ขายขนมโฮมเมดยังไงให้ธุรกิจอยู่ได้เป็นสิบปี เก่ง Sydney เจ้าของขนม Biscotti ทุกชิ้นต้องบาง 2 มิลลิเมตร

 

 

     ย้อนไปสักสิบปีการจะยึดอาชีพทำเบเกอรี่โฮมเมดอย่าง Biscotti ขนมที่หลายๆ คนในยุคนั้นอาจไม่ค่อยรู้จัก ที่สำคัญเป็นการขายแบบไม่มีหน้าร้านคงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครคิดบุกเบิกตลาดนี้

     แต่ เก่ง-นครินทร์ นุตาลัย ที่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและนำความรู้ที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ พยายามหาทางออกเปิดตลาดในเมืองไทย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความท้าทายหลายประการ ตั้งแต่ตัวขนมยังไม่เป็นที่รู้จัก เมื่อนำไปฝากขายจึงมักถูกปฏิเสธ ยังไม่นับรวมถึงความพิถีพิถันที่ขนมทุกชิ้นของเขาจะต้องมีความบางเพียง 2 มิลลิเมตร แต่เขาก็ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้และสร้างแบรนด์ขนม เก่ง Sydney ขึ้นมาจนกลายเป็นขนมที่มีลูกค้ายอมจองคิว 6 เดือน กลายเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงเขาและครอบครัวมากว่าทศวรรษ

จากเด็กนิเทศสู่เชฟซิดนีย์

     เหรียญมีสองด้านฉันใดชีวิตของเก่งก็ไม่ต่างจากนั้น เพราะอาชีพเชฟในสมัยก่อนอาจยังไม่เป็นที่นิยมและดูเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงเหมือนสมัยนี้ทำให้เก่งตัดสินใจไปคว้าปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ตามความประสงค์ของทางบ้าน ก่อนจะทำตามฝันตัวเอง ไปเรียนต่อทางด้านทำอาหารที่โรงแรมดุสิตธานีที่ยิ่งเรียนก็ยิ่งสนุกจึงบุกไปหาความรู้ต่อที่ สถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ (Le Cordon Bleu) ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

     “เราเรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ที่โน่น แต่ว่าทางบ้านอยากให้กลับมาช่วยทำธุรกิจอพาร์ทเม้นต์ เรียกให้เรากลับมาแต่ปรากฏว่าพอกลับมางานทุกอย่างลงตัวเรียบร้อยแล้ว แม้จะโชคร้ายไม่ได้ช่วยธุรกิจที่บ้านแต่ก็ถือว่าโชคดีเพราะเราเลยตัดสินใจนำวิชาชีพที่ตัวเองชอบไปเรียนมาทำขนมขาย”

ได้เวลาโชว์ฝีมือ

     ถึงแม้เก่งจะสามารถทำอาหารได้ทั้งของคาวและของหวาน แต่ในความคิดของเขาอาหารคาวเป็นของที่เหมาะกับทานร้อนๆ เสิร์ฟแบบสดใหม่ หากคิดจะขายอาหารคาวต้องมีหน้าร้าน การทำขนมจึงเป็นคำตอบของการเริ่มต้นธุรกิจของเก่ง

     หลังจากที่ได้สำรวจตลาดในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานั้นเก่งพบว่าขนมส่วนใหญ่ที่วางขายในท้องตลาดจะเป็นขนมที่มีรสหวานจัดหรือไม่ก็มันจัด ทำให้คิดถึงคนรอบตัวที่เป็นผู้สูงวัยมักมีโรคเบาหวาน ความดัน พลันทำให้เขานึกไปถึงทำขนม Biscotti ที่เป็นขนมของอิตาลี ซึ่งขนมตัวนี้มีความ healthy มากที่สุดในบรรดาที่เขาได้ไปเรียนมาเพราะไม่มีการใส่ เนย น้ำมัน ใส่แค่ ไข่ แป้ง น้ำตาล ขนมตัวนี้จึงน่าจะเหมาะที่จะทำตลาด  

     “ขนมมีลักษณะคล้ายคุ้กกี้แต่จะหนา มีความแข็ง กรอบ ในเวลานั้นเรียกได้ว่ายังไม่มีร้านค้าไหนทำนอกจากโรงแรม และในโรงแรมก็จะทำขนมที่เป็นแบบดั้งเดิมคือ แผ่นใหญ่ เพราะคนอิตาลีนิยมนำมาไปจุ่มในชา กาแฟ แต่มันขัดกับนิสัยคนไทยที่ชอบทานกรอบๆ ผมจึงนำมาทำให้ทานง่ายขึ้น”

