ถอดโมเดล Akipu หนุ่มชาวเขากลับดอย ทำเกษตรขายสตรอว์เบอร์รีได้กิโลละ 600

 

     การกลับไปอยู่บ้านของใครหลายคนอาจถูกมองว่าเป็นภาพที่สวยงาม เป็นชีวิตที่น่าอิจฉา ได้อยู่บ้านและมีอาชีพทำไปด้วย แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายกับ สราวุฒิ ภมรสุจริตกุล หรือ วุฒิ หนุ่มชาวลีซู (ลีซอ) จากอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ที่พ่อและแม่ตั้งใจส่งเขามาร่ำเรียนจนจบปริญญาตรีเพื่อหวังจะให้รับราชการหรือมีงานดีๆ ทำ แต่เขากลับเลือกที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด บทพิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางสายนี้จึงไม่ง่าย วุฒิต้องเสียน้ำตาระหว่างทางหลายครั้ง แต่เขาไม่เคยคิดที่จะล้มเลิก

     จนวันนี้ 8 ปีผ่านไป นอกจากจะทำให้ทุกคนได้รู้จักโมเดลธุรกิจของเขาที่ทำร่วมกับพี่น้องในครอบครัว ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเกษตรแบบไร้สารเคมี การท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ที่สอดคล้องไปกับวิถีชุมชน จนถึงสวนกาแฟในป่าและร้านกาแฟเล็กๆ ทั้งหมดถูกทำขึ้นมาภายใต้ชื่อ “Akipu โมเดล” เขายังทำให้ชื่อของหมู่บ้านเลาวู ประตูสู่เวียงแหงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนรู้จักมากขึ้นด้วย กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้หนุ่มชาวดอยคนนี้ต้องเจอกับอะไรบ้าง เขามีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้การกลับบ้านครั้งนี้สัมฤทธิ์ผลและถูกยอมรับขึ้นมาได้ ลองถอดโมเดลที่ว่าไปพร้อมกัน เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับหลายคนที่กำลังหาทางกลับบ้านอยู่เช่นกัน

ค่าของคนอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่ชาติกำเนิด

     ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อเข้ามาร่ำเรียนหาวิชาความรู้ วุฒิ ก็คือ เด็กดอยคนหนึ่งที่รู้สึกแปลกแยกกับสังคมภายนอก และอายที่จะบอกกับใครว่าเขา คือ ลีซูหนึ่งในชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายของไทย

     จนกระทั่งเมื่อได้ศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เจอสังคมเพื่อน พี่ น้องที่เปิดใจยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน จึงทำให้วุฒิเปลี่ยนความคิดจากที่ชอบหลบไปอยู่เงียบๆ คนเดียว เขาเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย จนทำให้ได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วคุณค่าของคนอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่ชาติกำเนิด

     หลังเรียนจบวุฒิเข้าทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำอยู่ได้เพียง 5 เดือน เขารู้สึกว่างานไม่ได้ตอบโจทย์พัฒนาศักยภาพให้กับเขาเลย ประจวบกับในขณะนั้นเองเขาเริ่มมองเห็นปัญหาจากการทำเกษตรของที่บ้าน พ่อและแม่ของเขาปลูกกะหล่ำขายโดยราคาหน้าสวนขายได้เพียงกิโลกรัมละ 2 – 3 บาท ขณะที่เมื่อถึงปลายทางถึงมือผู้บริโภคกลับขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนต่างระหว่างทาง 17 บาทที่หายไป ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ยุติธรรม จาก 2 ปัจจัยที่พูดมานี้จึงทำให้วุฒิตัดสินใจกลับไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเกิดของเขาในพื้นที่ห่างไกลโอบล้อมด้วยทิวเขาสูงหลดหลั่นกันไป 

“ความรู้ ต้นทุน เครือข่าย” 3 หัวใจของการกลับบ้าน

     แต่การกลับบ้านของวุฒิไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้สวยงามอย่างที่ใครคิด เขาต้องตอบคำถามผู้คนมากมาย ไปจนถึงพ่อกับแม่ที่ไม่เห็นด้วยว่าเรียนจบตั้งปริญญาจะกลับมาอยู่บ้านทำไม ช่วงแรกวุฒิลงมือช่วยพ่อและแม่ของเขาทำสวนเหมือนอย่างเคยพร้อมกับเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาร่วมกันกับน้องๆ แต่เพียงแค่ 4 เดือน ฝันแรกของเขาก็สลายลงเมื่อร้านกลับโดนสั่งให้รื้อถอนในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนจากคำสั่งคชส. 2557 แผนแม่บททวงคืนผืนป่า ซึ่งที่บ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับบ้านของเขาอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ช่วยพูดอะไร ทั้งที่อาจมีวิธีช่วยผ่อนปรนได้

