เทรนด์ Sip and shop มาแรง ขายสินค้าพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายร้านค้าอังกฤษเริ่มแล้ว

 

 

      ธุรกิจบริการในปัจจุบันการขายสินค้าหรือบริการแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ จำเป็นต้องพ่วง “experience retail” หรือประสบการณ์ที่จะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยโดยเฉพาะบรรดาร้านค้าแบบ physical store ที่มีหน้าร้านยิ่งต้องใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้หันเหจากร้านค้าออนไลน์มาใช้บริการที่ร้าน

      กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ระหว่างใช้บริการมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ ธุรกิจแฟชั่นที่นำกระจกอัจฉริยะ หรือระบบการวัดรูปร่างแบบดิจิทัลมาใช้ในการลองเสื้อผ้า ร้านเครื่องสำอางที่ลูกค้าสามารถทดลองแต่งหน้าเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented reality) หรือร้านค้าปลีกทั่วไปที่นำรูปแบบ omni channel มาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการอย่างลื่นไหลไม่สะดุด

      ที่อังกฤษ เทรนด์การสร้างประสบการณ์ที่กำลังมาแรงคือ “Sip and shop” หรือการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปพร้อม ๆ กับสินค้าและบริการอื่นในร้าน ธุรกิจที่จับกระแสนี้มีหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น ร้านสะดวกซัก Laundry and Latte ในเมืองเอสเซ็กซ์ที่ก่อตั้งโดยซาร่าห์ เจมส์ อดัม และดี แอนเดอร์สันและเพิ่งเปิดบริการเมื่อปีที่แล้ว Laundry and Latte  เป็นทั้งร้านซักอบและคาเฟ่ที่บริการเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมถึงแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์อย่างถูกต้องตามกกหมาย ซาร่าห์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกล่าวว่าอยากให้ลูกค้าที่มาใช้บริการได้เพลิดเพลินกับไวน์ดี ๆ ระหว่างรอผ้าซัก

      Laundry and Latte เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์  “Sip and shop” ที่กำลังมาแรง ธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจบริการ เช่น ร้านเสริมสวยล้วนหันมาเพิ่มบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าทั้งสิ้น อีกธุรกิจหนึ่งที่มีบริการ Sip and shop คือร้านฮานาโกะ (Hanako) ที่เป็นผนวกร้านดอกไม้เข้ากับบาร์แชมเปญจนสร้างความสับสนให้ลูกค้า ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นบาร์แชมเปญและดอกไม้นั้นคือของสำหรับตกแต่งร้าน กระทั่ง 3 เดือนผ่านไป ลูกค้าจึงเริ่มเข้าใจคอนเซปต์ร้าน  

     เฮลี เบนตัน เจ้าของร้านฮานาโกะวัย 33 ปีกล่าวว่าเธอมองเห็นช่องว่างในตลาดเกี่ยวกับการที่ผู้บริโภคกระหายประสบการณ์เมื่อใช้บริการ ร้านดอกไม้ของเธอจึงเป็นร้านแรกของโลกที่มีบริการแชมเปญให้ลูกค้าจิบระหว่างรอพนักงานจัดดอกไม้ให้ นอกจากแชมเปญ ทางร้านยังจำหน่ายเครื่องดื่มร้อนเย็น และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นด้วย มีลูกค้าผู้ชายมากมายแวะเวียนมานั่งดื่มเบียร์ หรือจิบกาแฟระหว่างรอรับดอกไม้ นอกจากนั้น ทางได้เปิดเวิร์กช้อปสอนจัดดอกไม้ ซึ่งเป็นอีก experience retail ที่ลูกค้าสนใจและได้รับความนิยมอย่างมาก

     ด้านคริสซี่ ไรอัน เจ้าของร้านบุ๊คบาร์ (BookBar) ที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อปี 2021 ไม่เพียงเป็นร้านจำหน่ายหนังสือ แต่คริสซี่ยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเปิดตัวหนังสือของบรรดานักเขียน การสร้างชมรมคนรักการอ่านที่มีสมาชิก 200 คน รวมถึงการสร้างชุมชนคนรักกาแฟและไวน์เพื่อให้สมาชิกได้จิบไวน์ดื่มกาแฟระหว่างอ่านหนังสือไปด้วย การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริการทำให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในร้านนานขึ้น ลูกค้าบางคนตั้งใจจะเข้ามาดื่มไวน์สักแก้ว แต่กลับออกไปพร้อมหนังสือกองโตก็มี ส่งผลให้ยอดขายในร้าน 70 เปอร์เซนต์มาจากการขายหนังสือ   

     สำหรับบรรดาร้านค้าปลีกทั้งหลายที่ต้องการเพิ่มบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจะต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถดำเนินเรื่องเอง หรือให้บริษัทตัวแทนจัดการให้ก็ได้ เจมส์ แอนเดอร์สันแห่งบริษัทป๊อปเปิลตัน อัลเลนที่ให้บริการยื่นใบขออนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์ระบุในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีร้านค้ามาใช้บริการขอใบอนุญาตเยอะขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการเข้าผับเพื่อดื่มอย่างเดียวแต่ต้องการทำกิจกรรมอื่นไป จึงก่อให้เกิดเทรนด์ Sip and shop คาดว่าเทรนด์นี้จะต่อเนื่องไปอีกนาน และในหลายปีข้างหน้า จำนวนธุรกิจที่ขออนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น  

     อย่างไรก็ตาม กระแส Sip and shop ก็สร้างความวิตกว่าเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนบริโภคแอลกอฮอล์มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็อาจทำให้ไม่ปลอดภัยนัก เดวิด วิลสัน ตัวแทนจาก Alcohol Change UK องค์กรไม่แสวงกำไรที่รณรงค์เรื่องอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคนที่มีปัญหาเสพติดการดื่มมองว่า Sip and shop เป็นเพียงกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง ในขณะที่ธุรกิจได้ประโยชน์ แต่โทษอาจตกแก่ผู้บริโภค

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

ข้อมูล : https://www.bbc.com/news/business-61077756

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​