บริหารธุรกิจ E-Commerce ยังไงให้มีรายได้ร้อยล้าน เปิดเคล็ดลับจาก 2 ผู้บริหาร Sellsuki

 

 

     จากทีมแชมป์ประกวดแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยและเขียนแผนธุรกิจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท Sellsuki (เซลสุกิ) ที่วันนี้มีรายได้หลักร้อยล้านบาท ปัจจัยอะไรที่ทำให้องค์กรของเขาเติบโตมาได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการแข่งขันที่หนักหน่วง

     วันนี้สองผู้บริหาร Sellsuki (เซลสุกิ)  ภัทร เถื่อนศิริ CEO และนันทวิทย์ จันทร์วาววาม CPO จะมาถ่ายทอดแนวคิดจากประสบการณ์ตรงที่ทำให้การบริหารองค์กรประสบความสำเร็จเพื่อเป็นประโยชน์กับ SME ได้นำไปปรับใช้

Starting Point

     จุดเริ่มต้นของ Sellsuki (เซลสุกิ) ก็คงคล้ายกับ Startup หลายๆ บริษัทที่เริ่มจากไปประกวดแข่งขันจากเวทีประกวด Accelerators Program ต่างๆ จนประสบความสำเร็จกับโครงการ True Incube Batch 1 โดยใช้ไอเดียที่จะต่อยอดนำทักษะความเชี่ยวชาญด้าน Tech ไปผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญเรื่อง Business เพื่อเปิดบริษัทเทคโนโลยีสร้าง Platform ให้บริการลูกค้า

     “ตอนนั้นคิดทำธุรกิจหลายอย่างมาก ตั้งแต่ทำเว็บขายเสื้อผ้าสามารถเลือกปกเสื้อเชิ้ตอัตโนมัติได้ รวมทั้งโปรเจ็กต์ทำแอปพลิเคชันสมุดนิทานขายบนระบบ IOS ซึ่งก็เฟลไป พอเฟลไปก็กลับมานั่งคิดกันว่าทำไมเราไม่ทำอะไรที่เกี่ยวกับการขายของออนไลน์เพื่อตอบรับกระแสทั้งในไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการซื้อขายของผ่านระบบแชท เกิดเป็นบริษัทเซลสุกิ ที่จะตอบโจทย์แชทคอมเมิร์ซให้ได้ 8 ปีที่แล้ว” นันทวิทย์ เล่าย้อนไปถึงที่มาของธุรกิจ

     จากวันนั้นพวกเขาได้เรียนรู้อะไรมากมายที่หากถอดรหัสความสำเร็จของพวกเขาพอสรุปได้ดังนี้

1. Business Model ต้องชัด

     ในการเริ่มต้นธุรกิจที่ดีคือ Business Model ต้องชัด หากสังเกตให้ดีหลายๆ ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมักจะทำตามใจในสิ่งที่ตัวเองอยากทำหรืออยากได้ ผลิตสินค้าหรือบริการขึ้นมาโดยที่ยังไม่รู้ว่ามีกลุ่มลูกค้ามากน้อยแค่ไหน และกลุ่มลูกค้าชอบสินค้า/บริการหรือไม่ การเริ่มธุรกิจจาก Inside out อย่างเดียวคงไม่พอต้องคำนึงถึง Outside in ด้วย และการทำ business model ที่ดีง่ายๆ คือสามารถเริ่มต้นจากกระดาษเพียงแค่แผ่นเดียวก่อน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และโอกาสความสำเร็จก่อนที่จะลงมือทำเป็นธุรกิจจริงจัง

     นอกจากนี้การทำ Business Model ไม่ควรทำแค่ตอนเริ่มต้นธุรกิจเท่านั้น ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง ราคา ตลาด ฯลฯ จึงจำเป็นต้องนำเอาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มาอยู่ในสมการของ Business model ให้มากที่สุด เปรียบเสมือนการเช็กตัวเอง ป้องกันไม่ให้เกิดคำว่าสายไปแล้วเกิดขึ้นในการทำธุรกิจ

     “3 ปีก่อนผมไปงาน LINE TV ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว แสดงว่า Business model มันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ตัวผมเองก็ตระหนักว่าธุรกิจอาจจะต้องเจอ Disrupt ได้ตลอดเวลา ดังนั้นการทำ Business model ให้ชัดเจน จะช่วยลดความเสี่ยงได้หากต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงว่าทำแล้วจะรอดไหม เปรียบดั่งเราได้ทดลองแก้ไขปัญหาธุรกิจเหล่านั้นในจินตนาการก่อนหนึ่งครั้ง” ภัทร กล่าวสนับสนุน

