ต้องไม่จบที่รุ่นเรา ทายาทรุ่น 4 เปลี่ยนร้านปาท่องโก๋เก่า 70 ปี สู่ธุรกิจค้าส่งอาหารรายใหญ่ของประเทศ

 

     มีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักว่าธุรกิจของครอบครัวที่ริเริ่มตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเมื่อตกมาถึงรุ่นลูกหลานหากไม่มีการพัฒนาต่อยอดก็มักลงเอยด้วยการม้วนเสื่อปิดกิจการเพราะไม่มีใครสานต่อ สำหรับทายาทที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทางเลือกของพวกเขาหากไม่ไปต่อก็มักจะพอแค่นี้กับธุรกิจครอบครัว และสิ่งนี้เกิดขึ้นกับออเดรย์ ชิว ผู้ประกอบการสาวชาวสิงคโปร์วัย 37 ปี

     ครอบครัวของออเดรย์มีร้านปาท่องโก๋เล็ก ๆ ขายในฟู้ดคอร์ทชุมชน (hawker) เป็นร้านเก่าแก่ที่เปิดบริการตั้งแต่ทศวรรษ 1940 หรือประมาณ 70 กว่าปีก่อน ร้านปาท่องโก๋นี้ก็ตกทอดมาถึงรุ่นคุณพ่อของเธอ แต่สำหรับตัวออเดรย์เอง เธอไม่ได้สนใจสานต่อเพราะหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เธอก็เลือกเส้นทางมนุษย์เงินเดือน ทำงานในบริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลกและไปประจำที่ประเทศจีนนานหลายปี

     กระทั่งกลับมาปักหลักที่สิงคโปร์อีกครั้งในปี 2017 ออเดรย์พบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก เช่น อาหารบางอย่างที่เคยทานตอนเด็กก็หาทานได้ยาก โดยเฉพาะอาหารที่ขายตามฟู้ดคอร์ทชุมชน เธอไม่อยากให้วัฒนธรรมอาหารเหล่านี้สูญหายไปจึงเกิดความคิดว่าจะสานต่อร้านปาท่องโก๋ต่อจากบิดา “ตอนนั้นฉันอายุ 32 ปีและไม่มีประสบการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับธุรกิจ F&B แม้แต่น้อย แต่ฉันก็ตัดสินใจว่าจะลองดูสักตั้ง ฉันอยากทำธุรกิจที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้คนในการบริโภคอาหารดั้งเดิม โดยจะนำเทคนิคอันทันสมัยและระเบียบวิธีทางธุรกิจมาใช้เพื่อฟื้นธุรกิจแบบเดิม ๆ” ออเดรย์เล่าย้อนถึงช่วงเริ่มธุรกิจ

     เมื่อคิดแล้วก็ลงมือทำทันที ในปี 2017 สูตรปาท่องโก๋ของครอบครัวอยู่ในมือแล้ว ออเดรย์จึงเช่าโรงงานสำหรับผลิตอาหาร ซื้อเครื่องจักร และจ้างคนงาน แต่เส้นทางธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะเธอต้องแข่งกับผู้ผลิตรายอื่นที่จำนวนหนึ่งที่ยึดหัวหาดอยู่ก่อนแล้ว สิ่งที่เธอปรับคือการทำให้สินค้าภายใต้แบรนด์ “You Tiao Man” (โหยวเถียวแปลว่าปาท่องโก๋) ได้คุณภาพตามมาตรฐานต่าง ๆ ในวงการอุตสาหกรรม รวมถึงการมีตรา “ฮาลาล” รับรองเพื่อสามารถเสิร์ฟบนเครื่องบิน ตามโรงแรม และร้านอาหารได้

     นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปาท่องโก๋ดั้งเดิมก็ต่อยอดไปยังปาท่องโก๋ชาร์โคล ปาท่องโก๋ธัญพืช และปาท่องโก๋ยัดไส้ต่าง ๆ ยังไม่พอ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลายขึ้น ออเดรย์ยังได้เพิ่มผลิตภัณฑ์อีกมากมายซึ่งออกไปทางติ่มซำ อาทิ เกี๊ยวซ่า ก๋วยเตี๋ยวหลอดกุ้ง ฮะเก๋า หอยจ๊อ ฟองเต้าหู้ทอด ซาโมซ่า รวม ๆ แล้วเกือบ 30 รายการ แต่งานที่ยากสุดคือการเสนอขาย

     ด้วยตั้งใจจะทำโมเดลธุรกิจ B2B หรือขายส่งแบบธุรกิจกับธุรกิจ ออเดรย์จึงนำสินค้าไปเสนอตามร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ฟู้ดคอร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทต่าง ๆ ทั่วเกาะสิงคโปร์ บางที่ใจดีหน่อยก็เปิดโอกาสให้อธิบายเกี่ยวกับสินค้า แต่ส่วนใหญ่จะไม่เสียเวลาฟัง และเกือบทุกครั้งลงเอยด้วยการไม่สนใจและไม่ซื้อ การถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ได้ทำให้เธอทดท้อ แต่กลับรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