ขนมพร้อม ขาดแต่ที่ขาย

     ถ้าสิบปีก่อนการขายออนไลน์เฟื่องฟูอย่างในปัจจุบัน นครินทร์ คงไม่ต้องขับรถตระเวนไปหาร้านฝากขนมตามตลาดชื่อดัง อย่าง อตก. บองมาร์เช่ สัมมากร ซึ่งการหาร้านขนมฝากขายว่ายากแล้ว การแนะนำให้เจ้าของร้านรู้จักขนมก็ยากไม่แพ้กัน ด้วยความที่เป็นขนมที่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมความหวังที่จะได้ขายขนมแทบเป็นศูนย์

    “ไปเจอร้านหนึ่งที่บองมาร์เช่ ตอนแรกเจ้าของร้านก็ไม่อยากรับเพราะเขาไม่รู้จักขนม ผมกับแฟนต้องอธิบายให้พี่เจ้าของร้านฟังว่าขนมนี้ก็คล้ายๆ คุ้กกี้ ก็ต้องพูดอธิบายอยู่นานจนเขาจะยอมรับฝาก”

     เมื่อขนมที่อยู่ในมือกว่า 10 ถุงมีที่วางขายแล้ว ช่วยบรรเทาความเหนื่อยพวกเขาให้หายไปแต่ไม่ถึงสองชั่วโมง ก็มีสายโทรศัพท์เรียกเข้า ซึ่งเมื่อ นครินทร์ รับสายได้ยินเสียงปลายทางพูดว่า “ขนมที่ฝากขายหมดแล้วมีอีกไหม”

งานโฮมเมด ที่เครื่องจักรทำไม่ได้

     สาเหตุที่ขนมขายดีตั้งแต่เริ่มต้นนั้น นครินทร์ บอกว่าเป็นเพราะว่าตัวเขาพิถีพิถันในการทำทุกอย่าง และมีการปรับรสชาติให้เหมาะกับคนไทย โดยทั่วไปถ้าเป็นขนมคุ้กกี้หรือขนมเค้กจะอบเพียงครั้งเดียว แต่สำหรับขนม Biscotti นี้ เขาต้องทำการอบถึงสองครั้ง และเมื่ออบเสร็จแล้วต้องใช้มีดหั่นทุกชิ้นเพื่อให้ขนาดเล็กที่สุดคือ 2 มิลลิเมตร

     “เคยไปจ้างให้ช่างทำเครื่องตัด ปรากฏว่าทำเครื่องหั่นได้เล็กสุด 2 เซ็นติเมตร แต่เราต้องการ 2 มิลลิเมตร เพราะถ้าหนาเกินไปคนสูงวัยทานไม่ได้ พวกเบเกอรี่ถ้าไม่ใส่ไขมันเป็นส่วนประกอบมันจะแข็ง ต้องทำให้บางได้ทานง่าย คนไทยชอบกรอบ คล้ายๆ ข้าวเกรียบ”

     เก่งบอกว่าหัวใจสำคัญของการทำอาหารคือคุณภาพ เขาจะไม่ยอมให้ขนมที่ไม่ได้มาตรฐานหรือรสชาติผิดเพี้ยนออกไปสู่ตลาด จะทำให้ลูกค้าไม่เชื่อถือ ด้วยความใส่ใจนี้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขนมของเขาจึงได้รับการบอกต่อแบบปากต่อปาก จากลูกค้าที่ซื้อไปทานเองก็เป็นลูกค้าในองค์กรออฟฟิศ อาทิ พนักงานแบงก์ พนักงานการไฟฟ้า ที่มักซื้อไปฝากลูกค้าหรือไปสวัสดีปีใหม่

     “ช่วงที่พีคที่สุดขนมต้องรอคิวกัน 6 เดือน ช่วงนั้นทำขนมตั้งแต่ตี 5 ไปปิดไฟตอน 4 ทุ่ม เป็นแบบนี้สองปี จนมีลูกเราก็เริ่มแบ่งเวลาให้ลูกมากขึ้น เมื่อลูกเราโตรอเวลาที่พร้อมกว่านี้เราก็อาจเปิดโรงงานผลิตขนมซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไป”

     หลายคนอาจวัดความสำเร็จของธุรกิจเป็นตัวเลข แต่สำหรับเก่งเขามองว่าความสำเร็จของเขาในวันนี้คือ คือการได้มีเวลาอยู่กับคนที่รักและยังได้ทำในสิ่งที่ชอบนั่นคือการทำขนม ที่เขาเรียกมันว่า “ความสุข”

 

ข้อมูลติดต่อ

โทรศัพท์ 08 3305 0992

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​