น้ำมันก็ขึ้น ของก็แพง อย่าเพิ่งหมดแรง ฟังรองอธิบดี DBD แนะทางรอดกู้วิกฤตธุรกิจร้านอาหาร

 

 

      “ของก็แพง ยอดขายก็ตก ทำยังไงกันดีล่ะทีนี้”

      คงเป็นปัญหาปวดใจให้ผู้ประกอบการหลายคนที่กำลังทำธุรกิจอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการ หรือมีรายได้ลดลง ตามรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ลดลงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือราว 11 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับปี 2563) แถมปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาซ้ำเติม ผู้ประกอบการควรรับมือเช่นไร ลองมาอัพเดตสถานการณ์แนวโน้มธุรกิจอาหารจาก รวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมวิธีรับมือไปพร้อมกัน

ร้านเล็ก เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง แนวโน้มสดใส

      ก่อนที่จะไปฟังวิธีเอาตัวรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้เปิดเผยข้อมูลถึงแนวโน้มธุรกิจอาหารที่กำลังจะกลับมาสดใสว่าจากการกลับมามากขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ส่งผลให้ในปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะกลับมาเติบโตประมาณ 5.0 % – 9.9 % ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าภาพรวมอยู่ที่ 3.78 - 3.96 แสนล้านบาท โดยในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มจดทะเบียนนิติบุคคลร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น

     โดยเฉพาะการขยายตัวในกลุ่มอาหารจานด่วน และร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวมากกว่าที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน หรือร้านรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายเปิดอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย หรือปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งคาดว่าร้านอาหารประเภทดังกล่าวจะได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่แพง เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ โดยมองว่าธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ดังนั้นหากสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคได้ อนาคตย่อมสดใสแน่นอน

      “อาหาร คือ สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ดังนั้นไม่ว่ายังไงก็ยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ เพียงแต่อาจต้องปรับตัวตามสถานการณ์ โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราเองได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการตรึงราคาต้นทุนวัตถุดิบ การจัดโปรโมชั่นพิเศษ การจัดฝึกอบรมอาชีพ การสอนเทคนิคการทำธุรกิจอาหาร เพื่อให้สามารถผลิตอาหารที่ดี ราคาไม่สูง ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคได้และร้านอาหารให้อยู่ได้”

แนะ 3 กลยุทธ์พิชิตธุรกิจโต

      โดยถึงแม้จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น แต่เพื่อการเอาตัวรอดในสถานการณ์ช่วงนี้ให้ได้ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ฝากข้อคิดไว้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไว้ 3 ข้อ ดังนี้

ดูเทรนด์การตลาด

      “การปรับตัวข้อแรกที่ผู้ประกอบการควรทำ คือ ศึกษากระแสที่เกิดขึ้น ดูเทรนด์แนวโน้มความต้องการของตลาด ว่า ณ ปัจจุบันนี้ มีสิ่งไหนที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ หรือเขามีปัญหาอะไรที่อยากได้รับการแก้ไข ไม่ใช่เคยทำอะไรก็ทำอยู่อย่างนั้น เช่น ตอนนี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น มีการกินอาหารเป็นยา เพื่อสุขภาพ เราก็ควรจะลองปรับตัวตาม อย่างผู้บริโภคบางคนหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ได้ เราอาจใช้โปรตีนทดแทนจากพืช หรือแมลงเข้ามาทดลองทำเพื่อทดแทนดู สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจได้รับความสนใจอยู่เสมอ”

สร้างมูลค่าเพิ่ม เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม

      “นอกจากการปรับตัวตามเทรนด์แล้ว แทนที่จะจับกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างแบบเดิม ให้ลองทำผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้นก็ดี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ยาสระผม แทนที่เราจะทำเป็นยาสระผมสำหรับคนทั่วไป เราอาจลองทำเป็นแชมพูสำหรับเด็ก แชมพูสำหรับผู้สูงอายุ ใส่ความเฉพาะกลุ่มลงไป จะทำให้สินค้าของเราน่าสนใจมากขึ้น แถมอาจได้ราคาดีขึ้นด้วย เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ”

ปรับลดต้นทุน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต

      “สำหรับวัตถุดิบที่แพงขึ้น ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมได้ จึงอาจต้องใช้การบริหารจัดการต้นทุนให้ดีดูว่าส่วนใดบ้างที่ทำให้เกิดการสูญเสียโดยใช้เหตุ เมื่อเราสามารถหาได้เจอ ก็สามารถลดต้นทุนได้ หรือบางครั้งอาจลองหาวัตถุดิบอื่นมาใช้ทดแทน แต่สิ่งสำคัญ คือ อย่าเอาเปรียบผู้บริโภค หากจะปรับราคาขึ้นก็ให้เหมาะสม เราอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ อย่างเคยเห็นร้านในโครงการหนูณิชย์พาชิมบางร้าน ที่จัดขึ้นโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขายราคาถูกแทบจะไม่ได้กำไรเลย แต่เขาก็ใช้วิธีถัวเฉลี่ยกันไป คือ ทำเมนูราคาถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า เพื่อให้ขายอย่างอื่นพ่วงไปได้ด้วย นี่ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ SME สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​