ฟังเรื่องเล่าของหนุ่มนักสู้ จากเด็กวัย 19 ปี ที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจ สู่เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้เบอร์ต้นๆ ของไทย

 

 

      อายุ 19 เริ่มทำธุรกิจ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุคที่เทคโนโลยียังไม่เบ่งบานมีตัวช่วยให้เลือกมากมายเหมือนเช่นทุกวันนี้ แถมยังต้องมาแบกรับหน้าที่ดูแลธุรกิจครอบครัวในวันที่ประสบการณ์แทบจะเป็นศูนย์จากอุบัติเหตุชีวิตในวันที่ต้องสูญเสียบิดาไปแบบกระทันหัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะคลำหาทางไปได้ถูก

     แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ “จิรวัฒน์  ตั้งกิจงามวงศ์” ซึ่งปัจจุบัน คือ หนึ่งในเจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้แบรนด์ “DEESAWAT” (ดีสวัสดิ์) ที่รับช่วงต่อมาจากคุณพ่อคิดถอดใจ ในวันนั้นเขากลับเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมดเหมือนเด็กหัดเดิน ด้วยการทำความรู้จักกับธุรกิจของตัวเองใหม่อีกครั้งแบบที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มีเรื่องราวเหตุการณ์ความกล้าอะไรบ้างที่เราสามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการทำธุรกิจได้ไปดูพร้อมกัน

วิ่งหาหน่วยงานให้ช่วย ประเดิมออร์เดอร์แรกด้วยการส่งออก

      จิรวัฒน์เล่าว่าในวันที่เขาต้องมารับช่วงต่อธุรกิจเขาแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจสักเท่าไหร่เลย ภาพที่เห็น คือ กองไม้ที่สุมพะเนินเทินทึกไม่รู้ไม้อะไรเป็นอะไร แม้แต่แค่แยกไม้เขายังแยกไม่ออกเลยว่าเป็นไม้ชนิดไหน ในตอนนั้นสิ่งที่รู้เพียงอย่างเดียวที่เป็นปัญหาธุรกิจ คือ ไม่สามารถส่งออกได้

      โดยแต่เดิมนั้นธุรกิจที่คุณพ่อของเขาทำอยู่ คือ โรงไม้ และเฟอร์นิเจอร์งานไม้ปักมุกเป็นหลัก ปัญหาตอนนั้น คือ หนี้สินก้อนโตที่ยังคงอยู่ วิธีการที่จะช่วยแก้ไขได้ คือ การส่งออก ซึ่งบังเอิญที่อยู่ดีๆ ก็มีลูกค้าคนหนึ่งสนใจสั่งออร์เดอร์เก้าอี้สนามเข้ามาหนึ่งตัว จึงทำให้จิรวัฒน์เกิดไอเดียในการหาทางออกให้ธุรกิจ เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์สนามไม่ต้องทำสี ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขาก็ยังไม่ได้ลงทุนแผนกสี

      หลังจากทดลองทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สนามขึ้นมาตัวแรกให้กับลูกค้า จิรวัฒน์ก็สานต่อเรื่องการทำธุรกิจส่งออก แต่ปัญหา คือ ในวัยเพียง 19 ปี เขาไม่มีความรู้ด้านการส่งออกใดๆ เลย

      จิรวัฒน์ใช้วิธีค้นหาข้อมูลหน่วยงานที่ช่วยเหลือด้านการส่งออก จนมาเจอเข้ากับกรมส่งเสริมการส่งออก (ปัจจุบัน คือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) เขาไม่รีรอที่จะเดินดุ่มๆ เข้าไปขอความรู้กับผู้อำนวยการของหน่วยงาน สร้างความตกใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่พบเห็นว่าเด็กอายุ 19 มาทำอะไรที่นี่ จิรวัฒน์เล่าเรื่องเล่าธุรกิจที่เกิดขึ้น จนในที่สุดเขาก็ได้พื้นที่เล็กๆ ในกรมส่งเสริมฯ ให้นำชิ้นงานมาวางตั้งโชว์พร้อมติดป้ายชื่อแบรนด์ เผื่อมีลูกค้าสนใจ นอกจากนี้เวลามีคอร์สอบรมอะไร หรือสอบชิงทุนต่างๆ เขาก็ไม่พลาดที่จะลงสมัคร ใช้เวลาอยู่หนึ่งปีเต็มๆ เขาจึงได้เรียนรู้โลกธุรกิจมากขึ้น

บุกงานแฟร์ระดับโลก จับลูกค้ารายใหญ่ ด้วยมือเปล่า

      จากธงธุรกิจที่ตั้งไว้ว่าเขาจะนำพาธุรกิจมาสู่การทำเฟอร์นิเจอร์สนาม หรือเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง เพื่อส่งออก ความท้าทายต่อมาที่จิรวัฒน์คิดไว้ คือ การไปเยือนยังงานเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก ภาพของเด็กวัยรุ่นตอนปลายตัวคนเดียวกับงานแฟร์ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ คือ ภาพของจิรวัฒน์ในวันนั้น