     ออเดรย์ปลอบใจตัวเองว่าหากในแต่ละวันทำได้ดีขึ้นแค่ 1 เปอร์เซนต์ ใน 1 เดือนจะทำได้ดีขึ้น 30 เปอร์เซนต์ และดีขึ้นอีก 365 เปอร์เซนต์ใน 1 ปี ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำให้แบรนด์ติดตลาดให้ได้ภายใต้หลักการ “การเป็นซัพพลายเออร์น่าเชื่อถือและซื่อสัตย์ รับฟังลูกค้า และปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยความเคารพ”

     ออเดรย์เล่าอีกว่า “ต่อให้มีออร์เดอร์เข้ามานาทีสุดท้าย ฉันก็จะทำให้ลูกค้าไม่ว่าเวลาจะล่วงไปดึกดื่นแค่ไหน หรืองานเร่งยังไง หากเจอลูกค้าจุกจิกเอาใจยาก สิ่งที่ทำคือมอบบริการที่ดีที่สุดพร้อมรอยยิ้มและความจริงใจ และหากลูกค้าคอมเพลนสินค้า ฉันก็พร้อมยอมคืนเงินให้ทันทีโดยไม่ไถ่ถามอะไร” ด้วยบริการที่ยอดเยี่ยมเช่นนั้น เมื่อลูกค้าเปิดใจอุดหนุนและเกิดความประทับใจจึงกลับกลายเป็นลูกค้าประจำ

     ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น  You Tiao Man ก็ได้รับการยอมรับ สินค้าถูกกระจายตามร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ฟู้ดคอร์ท และซูเปอร์มาร์เก็ต ส่งผลให้ You Tiao Man ขึ้นแท่นผู้ผลิตปาท่องโก๋รายใหญ่สุดอีกแบรนด์ในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ธุรกิจของออเดรย์ที่อุตส่าห์สร้างมากับมือก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้ลดลงถึง 50 เปอร์เซนต์     

     สถานการณ์นี้นำมาซึ่งการปรับตัวอีกครั้ง โดยลดราคาขายส่งเพื่อให้ลูกค้าอยู่รอดได้ และจากที่ขายส่งแบบ  B2B ให้กับโรงแรม ร้านอาหารซึ่งธุรกิจเหล่านั้นก็ย่ำแย่จากวิกฤติโควิดเช่นกัน ออเดรย์เพิ่มช่องทางกระจายสินค้าโดยขายปลีกโดยตรงให้กับลูกค้าทั่วไปด้วย ทั้งเปิดหน้าร้านขาย และจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงการเปิดเว็บไซต์ขายเอง และขายผ่านช้อปปี้

     ออเดรย์กล่าวว่าจากการสังเกตตลาดพบว่าพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปโดยลูกค้ายอมรับอาหารแช่แข็งให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้ามากขึ้น ทาง You Tiao Man ได้ปรับสูตรอาหาร เช่น ไม่ต้องทอด แค่นำไปอุ่นก็ทานได้เลย และทำขนาดให้เล็กลงเพื่อให้เหมาะกับเครื่องใช้ในบ้าน อาทิ หม้อทอดไร้น้ำมัน เตาอบ เตาไมโครเวฟ และอื่น ๆ วิกฤติโควิดจึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ออเดรย์ได้ทดสอบไอเดียและนวัตกรรมหลาย ๆ อย่างจนสามารถกำหนดทิศทางธุรกิจของบริษัทได้ นั่นคือการผลิตอาหารแช่แข็งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

     สินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือปาท่องโก๋ไซส์มินิ ปาท่องโก๋ชาร์โคล ปาท่องโก๋ธัญพืช และป่าท่องโก๋ทรงเครื่องยัดไส้ต่าง ๆ สินค้าเหล่านี้มีตราฮาลาล เก็บได้นานถึง 9 เดือน แค่อุ่นให้ร้อนก็จะกรอบอร่อยเหมือนทอดใหม่ ๆ จากกระทะ ลูกค้าสามารถตุนไว้ในตู้เย็นและจะทานเมื่อไรก็ได้

     ปีที่ผ่านมา สินค้าภายใต้แบรนด์ You Tiao Man ทั้งยังได้รับรางวัล “ทำด้วยใจ” (Made With Passion) จากการท่องเที่ยวสิงคโปร์ เป็นนแบรนด์ที่เนื้อหอมจนได้รับเชิญจากงานแฟร์ต่าง ๆ ให้ไปร่วมออกงาน ที่สำคัญขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกค้าส่งอาหารแช่แข็งรายใหญ่ของสิงคโปร์ และสินค้าของบริษัทมีวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วเกาะสิงคโปร์

     จากที่มุ่งทำธุรกิจขายส่งแบบ B2B วิกฤติโควิดกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้า การเพิ่มช่องทางจำหน่ายค้าปลีก และการเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ เหล่านี้เกิดจากการกล้าตัดสินใจ กล้าคิด และลงมือทำอย่างรวดเร็วของออเดรย์ที่เธอมองว่า “ถ้าไม่ทำก็ตาย” เมื่อบวกกับความสามัคคีของทีมงานที่ร่วมมือกันอย่างหนัก จึงทำให้ You Tiao Man ฝ่ามรสุมธุรกิจไปได้อย่างสวยงาม

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

ข้อมูล

https://vulcanpost.com/779575/you-tiao-man-founder-singapore/

https://www.businesstimes.com.sg/hub/partnering-for-success/outsiders-show-what-they-can-do

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​