คิดแบบ Startup ทำแบบ SME วิธีปั้นธุรกิจให้แข่งกับรายใหญ่ได้ สไตล์คู่รักนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ Pynpy’

 

 

       จากกระแสการบริโภคแบบรักษ์โลก ที่ช่วยลด ละ เลิกการสร้างปริมาณขยะให้กับระบบนิเวศน์ “ผ้าอนามัย” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกพูดถึงและมักมีนวัตกรรมทางเลือกใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ ตั้งแต่ถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยซักได้ ผ้าอนามัยออร์แกนิก จนถึงล่าสุด คือ กางเกงในอนามัย ซึ่ง Pynpy’ คือ กางเกงในอนามัยสัญชาติไทยแบรนด์แรกของไทย ที่ทำออกมาเพื่อเหมาะกับสรีระของผู้หญิงไทยและผู้หญิงเอเชียโดยเฉพาะ

      โดยแค่เปิดตัวครั้งแรก ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ซึ่งเพียงเดือนเดียวก็สามารถขายได้หมด 300 กว่าตัว แถมเปิดตัวมาได้ 2 ปี มีฐานลูกค้าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้แล้วกว่าหลายพันคนด้วยกัน ปัจจุบันมีจำหน่าย 2 รุ่น ได้แก่ Classic Cut ราคา 1,190 บาท และรุ่น Seamless แบบไร้ขอบ เว้าสูง ราคา 1,290 บาท อะไรทำให้ผู้บริโภคยอมเปิดรับแบรนด์ได้ทั้งที่เป็นสินค้าใหม่ และการทำสินค้านวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จแบบ SME ควรต้องคิดเช่นไร ลองไปรับฟังพร้อมกัน

     อรกานต์ สายะตานันท์ - กานต์ และ Tomas Prochazka สองนักธุรกิจคู่รักเจ้าของแบรนด์ Pynpy’ ได้วิเคราะห์ว่าการที่กางเกงในอนามัย Pynpy’ เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จได้อย่างวันนี้ น่าจะมาจากวิธีคิดสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1. คิดให้ใหญ่เข้าไว้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะใหญ่ตาม

      โดยถึงแม้จะเริ่มต้นจาก Pain Point จุดเล็กๆ จากประสบการณ์ของตัวเอง (อ่านข่าวต้นเรื่องได้ที่ www.smethailandclub.com/entrepreneur/8068.html ) แต่ทั้งคู่มองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นไม่ได้เล็กเลย เพราะหากสามารถทำออกมาได้สำเร็จจะสามารถช่วยเหลือผู้คน และเป็นทางเลือกให้กับผู้หญิงในไทยได้มากกว่าหลายสิบล้านคนทีเดียว

     "ปัญหาเกิดขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้นมาจากตัวเราก็จริง ซึ่งเคยไปเที่ยวใกล้กับช่วงที่ประจำเดือนกำลังจะมา แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามาวันไหน ทำให้ต้องใส่รอไว้ จนกระทั่งผ้าอนามัยหมด แต่ประจำเดือนดันมาในช่วงกลางคืน เป็นเหตุฉุกเฉินทำให้เราเตรียมตัวไม่ทัน จากวันนั้นเราก็คิดถึงวิธีแก้ไขปัญหา บวกกับมีความสนใจเรื่องการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน และสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เราจึงพยายามหานวัตกรรมเพื่อมาตอบโจทย์ เพราะนอกจากปัญหาที่ไม่รู้ว่าประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่แล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัยอีกหลายอย่าง เช่น ความไม่สบายตัว บางคนก็แพ้ผ้าอนามัย เราอยากทำให้วันที่มีประจำเดือนกลายเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่เราสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และคล่องตัว ซึ่งคิดว่าหากทำได้ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้หญิงได้อีกหลายสิบล้านคนให้มีทางเลือกมากขึ้น" ทั้งคู่เล่าที่มาจุดเริ่มต้นการคิดค้นนวัตกรรมให้ฟัง

      โดยเมื่อมีการตั้งเป้าหมายและมองภาพใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้น จึงทำให้ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรก็ตามจึงต้องทำให้ครอบคลุมทุกส่วน ตัวอย่างเช่น มาตรฐานทุกตัวที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัย เพราะต้องนำมาใช้กับจุดซ่อนเร้น

