จากพนักงาน สู่เจ้าของกิจการ ส่อง 3 เคสตัวอย่างจากเรื่องจริง เตรียมตัวยังไงไม่ให้แป๊ก ธุรกิจอยู่รอดเป็นสิบปี

 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นความสำเร็จในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายคนนั้น อาจเริ่มมาจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่มีความใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอยากออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ต้องทำยังไงถึงจะไปรอดได้ ธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยดี  วันนี้เรามีเคสตัวอย่างจาก 3 ธุรกิจที่แต่ละแบรนด์คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจไม่ต่ำกว่าสิบปีมาฝากกัน

เจคิว ปูม้านึ่ง

ตั้งเป้าแล้วไปให้ถึง ทำให้ได้แล้วค่อยออก

     ย้อนไปเมื่อ 12 ปีก่อนจะมาเป็นเจ้าของอาหารทะเลเดลิเวอรีชื่อดังอย่างทุกวันนี้ สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ ผู้ก่อตั้ง เจคิว ปูม้านึ่ง ก็เคยทำงานเป็นพนักงานขายอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความที่อยากหารายได้เพิ่ม จึงคิดเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ พร้อมกันไปด้วย โดยได้ทดลองทำหลายอย่าง ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง จนในที่สุดล้มเหลวมากกว่า จึงคิดอยากเริ่มต้นทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย

     ด้วยความที่ที่บ้านมีธุรกิจแพปูม้าอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเริ่มทดลองจากนำของที่บ้านมาขายก่อน โดยเริ่มต้นจากขายส่งปูม้าสด แต่กลับมีปัญหาโดนยกเลิกออร์เดอร์กระทันหันอยู่บ่อยครั้ง จึงลองเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาขายปูม้านึ่งส่งเดลิเวอรีแทน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีอาชีพไรเดอร์อย่างทุกวันนี้ แต่ก็เลือกใช้วิธีจ้างวินมอเตอร์ไซต์แทน ด้วยความแปลกใหม่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงได้รับความสนใจจากสื่อมากมาย ส่งผลให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจเต็มตัว เธอได้สร้างเงื่อนไขกับตัวเองไว้ว่า

     “ก่อนที่จะลาออกจากงาน เราตั้งเป้ากับตัวเองไว้ว่าจะต้องมียอดขายให้ได้เท่านี้ๆ ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนถึงจะลาออก เพราะเอาเข้าจริงช่วงแรกที่ขายดี อาจเพราะเพื่อนช่วย เลยทำให้ยอดขายกระโดด ถ้าเราลาออกมาเลย  เดือนที่สองถ้าไม่มีคนซื้อซ้ำ เราก็อยู่ไม่ได้ เลยอยากฝากคนที่อยากลาออกมาทำธุรกิจว่าให้ลองตั้งเป้าสร้างเงื่อนไขกับตัวเองไว้สักหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่าออกมาแล้วจะไปต่อได้”

Oh Veggies

หาโอกาสจากช่องว่างตลาดให้เจอก่อน ค่อยลงมือทำ

     Oh Veggies ผู้บุกเบิกตลาดผัก-ผลไม้ Ready to Eat รายแรกๆ ของไทยที่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจขึ้นมาเมื่อ 15 ปี ซึ่งผู้ก่อตั้งขึ้นมาก็คือ “วุฒิชัย เจริญศุภกุล” อดีตพนักงานประจำที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง

     โดยก่อนที่จะตัดสินใจลงมือว่าจะออกมาทำธุรกิจอะไรดีนั้น สิ่งที่วุฒิชัยใช้ในการตัดสินใจ ก็คือ การสำรวจข้อมูลในตลาด สแกนหา Pain Point ความต้องการจากผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จนในที่สุดเขาได้เห็นช่องว่างในตลาด โดยยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น มีผัก ผลไม้สดวางขายอยู่เต็มท้องตลาด แต่กลับไม่มีแบรนด์ใดที่หันมาจริงจังกับการแปรรูปเป็นผลิตัณฑ์ให้พร้อมรับประทานได้เลย จึงเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจให้กับเขาขึ้นมาได้นั่นเอง