     วุฒิเดินหน้ากลับเข้ามาหางานประจำทำอีกครั้ง ด้วยการเป็นพนักงานธุรการประจำที่ว่าการอำเภอ แต่แล้วเมื่อทำได้เพียง 5 เดือน เขาก็ได้รู้จักกับโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” เขาได้สมัครเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ ได้เดินทางออกเยี่ยมเยียนผู้ที่มีความตั้งใจอยากกลับมาอยู่บ้าน ได้ส่งเสริมและให้ข้อมูลความรู้ ทำให้เขาได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และรู้จักผู้คนเยอะขึ้น จนเริ่มมองเห็นเส้นทางการกลับไปทำอะไรที่บ้านได้ชัดเจนขึ้น

     หลังได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครและฝึกอบรมอีกหลายโครงการ อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  วุฒิได้เรียนรู้ว่าการจะเริ่มต้นความฝันอีกครั้งของเขาให้สำเร็จได้จะต้องมี 3 สิ่งนี้ ได้แก่ ความรู้ ต้นทุน และเครือข่าย จนในที่สุดเขากลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง โดยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภายนอกมาปรึกษาหารือร่วมกับน้องๆ ของเขาอีก 3 คนจนได้เป็นโมเดลธุรกิจครอบครัวที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกัน

     “Akipu โมเดล” (อะกิปุ) จึงถูกจัดตั้งขึ้น โดยมาจากภาษาลีซู “อะ” เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อคน “กิ” มาจาก “ซึกิซึกิ” ซึ่งแปลว่ารากต้นไม้ใหญ่ และ “ปุ” มาจาก “ซึปุซึปุ” หมายถึงต้นหญ้าที่มีอยู่เยอะแยะไม่มีวันหายไป เมื่อนำมารวมกันแล้ว คือ วิถีชีวิตรากเหง้าของชนเผ่าลีซูที่จะกลับมาเผยแพร่เหมือนดังต้นหญ้าที่ไม่มีวันหายไป โดยหัวใจสำคัญของธุรกิจ ก็คือ การสร้างโมเดลคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

     ในที่ดินที่มีอยู่ 20 กว่าไร่ ถูกจัดสรรออกเป็น 4 ส่วน แบ่งเป็น 1.ที่อยู่อาศัย ตลาดแปรรูป 2. แปลงผลไม้เมืองหนาว 3. ปลูกป่า ซึ่งจะกินพื้นที่ประมาณ 60 - 70 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นป่าที่สามารถตัดใช้สอยได้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้ไม่ถูกเวนคืนที่ดินจากรัฐแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ได้ด้วย เช่น การปลูกกาแฟเสริมเข้าไป และ 4. พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปลูกพืชผักล้มลุกต่างๆ เช่น ผักสลัด สตรอว์เบอร์รี

สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยความแตกต่างและคุณภาพ    

     วุฒิเล่าว่าพืชผัก ผลไม้ทั้งหมดจากอะกิปุจะใช้วิธีการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นอกจากนี้เขายังเลือกพืชผักที่นิยมน่าจะขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด เน้นทำน้อย แต่ได้มาก และส่งขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงโดยใช้การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเขามองว่าการทำสินค้าให้มี “คุณภาพ” และ “ความแตกต่าง” คือ 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรพ่อค้าคนกลางและพัฒนาการทำเกษตรแบบยั่งยืนได้ และด้วยวิธีการที่กล่าวมานี้ จึงทำให้สินค้าเกษตรจากอะกิปุสามารถขายได้ราคาดีกว่าท้องตลาดทั่วไป

     ยกตัวอย่างเช่น สตรอว์เบอรรีที่ตามท้องตลาดขายกิโลกรัมละ 200 – 300 บาท แต่เขาสามารถขายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 600 บาททีเดียว เพราะเป็นสตรอว์เบอรีที่ใช้การปลูกแบบอินทรีย์ ต้องใส่ใจดูแลมากเป็นพิเศษ, หรืออย่างลูกพลับปกติที่ขายกันทั่วไปจะใช้วิธีบ่มให้สุกด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ แต่สำหรับที่นี่จะใช้วิธีการบ่มธรรมชาติ โดยใช้ใบไม้ ซึ่งภาษาลีซูเรียกว่า “ซึมะ” จึงตั้งชื่อว่า “พลับซึมะ” ขายกิโลกรัมละ 80 - 100 บาท โดยมีการประกันสินค้าให้ด้วย หากเน่าเสีย หรือมีรสฝาดสามารถเปลี่ยนให้ใหม่ได้

     “ถ้าเราไปทำเหมือนคนอื่นเขา ก็ไม่มีเหตุผลจูงใจอะไรให้ต้องมาซื้อกับเรา เขาก็ไปเลือกที่ใกล้ ที่สะดวกดีกว่า” วุฒิกล่าวสั้นๆ

(หมัด - ธีระศักดิ์ ภมรสุจริตกุล)

ครอบครัวเดียวกัน

     เมื่อการพัฒนาธุรกิจเกษตรเริ่มออกดอกผลประสบความสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น สเตปต่อมาที่วุฒิกำลังทำอยู่ ก็คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในส่วนนี้เขาได้น้องชาย หมัด - ธีระศักดิ์ ภมรสุจริตกุล มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสานต่อ

