์เป็นสัตว์ฉลาด หลายการทดลองพิสูจน์ให้เห็นว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ชนิดนี้มีพฤติกรรมที่ซับซ้อน สามารถเรียนรู้ได้ไว มันมีเซลล์ประสาท 500 ล้านเซลล์ซึ่งทำให้ฉลาดพอ ๆ กับสุนัขหรือเด็กวัย 3 ขวบ ผลการศึกษาของสถาบัน London School of Economics and Political Science ชี้หมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึก มันเจ็บปวด ตื่นเต้น เศร้า หรือมีความสุขได้

    การไม่สนับสนุนให้มีฟาร์มเพาะพันธุ์หมึกยักษ์เพราะมองว่าจะเป็นการทรมานสัตว์ หมึกยักษ์ไม่ชอบถูกกักขังเพราะธรรมชาติของมันเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น และชอบอาศัยลำพัง การขังรวมกันมาก ๆ ในกระชังจะทำให้พวกมันกัดกินกันเอง หากดึงดันจะทำฟาร์มหมึกยักษ์ก็เท่ากับส่งเสริมการทารุณสัตว์ แต่จะมีการนำกฏหมายมาใช้เพื่อระงับโครงการฟาร์มหมึกหรือไม่นั้นยังก้ำกึ่งอยู่

     โดยทั่วไปสหภาพยุโรปมีกฎหมายที่คุ้มครองสวัสดิการสัตว์ในฟาร์มอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่ว่าไม่ครอบคลุมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าหมึกยักษ์แตกต่างจากสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทั่วไป ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศรวมถึงอังกฤษได้พิจารณาให้หมึกยักษ์เป็น “สัตว์มีกระดูกสันหลังกิติมศักดิ์” และต้องปฏิบัติต่อพวกมันเยี่ยงสัตว์มีกระดูกสันหลังทั่วไปด้วย ยกตัวอย่าง หากต้องผ่าตัวมันเพื่อการทดลองใด ๆ ก็ต้องให้ยาสลบก่อนเพื่อที่มันจะได้ไม่ทรมาน

     ด้านเดวิด ชาวาร์เรียส ผู้อำนวยการศูนย์เพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ของนูวา เปสคาโนวายังต้องศึกษาต่อไปเรื่องความเฉลียวฉลาดของหมึกยักษ์ จากที่ทางฟาร์มทดลองเลี้ยงโดยเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดก็ยังไม่เจอปัญหาใด ๆ ตามที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี นูวา เปสคาโนวาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดแทงค์ที่ใช้เลี้ยง ความหนาแน่นของหมึกยักษ์ที่อยู่ในแทงค์ อาหารที่ป้อนอ้างเป็นความลับทางการค้า  

     ดูเหมือนว่าเส้นทางสู่การเป็นรายแรกของโลกที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมึกยักษ์เชิงพาณิชย์จะไม่ราบรื่นนัก นอกจากกระแสคัดค้านจากนักวิชาการและนักกิจกรรมพิทักษ์สิทธิสัตว์ ยังมีเรื่องของกฏหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง มาลุ้นกันอีกทีว่าหน่วยงานท้องถิ่นบนเกาะคานารีของสเปนจะอนุมัติให้นูวา เปาคาโนวาดำเนินกิจการฟาร์มหมึกยักษ์หรือไม่ 

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

www.reuters.com/business/environment/worlds-first-octopus-farm-stirs-ethical-debate-2022-02-23/

www.sciencealert.com/world-s-first-commercial-octopus-farm-planned-for-2023-amid-soaring-seafood-demand

www.euronews.com/green/2022/02/24/an-environmental-disaster-europe-will-soon-be-home-to-the-world-s-first-octopus-farm

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​