แม่บ้านชาวเวียดสู้ชีวิต จำต้องเปิดร้านอาหารอินเดียโดยไม่ตั้งใจ แต่ทำไมธุรกิจกลับไปได้สวย

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

      เมื่อแม่บ้านคนหนึ่งสู้ชีวิต ต้องการหารายได้ช่วยครอบครัว แล้วต้องเจอกับชีวิตที่สู้กลับ แต่เธอไม่ยอมแพ้ ดิ้นรนจนได้เป็นผู้ประกอบรายเล็กที่อยู่รอดได้และมีแนวโน้มที่ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างยั่งยืน เรากำลังพูดถึง “เหงียน ถิ เกี่ยว ฮั่น” สตรีชาวเวียดนามวัย 45 ปี เจ้าของร้านอาหารอินเดียในสิงคโปร์ผู้ไม่เคยรู้จักอาหารที่ตัวเองขายมาก่อน แต่เรียนรู้สูตรจากเชฟชาวจีน

     ฮั่นเดินทางจากเวียดนามมาอาศัยอยู่กับสามีชาวสิงคโปร์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สามีเป็นเชฟที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ส่วนฮั่นเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 2 คน กระทั่งปีที่แล้ว สามีล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ไม่สามารถกลับไปทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นได้ ฮั่นจึงคิดหารายได้จุนเจือครอบครัว หลายปีก่อน เธอเคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นแม่ครัวที่เชนร้านอาหารเวียดนาม “นาม นาม” เธอจึงวางแผนว่าอยากเปิดร้านในศูนย์อาหาร (hawker) เพื่อขายอาหารเวียดนาม เช่น เฝอ (ก๋วยเตี๋ยวน้ำ) ปอเปี๊ยะสด และปอเปี๊ยะทอดที่เธอคุ้นเคยและถนัด

     จากนั้นฮั่นก็มองหาทำเล จับพลัดจับผลูเธอไปประมูลได้พื้นที่ที่ศูนย์อาหารแม็กซ์เวล ฟู้ด เซ็นเตอร์ แต่ความไร้ประสบการณ์และความไม่รู้ทำให้เธอประมูลได้ร้านอาหารอินเดีย ซึ่งตามกฎของศูนย์อาหาร ผู้ประมูลพื้นที่ได้จะต้องขายอาหารอินเดียเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนไปขายอาหารอย่างอื่นได้ ความไม่อยากเสียพื้นที่ เธอจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ การเป็นเจ้าของร้านอาหารอินเดียจึงเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ

      “พอรู้ว่าร้านที่ประมูลได้ไม่สามารถขายอาหารเวียดนาม หรืออาหารจีน ต้องขายอาหารอินเดียเท่านั้น ฉันก็มึนแปดด้าน ไม่รู้จะขายอะไร จึงปรึกษาฟรานซิสซึ่งเป็นเพื่อนชาวอินเดีย เพื่อนก็แนะนำว่าขายอัปปัมสิ อัปปัมก็คือแพนเค้กสไตล์ทางใต้ของอินเดีย ซึ่งฉันก็ว่าดีเหมือนกันเพราะร้านอินเดียในศูนย์อาหารนี้ส่วนใหญ่ขายข้าวกับแกง”

     ด้านฟรานซิส เฟอร์นันเดซเล่าว่าที่แนะนำฮั่นไปอย่างนั้นเพราะเขานึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก “พ่อกับแม่ผมมาจากเกรละ รัฐทางใต้ของอินเดีย อัปปัมเป็นอาหารประจำถิ่นในแถบนี้ ตอนเด็ก ๆ ผมชอบกินอัปปัมโรยน้ำตาลทราย พอนึกถึงอาหารที่เคยกินก็เลยอยากให้เพื่อนทำขาย”

     ข้อมูลระบุอัปปัมเป็นแพนเค้กชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้าและกะทิหมักด้วยยีสต์ เมื่อหมักได้ที่แล้ว ตัวแป้งจะนำมาทำให้สุกในกระทะเหล็กอันเล็ก ตัวขอบจะบางกรอบ ตรงกลางแป้งจะนุ่มใส่ใส้ต่าง ๆ เช่น มะพร้าวขูดและน้ำตาล ถั่วลิสงบดกับน้ำตาล หรือไส้ชีสกับไข่ เป็นต้น จะว่าไปคล้ายขนมถังแตกในไทย แต่อัปปัมมีทั้งไส้หวานไส้คาวและทานเป็นอาหารเช้า หรืออาหารว่างคู่ชา กาแฟได้

