เรียนรู้กรณีศึกษา โอชาฟูดแพ็ค ธุรกิจใบตองส่งออก ที่พลิกจากขาดทุน สร้างยอดขายกว่าพันล้าน

 

 

      จากการคิดต่อยอดจากธุรกิจของครอบครัวที่ดำเนินกิจการค้าข้าวและอุตสาหกรรมอาหารส่งออก ภายใต้ชื่อของ V-Group หรือ วุฒิชัยกรุ๊ป มานานกว่า 30 ปี บริษัท โอชาฟูดแพ็ค จำกัด คือ 1 จาก 9 บริษัทในเครือ ภายใต้การดูแลของ ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ ผู้ส่งออกใบตองและผักผลไม้แช่แข็งรายใหญ่ของประเทศ ที่ครั้งหนึ่งธุรกิจเกือบพัง เพราะขาดทุน แต่มาวันนี้ด้วยหลักการคิดพัฒนาจากการมองเห็นปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ธุรกิจสามารถพลิกฟื้นกลับมาปังได้ด้วยยอดขายทะลุกว่าหลักพันล้านบาทในวันนี้ จากสินค้าที่ใครๆ ต่างเบือนหน้าหนี เพราะคิดว่าไม่ทำกำไร กลับเป็นตัวชูโรงดาวเด่นที่สร้างโอกาสให้กับธุรกิจขึ้นมาได้ ไปเจาะกลยุทธ์เคล็ดลับพร้อมๆ กัน

กำจัด West ลดต้นทุน เพิ่มกำไรธุรกิจ

       ปัญหาหลักของธุรกิจ คือ ขั้นตอนการผลิตที่ใช้คนเยอะ และเวลาเยอะเกินไป จึงทำให้ธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้ โดยแต่เดิมนั้นต่อการผลิตใบตองแช่แข็งขึ้นมา 1 กล่อง ใช้จำนวนพนักงานอยู่ที่ 38 คน ใช้เวลาในการผลิตโดยเฉลี่ยตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนถึงขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่ 174 นาที

      ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ตัดแต่ง ทำความสะอาด 2. ชั่งน้ำหนัก 3. จัดแต่งให้สวยงาม 4. แพ็กใส่ถุง 5. ปิดผนึก 6. แพ็กใส่กล่อง 7. นำเก็บในห้องแช่แข็ง

      เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ต้องจ้างโอทีพนักงานเพิ่ม จึงตั้งโกลด์การทำงานไว้ที่ 135 วินาทีต่อ 1 กล่อง วิธีการ คือ กำจัด West หรือการสูญเสียในขั้นตอนต่างๆ ลง เริ่มด้วยการให้พนักงานร่วมกันวาดแผนผังกิจกรรมการทำงานทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันค้นหาความสูญเสียที่เกิดขึ้น

      โดยหลังจากลงไปดูหน้างานจริง พบว่าแต่ละจุดบนโต๊ะมีใบตองกองเต็มไปหมด เนื่องจากต้องรอส่งงานไปให้อีกขั้นตอนหนึ่ง ทำให้เกิดคอขวด ไม่ไหลลื่นงานเดินได้ไม่ดี วิธีการแก้ไขที่ดร.นงนุชนำมาใช้ ก็คือ การให้พนักงานมาร์กจุดที่ทำให้งานเกิดการสะดุด หรือจุดที่ของรอคน เพื่อแก้ไขไปทีละจุด โดยให้เป้าหมายพนักงานไปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ห้ามไม่ให้มีของกองทิ้งไว้เด็ดขาด”

ใช้ 5 Why ค้นหาที่มาแท้จริงของปัญหา

      โดยวิธีการที่นำมาใช้ค้นหาต้นตอของปัญหา ก็คือ การเจาะลึกถามถึงที่มาไปเรื่อยๆ จนพบคำตอบที่แท้จริง เพื่อแก้ไขตั้งแต่ต้นทางที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

      จุดแรกที่พบปัญหา คือ ขั้นตอนที่ 3 การจัดแต่งใบตองให้สวยงาม โดยพบว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับขั้นตอนที่ 1 เหตุผลเนื่องมาจากหลังตัดแต่งทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการนำมาชั่งน้ำหนักให้ได้พอดีกับที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 แต่เนื่องจากใบตองในแต่ละฤดูจะมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เช่น ใบตองขนาดปกติความกว้างจะอยู่ที่ 15 ซ.ม. ใช้ใบตองเพียง 3 ใบก็ได้น้ำหนัก 1 ก.ก. แต่หากหน้าร้อนใบตองจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 12 ซ.ม. ทำให้ต้องใช้ใบตองเพิ่มเป็น 4 ใบ จึงจะได้ 1 ก.ก.เท่ากัน

