บยอร์น ฟรันท์เซน จากนักบอลมืออาชีพผันสู่เชฟดาวมิชลินล่าสุดเปิดร้านอาหารในกรุงเทพ

 

     หากเอ่ยถึงบยอร์น ฟรันท์เซน เชฟหนุ่มชาวสวีดิชวัย 45 ปีเจ้าของร้านอาหารระดับดาวมิชลินหลายแห่ง เชื่อว่าหลายคนและนักชิมในแวดวงร้านอาหารหรูคงจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ฟรันท์เซนเป็นเจ้าของร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน Frantzen/Lindeberg ในกรุงสต็อคโฮล์ม ร้านที่เคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็น 1 ใน 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกลำดับที่ 12 นอกจากนั้น เขายังเปิดร้าน Frantzen Kitchen ที่ฮ่องกง และร้าน Zen ในสิงคโปร์ที่เพิ่งได้รับดาวมิชลิน 3 ดวงเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Villa Frantzen ร้านอาหารนอร์ดิคผสานเอเชียซึ่งเป็นธุรกิจล่าสุดของเชฟคนดังก็ได้ฤกษ์เปิดบริการในกรุงเทพฯ

     ก่อนที่จะก้าวสู่เส้นทางการเป็นเชฟระดับโลก มีสักกี่คนที่ทราบว่าฟรันท์เซนเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลมืออาชีพสังกัด AIK สโมสรฟุตบอลเก่าแก่กว่า 100 ปีของสวีเดน เขาทุ่มเทให้กับการเป็นนักฟุตบอลอยู่หลายปี แต่ต้องจำใจยุติอาชีพนี้เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงเบนเข็มสู่อาชีพที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ทำให้การตัดสินใจเป็นเชฟเกิดขึ้นอย่างง่ายดายจากความประทับใจที่ได้ลิ้มลองสเต็กเนื้อที่อร่อยที่สุดเสิร์ฟมาพร้อมซ้อสเบอาร์น และเฟรนช์ฟราย

     อาหารค่ำมื้อนั้นเปลี่ยนชีวิตเขา และทำให้เขาสนใจศาสตร์การทำอาหาร ฟรันท์เซนกล่าวว่าเขาอาจจะเริ่มอาชีพอะไรก็ได้ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างคุณแม่ของเขาก็เป็นศิลปินและจิตกรมือดี แต่ไม่มีใครเลยสักคนในครอบครัวที่สนใจศาสตร์ด้านการทำอาหาร ฟรันท์เซนตัดสินใจเลือกเรียนที่โรงเรียนสอนทำอาหารแห่งหนึ่งในสต็อคโฮล์ม ใช้เวลาเรียน 3 ปี

     การเป็นเชฟมืออาชีพเริ่มต้นที่ครัวของค่ายทหารสวีเดนในเมืองโบเด็น แต่ฟรันท์เทลต้องการพัฒนาทักษะให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น จึงเลือกออกเดินทางไปทำงานตามร้านอาหารของเชฟชื่อดัง เขาเคยผ่านการฝึกที่ร้าน Le Manoir aux Quat’Season ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลินในอังกฤษของเชฟเรย์มอนด์ บัลงค์ และร้าน 3 ดาวมิชลิน  L’Aperge ในปารีสของเชฟอเลน ปาสซาร์ ทั้งสองร้านขึ้นชื่อด้านอาหารฝรั่งเศส

     ประสบการณ์จาก 2 ร้านดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้เขาหลงใหลในการดึงรสธรรมชาติจากวัตถุดิบ และการพิถีพิถันในการใช้เครื่องปรุง ฟรันท์เซนถึงขั้นเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อลองอาหารตาม “เรียวกัง” ซึ่งเป็นที่พักรูปแบบดั้งเดิมสมัยโบราณและเสิร์ฟอาหารสไตล์ “ไคเซกิ” ซึ่งเป็นคอร์สอาหารญี่ปุ่นที่ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล และเสิร์ฟตามลำดับคล้ายกับการเสิร์ฟเป็นคอร์สแบบฝรั่งเศส ไคเซกิจะมีความสวยงามและรสชาติดี เรียกว่าเป็นทั้งอาหารตาและอาหารปาก