2. Cost Structure

     ลำดับต่อมาคือการทำ Cost Structure ให้ถูกต้อง การที่จะทำ Cost Structure ถูกต้องได้นั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรจะมีข้อมูลให้ได้มากที่สุด เช่น การแบ่ง Business Unit ในบริษัท Sellsuki (เซลสุกิ) จะแบ่งบัญชีออกเป็นตาม Business Unit เนื่องจากแต่ละหน่วยธุรกิจจะมีการทำธุรกิจและต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน บางหน่วยธุรกิจอาจจะไม่มีต้นทุนทางตรงเลยต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนเงินเดือนพนักงาน กับอีกหน่วยธุรกิจที่ให้บริการการตลาดออนไลน์ก็จะมีต้นทุนทางตรงที่ต้องนำไปจ่ายบุคคลที่สามที่ค่อนข้างสูง และเมื่อเราแยกหน่วยธุรกิจได้ชัดเจนก็จะสามารถนิยามกลุ่มลูกค้าของหน่วยธุรกิจตัวเองได้ว่าเป็นใคร กลุ่มลูกค้าเหล่านี้มีจำนวนมากน้อยขนาดมากน้อยแค่ไหนในตลาด แล้วกลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังซื้อเท่าไหร่ คำนวณ เป็นต้นทุนต่อการได้มาลูกค้าหนึ่งรายได้อีกด้วย

3. Management

    นันทวิทย์ อธิบายเพิ่มว่า เนื่องจากธุรกิจของ Sellsuki (เซลสุกิ) คือ เป็นผู้ช่วยธุรกิจออนไลน์ที่เน้นการบริการเป็นหลัก ดังนั้นการที่จะทำให้ลูกค้ามีความสุขพึงพอใจได้นั้นต้องอาศัยน้องๆ ทุกคนในองค์กร เพราะลำพังผู้บริหารคงไม่สามารถพูดคุยกับลูกค้าทุกคนได้ครบ

     หนึ่งในวิธีบริหารจัดการองค์กรของ Sellsuki (เซลสุกิ) คือแนวคิด Ownership ให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจมากที่สุด วิธีการคือ จะให้แต่ละแผนกได้มีอิสระในการบริหารแผนกให้เติบโตด้วยตัวเอง โดยหน้าที่ผู้บริหารคือ จัดการให้แต่ละแผนกแต่ละบ้านจัดการบ้านตัวเองได้ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดการตรงนี้มีประสิทธิภาพได้ต้องมีข้อมูลที่เปิดเผยให้แต่ละแผนกได้เห็นข้อมูลทั้งเรื่องการเงิน เรื่อง Human resource ในแผนกของตัวเอง หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่จำเป็นที่จะช่วยให้การทำงานดีขึ้น

     ในประเด็นนี้ ภัทร กล่าวเสริมว่า ทางบริษัทจึงพยายามทำทุกอย่างออกมาให้เป็นข้อมูลอย่างรวดเร็วที่สุด พยายามทำทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล เช่น การออกออกใบเสนอราคา, Dashboard ข้อมูลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อที่จะให้แต่ละแผนกมองเห็นต้นทุนและรายได้ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส่ตรวจสอบย้อนกลับถึงปัญหาได้

      “ผมเชื่อว่า God is in the Details  ถ้าเราทำงานละเอียดและหนักมากพอ นำมาประกอบกับข้อมูลที่เราได้รับรวดเร็วมากพอมันเป็น Key factor ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จและสามารถ Scale ขึ้นไปได้อีก”

Tips&Trick

วิธีทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท

     ในการที่จะทำให้พนักงานกว่า 90 คนมีความรู้สึกเป็น Ownership นั้นนันทวิทย์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากไม่ใช่น้อย เพราะแต่ละคนมาจากแต่ละที่ ต่างความคิด บางคนมีความคิดเป็น Entrepreneur ในขณะที่บางคนอาจประสบการณ์ยังไม่พอ ในฐานะผู้บริหารต้องมองว่าแต่ละคนเหมาะกับอะไร สิ่งสำคัญคือ ต้องเปิดโอกาสให้เขาเติบโต พร้อมที่จะซัพพอร์ตทุกคนที่มีความพร้อม มีความสามารถ มีความรับผิดชอบ

4. กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง อย่ากลัวที่จะล้ม

     หากลองพิจารณาถึงผู้ที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่รู้จักปรับตัวทั้งสิ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นันทวิทย์ จึงย้ำว่าการทำธุรกิจยุคนี้อย่าไปกลัวการเปลี่ยนแปลง

     “มันอาจจะพูดง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความกล้าใจสู้ และต้องมีความรับผิดชอบที่พร้อมจะพาทุกคนไปด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันความกล้าหาญต้องมาพร้อมกันเป็นทีม ไม่งั้นเหมือนคนๆ เดียวกำลังดึงเรือในน้ำเชี่ยว มันต้องลงจากเรือมาช่วยกันลาก คนที่เป็นผู้นำก็ต้องสัญญากับทุกคนว่าเราจะเปลี่ยน”

     นันทวิทย์ ยกตัวอย่างว่าอย่างธุรกิจของเขา Sellsuki (เซลสุกิ) ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในช่วงเริ่มต้นที่ทำธุรกิจหลายธุรกิจก็ไม่ประสบความสำเร็จ

     “เรารู้สึกว่าเราต้องล้มก่อน ไม่ได้อยากล้มนะ แต่รู้สีกว่าทำธุรกิจมันล้มได้ แต่ควรต้องล้มตอนไหน ถ้าเป็นช่วงที่อายุน้อยเราก็ยังไหวทั้งกำลังกายและกำลังใจ เพียงแต่ในการล้มแล้วต้องเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ ก้าวต่อไปก็จะแม่นและง่ายขึ้น”

5. พัฒนาตลอดเวลา

     กับช่วงเวลาที่ยังไม่ถึงสิบปีแต่ธุรกิจ Sellsuki (เซลสุกิ) สามารถเติบโตทำรายได้ร้อยล้านบาทแต่ผู้บริหารทั้งสองยังมองว่าพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จ ในการทำธุรกิจยังมีเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย

     ในฝั่ง CEO อย่างภัทร แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ตัวเขาไม่เคยคิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว รู้สึกว่าตัวเองยังต้องไปต่อ โลกเปลี่ยนเร็วเราต้องไม่หยุดนิ่ง ยังมีความสนุกที่ได้เรียนรู้แล้วก็นำเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ช่วยเหลือลูกค้า สนับสนุนลูกค้า ถ้าลูกค้าประสบความสำเร็จเราก็ประสบความสำเร็จไปด้วยเช่นกัน

    “เป้าหมายของตัวเองต้องการขับเคลื่อนธุรกิจ Sellsuki (เซลสุกิ) ไปให้ถึงพันล้านภายใน 3-5 ปีข้างหน้า”

     ไม่ต่างจากนันทวิทย์ ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่งและประสบความสำเร็จ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำต่ออีกมากมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ “PDPA” บังคับใช้จะวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคได้อย่างไร ก็ต้องศึกษาข้อมูลเรียนรู้เพิ่มในสิ่งที่ไม่รู้ นำไปประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับองค์กรและการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ

     รวมทั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรต่อใน 4 area คือ 1. Sellsuki (เซลสุกิ) Services ที่ให้บริการสนับสนุนลูกค้าในการทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น 2. Sellsuki (เซลสุกิ) Managements เช่น Order Management System, Warehouse Management, POS, Live Commerce ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ 3. Sellsuki (เซลสุกิ) Marketing Tools เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การขายของออนไลน์ดีขึ้น และ 4. Sellsuki (เซลสุกิ) Solution เป็นศูนย์รวมของทั้งสินค้าและบริการของ Sellsuki (เซลสุกิ) ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ลูกค้าในด้านความหวัง การต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งๆขึ้นไป

     “ต้องเข้าใจสิ่งที่เราทำให้ลึกซึ้ง ผมเคย Thinking fast แล้วก็ลองผิดมาแล้วในช่วงวัยเยาว์แต่ปัจจุบันผมอายุ 37 ปีถ้าจะให้ล้มแบบเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ก็อาจจะThinking slow ล้มแล้วลุก ดีกว่าเลิก”

     ถ้าคุณไม่กลัวล้มและกล้าที่จะลุยต่อคุณสามารถที่จะมีโอกาสทำธุรกิจมีรายได้เป็นร้อยล้านเหมือนกับ Sellsuki (เซลสุกิ)

 

Text: Neung Cch.

Photo: เจษฏา ยอดสุรางค์

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​