ภาวะมนุษย์ทองคำ ศึกชิงแรงงาน ปัญหาใหญ่กำลังระบาด อาจทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว สะดุดอีกครั้งถ้าไม่เร่งแก้

 

TEXT : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร

      อย่างที่ทราบกันว่าก่อนหน้าวิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยรวมทั้งการโรงแรมนั้นเปรียบเสมือน “พระเอก” ที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในเกือบทุกครั้งที่เครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศอย่าง ภาคการผลิต การเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม นั้นประสบปัญหา

     ด้วยจำนวนรายได้สูงสุดก่อน COVID-19 ที่เคยทำได้ในปี 2562 กว่า 3.3 ล้านล้านบาท กับจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 39-40 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีเสน่ห์ดึงดูทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาสู่ธุรกิจนี้และแน่นอนว่าเมื่อมีนายทุนหรือ “นายจ้าง” ย่อมต้องมีอีกฝั่งคือ “ลูกจ้าง” ที่ย่อมต้องเข้ามาสู่โอกาสนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยผลตอบแทนทั้งฐานเงินเดือนที่สูง สวัสดิการที่ดี เงินค่าบริการ (Service Charge) ที่บางโรงแรมมากกว่าเงินเดือนหรือโบนัสทั้งปีอีก ย่อมดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ได้อย่างง่ายดาย

     สถาบันการโรงแรม มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาการโรงแรม วิทยาลัยการโรงแรม ทั้งในและต่างประเทศ มีนักศึกษาเข้าเรียนสาขานี้กันอย่างมากมายเพราะโอกาสที่มาหลังจากจบการศึกษานั้นมันค่อนข้างสดใส เพราะไม่มีเค้าลางหรือสัญญาณอะไรเลยที่จะมาบ่งบอกว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะล้มหายตายจากโลกนี้ไป” แม้จะมีวิกฤตเศรษฐกิจมากแค่ไหนแต่การท่องเที่ยวก็ยังโดดเด่นและผู้คนยังคงต้องเดินทางกันต่อไปอาจจะมีชะลอตัวไปบ้างแต่สุดท้ายก็ฟื้นตัวได้เร็วพิสูจน์ได้จากหลายวิกฤตทั้งวิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซีย วิกฤตโรคอีโบลา วิกฤตโรคซาร์ วิกฤตโรคเมอร์ สึนามิ แต่ใช้เวลาไม่นานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็กลับมาตั้งลำพร้อมทะยานได้อย่างแข็งแกร่งในทุกครั้ง

     ก่อนช่วง COVID-19 มีข้อมูลสำรวจจากสมาคมโรงแรมไทย (THA) จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมไทยก่อนช่วง COVID-19 มีจำนวนแรงงานในระบบกว่า 1,630,419 ล้านคน มีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศกว่า 32,564 โรงแรม มี Supply ด้านห้องพักในระบบ 1,254,168 ล้านห้องพัก (https://www.bangkokbiznews.com/news/873519)

     แต่หลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 มีการประมาณการโดยสมาคมโรงแรมไทยในปี 2563 ว่าจากสถานการณ์ Lockdown ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักจะทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมว่างงานทั้งชั่วคราวและแบบถาวรกว่า 1 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าถ้าเรามองกันในจำนวนแรงงานก่อนหน้า COVID-19 กับช่วงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนต้องออกจากอุตสาหกรรมไป แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเหลืออยู่เพียง 630,419 คน หายไปจากระบบร้อยละ 61.3 เกินครึ่งของจำนวนแรงงานที่มีอยู่

     เท่านั้นยังไม่พอนักศึกษาการโรงแรมและการท่องเที่ยที่จำเป็นต้องฝึกงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ก่อนออกมาสู่ตลาดแรงงานผลัดเปลี่ยนกับแรงงานที่เกษียณออกไปยังเผชิญภาวะที่เรียกได้ว่าเป็นการ “เรียนจบแบบออนไลน์” ไม่มีโอกาสได้ฝึกงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนสาขาการโรงแรมทำให้พัฒนาทักษะได้ไม่เต็มที่ทำให้ถ้าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมก็ต้องเพิ่มทักษะการปฏิบัติงานกันเข้าไปใหม่ ส่วนพนักงานที่อยู่ในตลาดก็ประสบกับปัญหาปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการลดการจ้างงานเพิ่มทำให้ต้องทำงานเกินหน้าที่และเกินกำลังไปมาก