      วิธีการแก้ไข คือ ทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหยิบที่พอดีหรือใกล้เคียงได้ตั้งแต่แรก เพื่อตัดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนออกไป ด้วยการกำหนดการหยิบใบตองแต่ละครั้งลงไปเลย เช่น หากวันนี้เป็นใบขนาดใหญ่ให้หยิบเพียง 3 ใบ หากวันนี้ใบมีขนาดเล็กให้หยิบ 4 ใบ ซึ่งในแต่ละฤดูมีสถิติบอกไว้อยู่แล้ว โดยพนักงานจากในขั้นตอนที่ถูกตัดออกไป จะถูกนำมาช่วยในส่วนที่ต้องใช้เวลาเยอะที่สุด ซึ่งก็คือ ขั้นตอนการตัดแต่ง ทำความสะอาด จึงทำให้ลดเวลาการทำงานโดยรวมลงได้

      โดยพบว่าจากการพยายามปรับปรุงแก้ไขในจุดต่างๆ ที่ทำให้เกิดการสะดุด ไม่คล่องตัวทั้งภายในองค์กรและนอกองค์กรลง เช่น ซัพพลายเออร์ที่เป็นเกษตรกร ทำให้สามารถลดเวลาในการทำงานลงได้เหลือเพียงแค่ 93 วินาทีต่อ 1 กล่องเท่านั้น รวมถึงลดจำนวนคนงานไป 3 คน ทำให้สามารถรีเทิร์นกลับมาเป็นเงินได้กว่า 1.8 ล้านบาท

      หลังจากเมื่อธุรกิจเริ่มมีกำไรขึ้นมาได้จากการลดต้นทุน จึงได้มีการนำเครื่องจักรในการล้างทำความสะอาดเข้ามาใช้ทุ่นแรงจำนวน 3 เครื่อง จนทำให้ปัจจุบันลดจำนวนพนักงานในการผลิตลงเหลือเพียงแค่ 15 คน และลดเวลาการทำงานลงเหลือเพียง 65 วินาทีต่อกล่องเท่านั้น ทำให้เหลือพื้นที่ว่างในการใช้ประโยชน์มากขึ้น พนักงานทำงานเท่าเดิม แต่ได้ปริมาณงานที่เยอะขึ้น รวมแล้วใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพัฒนา คือ 6 – 7 เดือน โดยสามารถเพิ่มยอดขายจากช่วงโควิดที่ผ่านมาจาก 800 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาทได้ ด้วยการชาเลนจ์ตัวเองอยู่เสมอ

   

3 กฏเหล็กสำคัญการทำงานฉบับโอชาฟูดแพ็ค

1. ห้ามมีของกองทิ้งไว้ ทุกอย่างต้องไหลลื่น ไม่สะดุด

2. ทำยังไงให้พนักงานทำงานเหนื่อยน้อยที่สุด

3. ของทุกอย่างต้องมีล้อ ต้องเคลื่อนที่ได้เพื่อทุ่นแรงในการเคลื่อนย้าย

Key Success ธุรกิจ

  • ลงพื้นที่ไปให้เห็นปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้น
  • ใช้ความร่วมมือแก้ไขร่วมกัน ระหว่างระดับพนักงานและผู้บริหาร
  • จดบันทึกความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงที่เกิดขึ้นเพื่อประเมินผลที่ได้
  • พัฒนาต่อเนื่อง สร้างเป้าหมายความท้าทายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ
  • สลับหน้าที่ ตำแหน่งในส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเห็นจุดบกพร่องที่เกิดขึ้น

โดยวิธีการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโอชาฟูดแพ็คเข้าตามหลักเกณฑ์ การลดความสูญเสีย 3 M’s ตามหลักของไคเซน คือ

1. Muda (การสูญเสีย)

2. Mura (ไม่สม่ำเสมอ)

3. Muri (ทำเกินกำลัง)

โดย Muda หรือการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานมี 7 ชนิด ได้แก่

1. Muda จากการผลิตมากเกินไปจากที่ต้องการ

2. Muda ในกระบวนการ

3. Muda จากการขนส่ง

4. Muda จากการจัดเก็บมากเกินไป

5. Muda จากการเคลื่อนไหว

6. Muda จากการรอ

7. Muda จากของเสีย การซ่อมแซม

***ข้อมูลจากโครงการ “ถอด DNA ความสำเร็จแบบวิถีโตโยต้า” ในหัวข้อ “แนวคิดในการทำธุรกิจแบบ TOYOTA WAY”

โดย SME Thailand x โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ 

สนใจเข้าร่วมกิจกรรม คลิก https://toyotatsi.com/course

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​