    ฮั่นเริ่มต้นจากการตระเวนชิมอัปปัมตามร้านต่าง ๆ หาสูตรจากยูทูบ และที่ทำให้คืบหน้ายิ่งขึ้นเมื่อฮั่นมีโอกาสได้เจอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งจึงขอความช่วยเหลือให้หาเชฟที่จะมาช่วยสอนทำอัปปัมให้ ซึ่งสส.คนนั้นก็ส่งรายชื่อเชฟจำนวนหนึ่งที่น่าจะรู้วิธีทำอัปปัมให้เธอ หลังรับทราบเรื่องราว ปรากฏว่ามีเชฟคนหนึ่งติดต่อมาเพราะต้องเห็นจและต้องการช่วยเหลือ

     เชฟคนดังกล่าวซึ่งไม่เปิดเผยชื่อกลับเป็นเชฟเชื้อสายจีน “ผมบอกเธอไปว่าผมไม่เชี่ยวชาญอาหารอินเดียนะ แต่ผมมีประสบการณ์ในแวดวงอาหารมานาน คิดว่าน่าจะพอคลำสูตรจากตำราหรืออินเทอร์เน็ตได้” เชฟชาวจีนผู้นั้นเมตตาถึงขนาดมาช่วยสอน ช่วยชิม และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสรรงบในการทำธุรกิจ “ฮั่นเป็นคนที่กระตือรือร้นและมีความตั้งใจมาก เห็นแล้วผมก็ยินดีช่วยเต็มที่เลย” 

      ใช้เวลา 4 เดือนเต็มในการลองผิดลองถูกจนได้สูตรลงตัว ฮั่นก็ได้ฤกษ์เปิดร้าน “Mr.Appam” เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากไส้ดั้งเดิม เช่น มะพร้าวกับน้ำตาล และไข่กับชีส อัปปัมที่ร้านเธอยังมีแบบแตกต่างจากที่อื่น เช่น ตัวแป้งผสมใบเตย และไส้แปลก ๆ หลากหลายขึ้น ได้แก่ ไส้ช้อคโกแลต ไส้ไอศกรีมกะทิกับกล้วยหอม ไส้ถั่วลิสงกับน้ำตาล

     ฮั่นกล่าวว่าช่วงเปิดร้านแรก ๆ เธอกังวลมากว่าจะไม่มีคนซื้อเพราะเธอไม่ใช่คนอินเดียแต่กลับขายอาหารอินเดีย กลัวลูกค้าไม่เชื่อใจ อย่างไรก็ตาม จากยอดขายที่ค่อนข้างแผ่วก็เริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความน่าสนใจของเจ้าของร้านที่ไม่ใช่อินเดีย ทำให้ลูกค้าอยากลอง กอปรกับอัปปัมของทางร้านรสชาติดีตามต้นตำรับ ทั้งยังมีหลายไส้ให้เลือก ลูกค้าจึงแวะเวียนมาอุดหนุน มีทั้งลูกค้าเชื้อสายอินเดีย และลูกค้าชาวจีน

      “อัปปัมไม่ใช่อาหารหลักที่ทำให้อิ่มจนทานเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาซื้อช่วงสาย หรือบ่ายเพื่อเป็นของว่างทานกับชา กาแฟ” ฮั่นเล่าวว่าเธอขายได้เรื่อย ๆ แต่ช่วงวันหยุดจะขายได้เยอะขึ้น วันละนับร้อยชิ้น ทำให้เธอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว เรื่องราวของฮั่น หญิงเวียดนามผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่โชคชะตาถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาชื่นชมต่อความวิริยะอุตสาหะของเธอ หลายคนถึงกับจะเดินทางไปอุดหนุนเลยทีเดียว คาดว่าจนถึงขณะนี้ ยอดขายอัปปัมที่ร้าน Mr. Appam น่าจะพุ่งขึ้นจากเดิม

ที่มา:  www.8days.sg/eatanddrink/hawkerfood/vietnamese-housewife-opens-mr-appam-hawker-stall-maxwell-649301

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​