     แต่หลังจากที่วิกฤต COVID-19 ในทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับมัน อุตสาหกรรมโรงแรมเหมือนจะกลับมาเป็นที่หมายปองของเหล่าบรรดานักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอีกครั้ง เชนโรงแรมใหญ่ๆ ต่างพาเหรดกันออกมาประกาศแผนการขยายกิจการกันอย่างกว้างขวาง อาทิ

     - Marriott International เชนโรงแรมสัญชาติอเมริกัน วางแผนขยายกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการเปิดโรงแรมให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2565 (https://www.thansettakij.com/advertorials/social-biz/486053)

     - Accor เชนโรงแรมสัญชาติฝรั่งเศส เตรียมแผนขยายกิจการด้วยการเปิดตัวโรงแรมใหม่ปี 2565 กว่า 300 แห่งทั่วโลก (https://www.bangkokbiznews.com/business/984166)

     - Intercontinental Hotels Group (IHG) เชนโรงแรมสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยแผนการดำเนินงานในช่วง 1-5 ปีข้างหน้าว่า เครือ IHG จะเดินหน้าเปิดโรงแรมแห่งใหม่อีก 30-34 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวน 8,100 ห้อง (https://www.prachachat.net/tourism/news-863215)

     - Radisson Hotel Group: RHG เชนโรงแรมสัญชาติอเมริกัน ตั้งเป้าเปิดโรงแรมครบ 100 แห่งในไทยภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีโรงแรมภายใต้เครือเรดิสันในไทยจำนวน 6 แห่ง (https://www.bangkokbiznews.com/business/1012801)

     ยังมีอีกหลายผู้ประกอบการที่เตรียมขยายธุรกิจโรงแรมในปี 2565 และในปีต่อๆ ไป ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นดูเหมือนอุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างน่าสนใจจากการเร่งขยายการลงทุนของเชนใหญ่ๆ ที่ในแต่ละ Property ย่อมตามมาด้วย Supply ห้องพักที่ระดับขั้นต่ำตั้งแต่ 100 ห้องขึ้นไปเพราะเป็นระดับที่สามารถ Drive Revenue ให้กับโรงแรมได้ดีรับลูกค้าได้หลายกลุ่มที่สำคัญแต่ละ Brand มีฐาน Loyalty Program ที่เป็น Member หลักหลายสิบล้านคนทั่วโลก

     ซึ่งในสถานการณ์ปกติกรณีแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ดีและมีแต่มุมมองเชิงบวก แต่ไม่ใช่กับในสถานการณ์ตลาดแรงงานโรงแรมในขณะนี้ที่จำนวน Supply แรงงานในระบบเริ่มมีอยู่อย่างจำกัดและนักเรียน นักศึกษาการโรงแรมที่ผลิตออกมาป้อนตลาดซึ่งบางคนถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบและไปฝึกงาน ที่จบออกมาแล้วก็ยังคงต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะสู่ความเป็นเลิศทางด้านสายงานบริการโรงแรมในแต่ละแผนกเพื่อแข่งขันในตลาดแรงงานได้ สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในสภาวะขาดแคลนแรงงานในมุมส่วนตัวของเฮียต่อจากนี้ คือ

     1. ภาวะมนุษย์ทองคำ จะเกิดการแย่งชิงแรงงานในตลาดโรงแรม ในสถานการณ์เช่นนี้จากจำนวน Supply โรงแรมที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นตลาดตอนนี้จะเป็นตลาดที่ “แรงงานมีอำนาจต่อรองสูง” ถ้าเป็นภาษาการตลาดก็คงเป็น “Buyer Market” เป็นตลาดที่ผู้ซื้อมีสิทธิเลือก” โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงและตรงตามคุณสมบัติที่เขาต้องการทั้งทักษะในงานและทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกธุรกิจในปัจจุบันเพราะตลาดต้องการคนเข้าไปเติมเต็ม Project ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเมื่อคนหายาก การจูงใจ คือ สิ่งที่นายจ้างที่อยากได้แรงงานจะนำมาใช้ ฐานเงินเดือนที่ปรับสูงขึ้น สวัสดิการณ์ที่ดีขึ้น Benefit อื่นๆ จะถูก Offer เข้ามาในส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างงาน เช่น ห้องพักโรงแรมในเครือในราคาพนักงาน (Staff Rate) การทำ Co-Promotion ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ เป็นสิทธิพิเศษให้พนักงาน

     สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ แบรนด์ใหญ่ๆ จะมีอำนาจในการเลือกคนมากกว่าแบรนด์เล็กๆ เพราะสายป่านด้านการเงินจะยาวกว่า กลายเป็นเพดานเงินเดือนที่เป็นฐานของตำแหน่งต่างๆ ในโรงแรมอาจจะถูกปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นแต่ในอีกมุมก็ต้องยอมรับเพราะในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา พนักงานโรงแรมก็ประสบเคราะห์กรรมและปัญหากันมาอย่างยากลำบากที่ยัง Survive และยืนหยัดอยู่ได้ก็ต้องมีอะไรที่มาฉุดรั้งไว้และทำให้รู้สึกว่า “คุ้มที่จะอยู่ต่อ” ต้องคิดเยอะขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอวิกฤตแบบนี้อีกหรือไม่ ทางหนีทีไล่จึงสำคัญ

     2. ความยากในการหาแรงงาน และระยะเวลาที่ใช้ในการ Recruitment ตำแหน่งงานว่างต่างๆ จะใช้เวลานานขึ้น แน่นอนว่าในช่วง COVID-19 พนักงานโรงแรมกว่าล้านคนถูกเลิกจ้างทั้งชั่วคราวและถาวร (https://news.thaipbs.or.th/content/296402) มุมหนึ่งก็สร้างความลำบากให้กับพนักงานโรงแรมเป็นอย่างมาก แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้พนักงานโรงแรมที่หมดอนาคตในสายอาชีพนี้ไปได้ค้นพบหนทางใหม่ๆ บางคนไปทดลองทำอาชีพอิสระ ที่นิยมที่สุดก็เป็น Driver ให้ Food Delivery ต่างๆ รายได้หนึ่งเดือนก็เกือบๆ ทำงานโรงแรมหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เหนื่อยเหมือนกันหรืออาจจะมากกว่าแต่ได้รับผลตอบแทนและ “เวลา” ที่มีอิสระมากกว่า หรือบางคนก็ไปทำสวน ทำการเกษตร ซึ่งต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ช่องทางการขาย การหาลูกค้ามันสะดวกขึ้นและเช่นเคยอาจจะงานหนักไปบ้างแต่ “เวลา” และอิสระคือสิ่งที่เข้ามาเติมเต็ม

     ยังมีอีกหลายๆ ตัวอย่างที่ออกจากอุตสาหกรรมโรงแรมแล้วไปได้ดิบได้ดีซึ่งคนเหล่านี้ถ้าจะให้กลับเขามาอีกมักจะมีคำตอบอยู่สองอย่างคือ “ไม่” กับ “คิดดูก่อน” อาจจะมีส่วนน้อยที่จะตัดสินใจกลับมาทันทีเพราะบางคนก็กลัวว่า “จะโดน Layoff อีกหรือเปล่า” หรือ “ถูกลดค่าจ้างอีกไหม?” เมื่อสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีชีวิตที่ดีอยู่แล้วการจะให้กลับไปก็ต้องคิดกันให้ดีพอสมควรยิ่งเป็นยุคของ Work life balance แล้วด้วยหลายคนอาจจะเลือกไม่กลับมา

     3. งานโรงแรมไม่ใช่อาชีพในฝันอีกต่อไป ผลพวงจากกระแสความเป็น Digitalization ทำให้ผู้คนคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นมีตัวอย่างผู้คนที่ได้รับความสำเร็จจากการเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Influencer) หรือเป็น Blogger, Youtuber, ฯลฯ ทำให้อาชีพเหล่านี้มักจะได้รับความนิยมในกลุ่มแรงงาน Gen Y, Gen Z, ที่เป็นแรงงานหลักในปัจจุบันมากกว่างานโรงแรม ผลพวงจากความไม่ใช่อาชีพในฝันเพราะต้องทำงานหนักทำให้ความสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมคนกลุ่มนี้ลดน้อยลง แม้แต่นักเรียนนักศึกษาที่เรียนสาขาการโรงแรมเมื่อจบมาก็อาจจะเลือกไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมฯ เพราะมีช่องทางในการหาอาชีพมากขึ้นในปัจจุบัน มีตัวอย่างการทำเงินหลายวิธีการให้เลือกศึกษา แม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จแต่ด้วย Personality ของ Gen นี้ที่อยากรู้อยากลองก็ไม่กลัวที่จะเริ่มต้นกับสิ่งเหล่านั้น