       จิรวัฒน์ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวด้วยการซื้อตั๋วเครื่องบินและแบ็กแพ็กเพื่อไปเยือนยังงานดังกล่าว เป้าหมายในการไปครั้งนั้นอย่างเดียวของเขาเลย คือ การหาเจ้าใหญ่ที่สุดในงาน เพื่อมากอบกู้ธุรกิจ แต่อย่าลืมว่าเขา คือ เด็กวัยรุ่นตอนปลาย แถมเพิ่งเรียนรู้ธุรกิจได้ไม่นานเท่าไหร่

       สิ่งที่จิรวัฒน์ทำ ก็คือ เขาทำการบ้านอ่านศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปอย่างดี แต่แน่นอนยังไงก็คงไม่พ้นเสียงดูแคลนจากเจ้าของบูธที่มาออกงานว่า “นี่งานระดับนักธุรกิจคุยกันนะ ไม่ใช่งานให้มาเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่งงบ้าน”  จิรวัฒน์ไม่ได้สนใจอะไร เป้าหมายของเขา คือ การเดินหาผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดในงาน จนกระทั่งเจอเข้ากับเป้าหมาย จิรวัฒน์ทำทีไปเดินชมเฟอร์นิเจอร์ ก่อนเอ่ยปากชมชิ้นงานของลูกค้า แถมเขาใช้ความรู้ที่เพิ่งอ่านมาจากตำราสดๆ ร้อนๆ ทำทีอธิบายเทคนิคของการทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น “เฟอร์นิเจอร์นี้เป็นเอาท์ดอร์คุณควรใช้สีระดับไมโครพอรัส ((Microporous)) ที่มีโมเลกุลเล็ก ทำให้น้ำระเหิดออกมาได้ แต่ด้วยรูที่เล็กเกินไปน้ำจึงไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้รักษาเนื้อไม้ได้ดี แต่หากทาด้วยแลคเกอร์ใช้ไปนานๆ ไม้จะหดตัว ทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้งานได้”

       คำพูดของเขาเพียงประโยคสั้นๆ ทำให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ใหญ่ถึงกับหันมาสนใจ จนถามเขาเพิ่มเติมว่ามาเดินดูงานด้วยจุดประสงค์อะไร จิรวัฒน์แนะนำตัวเองสั้นๆ พร้อมกับบอกว่าเขากำลังมาหาลูกค้าที่ดีลงานด้วยกันอยู่ ทั้งที่ความจริงแล้วยังไม่มีสักราย จนกระทั่งเมื่อปลากินเหยื่อและเอ่ยขอนามบัตร เขาจึงยื่นส่งนามบัตรให้ จากนั้นไม่นานเขาก็ได้ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เจ้าแรกพร้อมกับออร์เดอร์ใหญ่ 17 ล้านบาท จากการสั่งทำเฟอร์นิเจอร์กว่า 200 ชิ้น

       แต่การทำงานแมสในปริมาณมากๆ ในโรงงานผลิตที่ทำงานคราฟต์มาก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เหมือนเช่นเดิมจิรวัฒน์เข้าไปขอคำปรึกษาหน่วยงานภาครัฐอีกครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่เขาเข้าไปปรึกษาครั้งนั้น ก็คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อช่วยงานแผนการทำงานให้ มีการส่งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยดู จนในที่สุดเขาก็สามารถส่งมอบออร์เดอร์ใหญ่ครั้งแรกในชีวิตสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แถมยังเป็นการส่งมอบงานได้อย่างสมบูรณ์แบบไม่เสียเลยสักตัว ลูกค้าทึ่งในความสามารถ จนเอ่ยปากชมและถามว่าทำได้อย่างไร จิรวัฒน์บอกเพียงสั้นๆ ว่าเขาตั้งใจทำขึ้นมาและตั้งใจตรวจคุณภาพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จนสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ และกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธุรกิจต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปีจนกระทั่งเกษียณอายุไป

       และนี่คือ เรื่องราวเล็กๆ ส่วนหนึ่งของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยที่ชื่อว่า DEESAWAT ที่กว่าจะสำเร็จก้าวขึ้นมาอย่างทุกวันนี้ได้ต้องผ่านการฝึกฝนฝึกปรือวิทยายุทธ์ในเกมธุรกิจมาแบบนับไม่ถ้วน โดยหลังจากเริ่มตั้งไข่หัดเดินได้ด้วยตนเองแล้วจิรวัฒน์พยายามชาเลนจ์ตัวเองอยู่เสมอด้วยการเข้าแข่งขันประกวดชิงรางวัลในรายการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเฉพาะแค่ถึงวันนี้ก็มากกว่า 22 รางวัลแล้ว

 

เรียงเรียงจาก : สัมมนาถอด DNA ความสำเร็จแบบวิถีโตโยต้า ในหัวข้อ “แนวคิดในการทำธุรกิจแบบ TOYOTA WAY”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​