     “ตอนนั้นรัฐบาลออกแคมเปญส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคผักกันมากขึ้นให้ได้วันละ 400 กรัม ซึ่งเราพบว่าทุกคนก็อยากมีสุขภาพดี แต่ด้วยความเร่งรีบในการทำงาน จึงทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากในการเตรียมอาหาร เราลองไปเดินสำรวจซูเปอร์มาเก็ต ก็พบว่ามีผักผลไม้อยู่มากมาย แต่ยังไม่มีเป็นรูปแบบสำเร็จรูป Ready to Eat ที่พร้อมรับประทานได้เลย แต่ในเมืองนอกขณะนั้นเริ่มมีบ้างแล้ว เรามองเห็นโอกาสจากช่องว่างตรงนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา จึงค่อยตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจของตัวเอง”

Jinta Homemade Icecream

เมื่อถึงเวลาตัดสินใจต้องเลือก ก็ต้องเลือก

     เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล หรือ หนุ่ม อดีตพนักงานออฟฟิศที่ในวันนี้ได้กลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดคุณภาพจากรสชาติสร้างสรรค์จนมีแฟนพันธุ์แท้รอติดตามเป็นลูกค้าประจำอยู่เสมอ โดยเหตุผลที่ทำให้เมธวัจน์ตัดสินใจเลือกทำอาชีพที่ 2 เพื่อหารายได้เสริมรวมถึงปูทางธุรกิจในอนาคตให้กับครอบครัว ก็คือ เขากำลังจะกลายเป็นพ่อคน

     ซึ่งอาชีพที่เมธวัจน์และภรรยาเลือกทำ ก็คือ ไอศกรีมโฮมเมดภายใต้แบรนด์ว่า “Jinta Homemade Icecream” หรือ จินตะ ไอศกรีมโฮมเมด ชื่อแบรนด์ ซึ่งนำมาจากชื่อลูกสาวคนโตของเขา (จิณณ์ตา) โดยช่วงแรกนั้นไอศกรีมของเขาไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นอะไร รสชาติที่มีเหมือนกับไอศกรีมพื้นฐานทั่วไป รายได้ที่เข้ามาจึงแค่หลักพันกว่าบาทต่อเดือน กระทั่งต่อมาเขาได้เริ่มไปออกงานตลาดนัดสีเขียว ได้รู้จักวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ จึงทำให้สร้างสรรค์รสชาติที่แปลกใหม่ออกมา จนสร้างคาแรกเตอร์ให้กับแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

     เมธวัจน์เลือกที่จะให้ภรรยาลาออกมาทำก่อน พร้อมกับดูแลลูกไปด้วย โดยมีเขาเป็นยังเป็นตัวหลักทั้งในงานประจำและการทำไอศกรีมขายไปด้วย โดยตื่นมาทำงานตั้งแต่เช้า เย็นกลับไปทำไอศกรีม พร้อมส่งลูกเข้านอน บางวันก็เผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว กระทั่งครั้งหนึ่งเขาเคยทำไอศกรีมส่งขายวันเดียวได้เงิน 3,000 บาท แต่เช้าวันรุ่งขึ้นต่อมากลับต้องเสียเงินในจำนวนเท่ากันจากการพักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดอุบัติเหตุไปชนกับรถยนต์เข้า จนสุดท้ายทำให้เขากลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง และตัดสินใจเลือกที่จะทำทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว

     “ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าเราจะเหนื่อยเพื่ออะไร และไม่ควรต้องมาเสียเงินกับเรื่องแบบนี้ เพราะสุดท้ายหามาได้ก็ต้องจ่ายออกไปอยู่ดี เลยตัดสินใจรีบลาออกจากงานประจำ คือ จะทำงานประจำต่อไปหรือจะมาทำไอศกรีมต้องเลือกแล้ว ในที่สุดผมก็เลือกทำไอศกรีม พอธุรกิจเริ่มตั้งไข่ได้ ก็เลยตัดสินใจลาออกมา เพราะไม่สามารถทำงานหนักเพื่อให้ได้ดีทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน ถ้ามั่นใจแล้วก็ควรเลือกสิ่งที่ใช่ที่คิดว่าจะเป็นอนาคตต่อไปได้”

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​