     4. เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก่อนหน้านี้มีหลายชุดความคิดเชื่อว่าอุตสาหกรรมที่ต้องเป็น Human Touch อย่างโรงแรม ไม่สามารถนำเทคโนโลยีอะไรเข้ามาใช้ได้มากนักเพราะ “แขกต้องการสัมผัสกับการให้บริการโดยมนุษย์มากกว่า” อันนี้เป็นชุดความคิดที่เป็นจริงและไม่ผิดไปจากนี้ เพียงแต่เมื่อเราร้อยเรียงวิกฤตการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับแนวโน้มทั้ง 3 ข้อที่ผ่านมา เมื่อแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลไม่ได้เทคโนโลยี คือ สิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ในที่สุด อาจจะไม่ได้เข้ามาด้วยความเต็มใจและอยากจะเลือกของผู้ประกอบการ แต่เมื่อธุรกิจต้องเดินไปข้างหน้าการปล่อยให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีอยู่ต่อไปย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีนักที่จะให้เกิดขึ้น

     ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกนำมาใช้มากขึ้นพร้อมกับการปรับข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการใช้ที่จะมาพร้อมๆ กัน เช่น ระบบ Online Check In ที่ให้แขกเซ็น ร.ร.3 ได้โดยไม่ต้อง Print ออกมาเป็น Hard Copy เซ็นกันอีกทีตอนมาถึงโรงแรมและสามารถจัดเก็บไว้ในรูปแบบ Digital File โดยได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการว่าเก็บได้เวลามาตรวจสอบก็แค่เปิดไฟล์ให้ดูไม่ต้องมีเป็นแผ่นกระดาษเหมือนในทุกวันนี้ หรือแม้แต่การส่ง ร.ร.4 ที่อาจจะมีการอนุญาตให้ส่งเป็น E-Filling ได้เหมือนกรณีของการส่งรายชื่อแขกต่างชาติให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.30) ซึ่งในปัจจุบันยังต้องไปส่งที่อำเภอหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่นับรวมเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาพนักงานขาดแคลน เช่น ระบบ IOT ต่างๆ ระบบ Robot ในบางเนื้องานที่เป็นงานประจำซ้ำๆ ใช้ทักษะไม่สูง ระบบ Keyless และ Mobile Key ที่ลดขั้นตอนการรอกุญแจและ Check In กับพนักงานไปได้ในตัว นี่คือ ตัวอย่างที่อาจจะเข้ามามีบทบาท เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในโรงแรมเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น

     ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับพนักงานโรงแรมที่ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ซึ่งหลายๆ สำนัก หลายๆ องค์การ ต่างออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ว่าเป็นอาชีพที่ “เสี่ยงจะถูกเลิกจ้างมากที่สุด” หรือไม่ก็ “เป็นอาชีพดาวร่วงแห่งปี” เพราะจากวันนั้นที่เราประสบเคราะห์กรรมโดนเลิกจ้าง โดนลดเงินเดือน ตกงานเป็นเดือนๆ ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด วันนี้กลับกลายมาเป็นหลายโรงแรมกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การหาพนักงานที่ต้องการไม่ได้เพราะโลกปรับให้แรงงานต้องมีทักษะอื่นๆ ควบคู่กับทักษะงานบริการไปด้วย การเรียกค่าตัวที่สูงขึ้นสำหรับแรงงานทักษะสูง ในหลายพื้นที่แล้วและแม้จะ Offer ดีขนาดไหนบางทีก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้ “ได้คนที่ต้องการ” หรือแม้แต่ได้คนที่ต้องการมาแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะ “อยู่นาน” หรือเปล่า หลายที่ก็ยังคงต้องหาพนักงานกันต่อไป

     แน่นอนว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานมุมหนึ่งไม่ได้เกิดมาแค่จากแรงงานในตลาดมีไม่เพียงพอแต่สิ่งที่มีเพิ่มขึ้นมานั่นคือ “ความคาดหวังของนายจ้าง” ที่ต้องการแรงงานทักษะที่สูงขึ้นตามเนื้องานและโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปมากขึ้นด้วยเช่นกัน

     สุดท้ายแล้วอย่างหนึ่งที่เราพอจะยึดมั่นได้คือ “ความไม่แน่นอนไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้” ถ้าว่ากันตาม Iceberg Theory ส่วนที่โผล่พ้นน้ำตอนนี้คงเป็นอุปสรรคต่างๆ ที่เรามองเห็นจากการเร่งพลิกฟื้นการท่องเที่ยวซึ่งเราอาจจะหาวิธีหลบหลีกมันไปได้บ้างโดยมีเรือที่กำลังแล่นไปข้างหน้าซึ่งเปรียบเสมือนการเร่งขยายธุรกิจของกลุ่มทุนต่างๆ แต่ส่วนที่จมอยู่และกำลังจะเป็นปัญหาที่เรืออาจจะพุ่งชนก็คงเป็นการขาดแคลนแรงงานที่ถ้าไม่เร่งแก้เสียแต่เนิ่นๆ อาจทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมสะดุดอีกครั้งก็เป็นได้

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​