Shaken Udder อาณาจักรนมปั่น ร้อยล้าน ตำนานคู่รักเลื่อนงานแต่งนำเงินมาสร้างธุรกิจ

 

 

      ดวงของคนจะรวยบางทีไม่เกี่ยวกับโชค แต่มาจากการมองเห็นช่องว่างในตลาด วันนี้มีเรื่องเล่าจากอังกฤษของคู่สามีภรรยาที่ยอมเลื่อนพิธีแต่งงานถึง 2 ครั้งเพื่อนำเงินที่จะใช้จัดงานไปปลุกปั้นธุรกิจ จนปัจจุบัน “Shaken Udder” กลายเป็นแบรนด์นมปั่นพรีเมียมยอดนิยมที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วอังกฤษ ทำรายได้ปีละ 250 กว่าล้านบาท  

      โจดี้ ฟาร์รัน วัย 40 และแอนดรูว์ ฮาววี อายุ 43 ปีเริ่มต้นธุรกิจนมปั่น หรือมิลค์เชคตั้งแต่ปี 2004 เกือบ 20 ปีผ่านไป ทั้งคู่ได้รับการจดจำในฐานะคู่รักเจ้าของอาณาจักรมิลค์เชคพรีเมียมร้อยล้าน แต่กว่าจะฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ พวกเขาต้องทำงานหนักชนิดหามรุ่งหามค่ำ ไปดูเส้นทางธุรกิจของพวกเขากัน

      โจดี้และแอนดรูว์เป็นชาวเมืองทิปทรีในเอสเซ็กซ์ เจอกันขณะศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยริทเทิ้ล ความที่มีรสนิยมและสิ่งที่สนใจคล้ายกัน ได้แก่ อาหาร การเกษตร และดนตรีทำให้ทั้งคู่เริ่มคบหากัน โจดี้เป็นคนชอบดื่มนมถึงขั้นเสพติดต้องดื่มวันละไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร แต่จุดที่ทำให้เกิดการสร้างแบรนด์คือไม่ว่าเมื่อใดที่เธอและแอนดรูว์ไปเที่ยวเทศกาลดนตรีหรือร่วมเทศกาลต่าง ๆ ช่วงฤดูร้อนแล้วซื้อเครื่องดื่มนมปั่นเย็นที่ขายในงาน โจดี้ไม่เคยเจอนมปั่นรสชาติถูกใจเลย ที่วางขายส่วนใหญ่เป็นนมคุณภาพแย่ที่แต่งกลิ่น สีและรสชาติแถมยังไขมันสูง

      “ตอนนั้นเรามองเห็นช่องว่างในตลาดเพราะยังไม่มีใครผลิตนมปั่นคุณภาพสูงแบบทำขายสด ๆ “ ปี 2004 ทั้งคู่เริ่มทดลองทำนมปั่นบรรจุขวดไปขายตามงานดนตรี เช่น งานแกสตันเบอรี งานรีดดิ้ง และงานเบสติวัล นมที่พวกเขาผลิตสไตล์โฮมเมดเป็นนมพรีเมี่ยม ไม่เจือสีหรือแต่งกลิ่นหรือรสชาติ เลือกใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่นผลไม้สดที่ผสมในนม หรือช้อคโกแลตก็คัดเลือกคุณภาพดีจากเบลเยี่ยม  

       ผลตอบรับเรียกว่าดีมากเพราะตอนนั้นนมปั่นผลิตแบบสดใหม่ยังไม่มีใครทำขายในตลาด ช่วง 3-4 ปีแรกของการทำธุรกิจ จึงเป็นการตระเวนออกบู้ทขายตามงานต่าง ๆ จนกระทั่งเริ่มมีลูกค้าหลายรายถามว่าหากไม่มีงานอีเวนต์ จะหาซื้อ Shaken Udder ได้ที่ไหน โจดี้และแอนดรูว์ซึ่งตอนนั้นขยับสถานะเป็นคู่หมั้นกันแล้วจึงเริ่มนึกถึงการขยายธุรกิจเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกเวลาและทั้งปี