     โดยธุรกิจท่องเที่ยวที่ว่านั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ที่พัก ซึ่งจะมีทั้ง “อะกิปุ โฮมสเตย์” และ “อะกิปุ แคมป์ปิ้ง” 2. การจัดทริปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น-ตก โดยในส่วนนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน

     “การทำท่องเที่ยว คือ การต่อยอดจากสิ่งที่เราทำมา เพื่อพาคนเข้ามาทำความรู้จักกับเรามากขึ้น รู้เรื่องราวที่เรากำลังทำ รวมถึงรู้จักชุมชนที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบลีซู ซึ่งมองว่านี่คือ จุดขายที่ยั่งยืนมากกว่าที่จะมุ่งหาแต่เงิน และเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตที่ดีงามแบบเดิมไป ในการมาเที่ยวดูจุดชมวิวหรือเข้ามาในหมู่บ้านเราจึงพยายามทำข้อตกลงร่วมกัน คือ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขับรถเข้ามาเอง เพราะมีทั้งเรื่องความปลอดภัยไม่รู้เส้นทาง การจราจรที่ติดขัด แต่จะมีการจัดทริปทัวร์เข้ามาโดยคิดค่าบริการคนละ 120 บาท แบ่งเป็นค่าคนขับรถ 50 บาท ค่าเข้าหมู่บ้าน 20 บาท และค่าเข้าเจ้าของพื้นที่อีก 50 บาท เพราะถึงแม้วันหนึ่งอาจไม่มีกระแสแล้ว แต่เราก็ยังสามารถใช้ชีวิติอย่างที่เราเป็นได้ แต่ถ้าทำแล้วต้องเปลี่ยนความเป็นตัวเอง ผมมองว่าไม่โอเค” หมัดกล่าว

       ซึ่งหากจะอธิบายรูปแบบการทำธุรกิจของอะกิปุให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง อะกิปุก็เหมือนกับแบรนด์ๆ หนึ่งของครอบครัว หนึ่งที่มีทั้งส่วนที่ทำร่วมกัน และส่วนที่แยกออกไปตามความถนัดและความชอบของแต่ละคนเหมือนกับที่วุฒิและหมัดทำ แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันด้อย่างยั่งยืน โดยจะมีการแบ่งรายได้เข้าส่วนกลาง 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของแบรนด์ด้วย

     “เราเคยทดลองกันมาหลายครั้งเพื่อหาโมเดลที่ลงตัวให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่แตกแยกกัน เกื้อกูลกัน ซึ่งเรามองว่าวิธีการนี้ คือ ลงตัวที่สุดแล้ว คือ ทำทั้งที่เป็นส่วนรวม และทำในแบบที่ตัวเองชอบ แยกให้เห็นชัดเจนเลยว่าอันไหนรวม อันไหนแยก อย่างหมัดชอบทำสายแคมป์ปิ้ง เขาก็ทุ่มทำอะกิปุ แคมป์ปิ้ง ขึ้นมาเลย อย่างของผมชอบแบบโฮมสเตย์อยากให้นักท่องเที่ยวได้มาลองอยุ่กับเจ้าของบ้านด้วย ก็ทำอะกิปุ โฮมสเตย์” วุฒิเล่า

     นอกจากอะกิปุโมเดลแล้ว ทุกวันนี้วุฒิและน้องๆ ยังมีการทำงานร่วมกับชุมชนด้วย โดยมีการจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู” ขึ้นมา เพื่อจำหน่ายผลผลิตแปรรูปทางการเกษตรของหมู่บ้าน งานหัตถกรรม และงานฝืมือต่างๆ รวมไปถึงกาแฟซึ่งเป็นอีกผลิตภัณฑ์ชูโรงของชุมชนภายใต้ชื่อ “Laowu Coffee”

     จนถึงวันนี้ 8 ปีแล้วที่วุฒิได้เดินบนเส้นทางที่เขาเลือก นั่นคือ การกลับมาใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิด และพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งดูเหมือนว่าวันนี้เขาน่าตามหาส่วนต่างของราคาพืชผักที่หายไปในวันนั้นเจอแล้ว

     “ทุกวันนี้พ่อกับแม่ รวมถึงคนในหมู่บ้านก็ยอมรับและเข้าใจในสิ่งพวกเราทำมากขึ้น เราสามารถทำรูปแบบเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างที่เราต้องการได้ ไม่มีส่วนต่างราคาจากพ่อค้าคนกลางเข้ามาแทรกแซง เราพยายามทำหลายสิ่งเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นตัวอย่างว่าจริงๆ แล้วพวกเขาเองก็สามารถทำได้เช่นกัน เส้นทางการกลับมาบ้านอาจไม่ได้สวยงามเหมือนที่ใครคิด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต้องมีปัญหาอุปสรรคให้ต้องเจออย่างแน่นอน แต่พอผ่านมาได้มันก็เป็นความภูมิใจ เพราะยังไงได้กลับมาอยู่บ้านก็อบอุ่นได้ทุกวัน” วุฒิกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ

https://web.facebook.com/Akipu-Homestay-

โทร. 063 984 4777

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สองภาค, Akipu

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