     โดยในกระบวนการทำงานจะแบ่งทีมออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทีมวิศวกรสิ่งทอและสูตินารีแพทย์ในไทย เพื่อออกแบบให้เหมาะกับสรีระของผู้หญิงไทย และมีประสิทธิภาพสามารถซึมซับรองรับประจำเดือนได้ดี และ 2.ทีม R & D จากห้องแลปที่ยุโรป เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดยหากมีมาตรฐานใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาแบรนด์ก็ต้องคอยอัพเดตอยู่เสมอ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค

      ซึ่งจากเหตุผลที่กล่าวมานี่เอง จึงทำให้แม้จะเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีผลิตมาก่อนในไทย แต่ลูกค้าก็สามารถยอมรับได้ไม่ยาก ไปจนถึงการต่อยอดการเติบโตต่อไปในอนาคตก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากในไทยแล้ว แบรนด์ยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสรีระและความต้องการใกล้เคียงกับคนไทย

2. ประยุกต์วิธีคิดจากโปรดักต์ดิจิทัล สู่สินค้าใช้จริงในชีวิตประจำวัน

      โดยก่อนหน้าที่จะมาทำแบรนด์ Pynpy’ นั้นทั้งกานต์และโทมัสเคยมีประสบการณ์ในการทำแอปพลิเคชันที่เป็นดิจิทัลโปรดักต์มาก่อน ซึ่งใช้วิธีคิดและกระบวนการทำงานแบบรวดเร็วที่เรียกว่า “Agile Methodology” คือ การเน้นที่เป้าหมายเป็นสำคัญ โดยที่วิธีการและขั้นตอนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์นั้นๆ

       “เราแค่เอาองค์ความรู้ที่เคยทำดิจิทัลโปรดักต์มาปรับใช้กับสินค้าที่เป็น Physical Product หรือสินค้าที่จับต้องได้ โดยใช้เทคโนโลยีและ AI เข้ามาช่วยจัดการ ดังนั้นจึงช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการทำงานลง แต่ได้ประสิทธิภาพสินค้าที่มากขึ้น อย่างเวลาได้รับฟีดแบ็กอะไรจากลูกค้า เราก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ทันที วิธีการทำงานแบบ Agile Methodology จะเป็นเหมือนภาพวงล้อ คือ กระจายออกไปได้หลายทิศทาง

       “สมมติเจอปัญหาที่ 1 เราอาจลองแก้ด้วยวิธีที่ 1, 2, 3, 4 ในหนึ่งปัญหาอาจมีหลายสิบโซลูชั่นให้เลือก อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้โซลูชั่นอะไรในเวลานี้เท่านั้น หรือในขณะที่เราก้าวออกมาแล้ว 1 ก้าว ก็อาจถอยหลังกลับไปอีก 2 ก้าวก็ได้ ไม่มีอะไรตายตัว ผิดกับวิธีการทำงานสมัยก่อนที่เรียกว่า “Waterfall” เป็นการทำงานแบบเรียงลำดับ 1, 2 3 4 มีเส้นทางเดียวคล้ายกับสายน้ำตกที่ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ทันกับความของผู้บริโภคทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาในวันนั้น จึงอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับวันนี้แล้วก็ได้ หากเรายังช้าอยู่”

       นอกจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ก่อนจากกันวันนั้น ทั้งคู่ยังได้ฝากแง่คิดเล็กๆ ไว้ให้กับเพื่อนผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วยว่า

      “เราอาจทำนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่จะช่วยให้พัฒนาต่อยอดเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดได้ คือ เราต้องฟังเสียงจากผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้งานจริงให้มากที่สุด ยกตัวอย่าง ช่วงแรกเราทำไซส์ออกมาแค่ S – 3XL แต่พอเราได้ลองพูดคุยกับลูกค้าจึงทำให้รู้ว่าจริงๆ เขาอยากมีตัวเลือกมากกว่านั้น เราจึงปรับเพิ่มไซส์ขึ้นมาให้มีตั้งแต่ 3XS – 5XL รวมทั้งหมด 11 ไซส์ ครอบคลุมทุกสรีระผู้หญิงไทยได้หมด

     "อีกข้อที่อยากฝาก คือ อยากให้ทำสินค้าที่มีประโยชน์ ช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้คนได้ เพราะนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นได้แล้ว ในทางธุรกิจเองสินค้าที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ก็มักจะได้รบการตอบรับที่ดีและอยู่ในตลาดได้ยืนยาวกว่าสินค้าทั่วไปนั่นเอง” คู่รักเจ้าของแบรนด์ Pynpy’ กล่าวทิ้งท้าย

 

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : Pynpy’

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​