       พวกเขายอมเลื่อนการแต่งงานออกไปก่อนเพื่อลงมือหาข้อมูลและทำวิจัยตลาดอย่างจริงจัง ทั้งสำรวจตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เพื่อประเมินตลาดและคู่แข่ง สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าจะลุยทำธุรกิจนี้เพราะมั่นใจว่าสินค้าที่พวกเขาผลิตมีดีเหนือนมปั่นที่ขายตามชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ปี 2008 ถือเป็นก้าวแรกของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อฝ่ายจัดซื้อของฮาร์วีย์ นิโคลส์ ห้างหรูของอังกฤษซึ่งเคยชิมนมปั่น Shaken Udder จากงานเทศกาลแล้วเกิดติดใจจึงติดต่อนำมาขายในห้าง

       จากนั้นก็มีห้างอื่น ๆ ติดต่อมา งานแต่งงานถูกเลื่อนเป็นครั้งที่สองเมื่อโจดี้และแอนดรูว์ต้องนำเงินเก็บ 15,000 ปอนด์และกู้เงินเพิ่มอีก 90,000 ปอนด์จากธนาคาร รวมแล้วประมาณ 4.5 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงาน และซื้อเครื่องจักร เนื่องจากโจดี้และแอนดรูว์มาจากครอบครัวที่ทำฟาร์มโคนมอยู่แล้ว พวกเขาจึงสร้างโรงงานผลิตและใช้วัตถุดิบจากฟาร์มของครอบครัวในเอสเซ็กซ์ 

      “ตอนนั้น ใคร ๆ ก็ว่าเราบ้า ปี 2008 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอย แต่เรากลับลงทุนสร้างโรงงาน มันมีความเสี่ยงสูงแต่เราก็เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของเรา” โจดี้เล่าอีกว่ากว่าธุรกิจจะโต ช่วงแรก ๆ นั้นสาหัสมาก เธอและแอนดรูว์ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์และยาวนานในแต่ละวัน ทั้งคู่ต้องคุมกระบวนการผลิตนมปั่นที่โรงงานซึ่งเริ่มตั้งแต่ตี 3 จนถึงเที่ยงวัน หลังจากนั้น ก็เข้าออฟฟิศเพื่อตรวจเอกสารและตอบอีเมล ทำงานในออฟฟิศจึง 6 โมงเย็นก็กลับบ้าน ชีวิตวนเวียนอยู่เช่นนั้นจนทุกอย่างเริ่มลงตัวจนพวกเขาได้มีเวลาจัดพิธีแต่งงานหลังจากที่เลื่อนมานาน 6 ปี

      ความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจส่งผลให้ธุรกิจเติบโต โรงงานเล็ก ๆ ของโจดี้และแอนดรูว์มีพนักงานทั้งประจำและชั่วคราวรวมแล้ว 40 กว่าชีวิต ยอดขายเมื่อปี 2019 เติบโตแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าได้รับการพัฒนาให้มีหลากหลายไม่ต่ำกว่า 6 รสชาติ ได้แก่ เกลือคาราเมล ช้อคโกแลต กาแฟ สตรอเบอรี่ กล้วย และวานิลลา และยังเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาเป็นโยเกิร์ตแบรนด์ YogOaty ซึ่งได้รับรางวัล World Dairy Innovation Awards

       สินค้าของ shaken Udder มีวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ทั่วอังกฤษ รวมถึง เทสโก้ แซนเบอรี เวทโรส โคออป ดับบลิวเอชสมิธ และบู้ทส์ สร้างรายได้ปีละราว 6 ล้านปอนด์หรือประมาณ 257 ล้านบาท แม้สินค้าจะมีพื้นที่จำหน่ายในห้างแล้ว แต่โจดี้กับแอนดรูว์ก็ยังตระเวนออกบู้ทตามงานอีเวนต์เช่นเดิม เหตุผลเพื่อจะได้พูดคุยกับผู้บริโภคโดยตรง และนำความคิดเห็นนั้นไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สนองต่อความต้องการยิ่งขึ้น เทศกาลดนตรีและงานอีเวนต์ต่าง ๆ จึงเป็นเสมือนการได้ทำแบบสอบถามเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าว่าชอบ/ไม่ชอบ หรือคาดหวังอะไรจากแบรนด์นั่นเอง

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

https://realbusiness.co.uk/shaken-udder-drinks-festival

www.thesun.co.uk/money/8628370/couple-delayed-their-wedding-twice-to-launch-their-milkshake-business-and-now-its-set-to-turnover-6million/

https://shakenudder.com/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​