     ฟรันท์เซนไม่มีเชฟในดวงใจให้ดำเนินรอยตาม สไตล์อาหารของเขาเป็นแบบร่วมสมัย หลังสั่งสมประสบการณ์ได้ระยะหนึ่ง ปี 2008 เขาและแดเนียล ลินด์เบิร์ก เชฟขนมอบผู้เป็นหุ้นส่วนก็ร่วมกันเปิดร้าน Frantzen/Lindberg นอกกรุงสต็อคโฮล์ม ร้านได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และใช้เวลาเพียง 2 ปีก็คว้าดาวมิชลิน 2 ดาวมาครอง ต่อมา หุ้นส่วนได้แยกตัวออกไป ทำให้ร้านถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Frantzen และย้ายเข้ามาเปิดในเมืองหลวงและได้รับดาวเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 3 ดวง

     ปี 2016 เขาเปิดร้านอาหารในฮ่องกงเป็นการรุกธุรกิจในต่างประเทศครั้งแรก แต่ร้านที่ฮ่องกงถูกปิดไปช่วงวิกฤติโควิด ขณะที่ร้าน Zen ซึ่งให้บริการในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2018 เพิ่งรับมอบดาวมิชลินดวงที่ 3 เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน ร้านในเครือของฟรันท์เซนที่ได้ความนิยมมากที่สุดคือร้าน Brasserie Astoria ในย่านดาวน์ทาวน์สต็อคโฮล์ม ตัวร้านเป็นโรงภาพยนตร์เก่ามีชื่อที่ถูกปรับปรุงใหม่ และไม่ได้ให้บริการในรูปแบบร้านหรูที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส แต่ลูกค้าเลือกสั่งอาหารเป็นจาน ๆ ที่ราคาแตกต่างกันไปได้

     ธุรกิจล่าสุดของเชฟหนุ่มคนดังถูกเปิดตัวในรูปแบบร้านอาหารนอร์ดิคที่มีกลิ่นไอความเป็นเอเชีย ณ ใจกลางกรุงเทพ VILLA FRANTZEN เป็นร้านอาหารที่นำบ้านพักอาศัยมาดัดแปลงบนพื้นที่กว้างขวาง ฟรันท์เซนอธิบายว่า “ดีไซน์และการตกแต่งจะแตกต่างจากร้าน Zen ในสิงคโปร์ ที่นี่จะดูอบอุ่นสบายเหมาะสำหรับหลีกหนีความวุ่นวายมาพักผ่อน”  เมนูที่เสิร์ฟจะรวมถึงอาหารฟิวชั่นสวีเดนผสานไทย วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารเน้นตามฤดูกาล ส่วนหนึ่งนำเข้าจากสวีเดนแต่ก็จะใช้เครื่องปรุงของไทยด้วย

     จากนักฟุตบอลมืออาชีพสู่การเป็นเชฟเจ้าของดาวมิชลินหลายดวง ฟรันท์เซนประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ ร้านอาหารของเขาได้รับความนิยมคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เกิดจากความเสมอต้นเสมอปลายในการคัดสรรวัตถุดิบที่สมบูรณ์แบบสุดและการใช้เทคนิคขั้นสุดยอดในการปรุง ปัจจุบัน ฟรันท์เซนดำเนินกิจการร้านอาหารหลายแห่งทั้งในสต็อคโฮล์ม สิงคโปร์และกรุงเทพ เขามีแผนจะเปิดร้านอาหารอีกแห่งในกรุงลอนดอนราวเดือนพย.ปีนี้

ข้อมูล

https://scandasia.com/swedish-footballplayer-became-top-chef-with-michelin-stars/

www.finedininglovers.com/people/bjorn-frantzen

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