เบิกทางชีวิตติดลบ สู่เจ้าของธุรกิจผลิตอุปกรณ์ไต่ผารายใหญ่ของโลก

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

     สำหรับคนๆ หนึ่งที่ชีวิตเคยรุ่งเรืองแต่วันหนึ่งกลับดิ่งเหวเนื่องจากก้าวเดินผิดเส้นทางหลงอยู่ในวังวนยาเสพติดนาน 8 ปีจนเป็นคนไร้บ้านและติดคุกติดตาราง จากอนาคตที่ดูเหมือนมืดมน แต่เมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสในการทำงานให้ ไม่เพียงลืมตาอ้าปากได้ แต่ยังกลายเป็นใบเบิกทางที่นำไปสู่การเป็นเจ้าของบริษัทผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬาปีนผารายใหญ่สุดรายหนึ่งของโลกอีกด้วย เรากำลังพูดถึง "เอียน พาวเวลล์" ผู้ก่อตั้งบริษัทคิลเตอร์ กริปส์ ผู้ผลิตตัวจับสำหรับติดตั้งหน้าผาจำลองจากสหรัฐอเมริกา

     การใช้ชีวิตของเอียนนั้นมีหลากหลายครบทุกรสชาติ เขาเกิดเมื่อปี 1971 ที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย เขาจำได้ว่าชื่นชอบการปีนป่ายตั้งแต่ยังเล็ก แต่ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่สบายนักเมื่อพ่อที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเลือกปลิดชีวิตตัวเองตอนที่เอียนอายุเพียง 10 ขวบ แม่ของเขาจึงย้ายไปอยู่เท็กซัส และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มกีฬาปีนหน้าผา

     ความฝันของเอียนคืออยากเป็นนักกีฬาปีนผาที่ได้เข้าร่วมแข่ง เขาถึงขั้นติดตามทีมชาติสหรัฐฯ อยู่ระยะหนึ่งก่อนถอดใจเมื่อโชคชะตาไม่เป็นใจให้เป็นนักกีฬามืออาชีพ ด้วยความที่ยังรักในกีฬาปีนหน้าผา เขาจึงเลือกที่จะยังวนเวียนในสายนี้

     ความที่มีพื้นฐานด้านศิลปะและการออกแบบ ประมาณต้นทศวรรษ 1990 เอียนได้งานที่บริษัทโบลเดอร์ โฮลส์ แอนด์ สเตรทอัพในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโรราโดซึ่งผลิต “ที่จับ” (hold) สำหรับติดหน้าผาจำลอง ก่อนที่เขาจะร่วมกับไท ฟูส เพื่อนในวงการปีนหน้าผาอีกคนออกมาทำ “ที่จับ” เองโดยตั้งบริษัทชื่ออี-กริปส์ (E-Grips) กลายเป็นว่าได้รับการตอบรับดีเนื่องจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่พวกเขาออกแบบขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของที่จับ หรือวัสดุที่ใช้ซึ่งเปลี่ยนจากโพลีเอสเตอร์เป็นยางยูรีเทนสังเคราะห์ที่ใช้งานดีกว่า

     เรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงชีวิตเฟื่องฟูสุดๆ เงินทองไหลมาเทมา รายได้ไม่ได้มาจากการขายที่จับอย่างเดียว แต่เอียนยังผลิตงานศิลปะด้วย ไม่ว่าจะสร้างสรรค์งานอะไรออกมาก็ดูจะขายออกง่ายดายแถมยังทำเงินดี เอียนหลงระเริงกับเงินทองและความสำเร็จจนถูกชักนำให้รู้จักยาเสพติด ซึ่งเขาลองแทบทุกชนิดทั้งโคเคน ยาไอซ์ และอื่น ๆ จนเสพติดงอมแงม ไม่สามารถทำงานได้ และต้องขายหุ้นในบริษัทอี-กริปส์ให้หุ้นส่วน

     ท้ายที่สุดก็หมดเนื้อหมดตัว บางช่วงต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนข้างถนนจนกระทั่งถูกจับเข้าคุกข้อหาลักทรัพย์ และปลอมแปลงบัตรเครดิต เป็นเวลา 8 ปีที่ชีวิตเอียนพังพินาศและเข้าสู่จุดตกต่ำสุด แต่การอยู่ในเรือนจำมีข้อดีอย่างหนึ่งคือทำให้เขาสามารถเลิกยาเสพติดได้เด็ดขาด กระทั่งเขาเป็นอิสระจากเรือนจำและกำลังเคว้งอยู่นั้น แดน ฮาวลีย์ เพื่อนเก่าคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจยิมชื่อเดอะ สปอท (The Spot) ได้ชักชวนมาทำงานที่ยิม

     หน้าที่ของเอียน คือ ทำความสะอาดหน้าผาจำลอง ทำความสะอาดพื้น และงานจิปาถะทั่วไป วันหนึ่ง แดนนำโฟมมาให้และบอกกับเอียนให้ลองแกะโฟมดู เขาจึงซ้อมมือด้วยการแกะที่จับจากโฟม จังหวะและโอกาสเข้ามาอีกครั้งเมื่อทิม แฟร์ฟิลด์ นักปีนผาในตำนานได้ยื่นมือช่วยเหลือโดยการมอบเช็คมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ให้เอียนกลับมาทำธุรกิจผลิตที่จับ

     ในปี 2013 เอียนและแจ็คกี้ ฮอฟเทิลซึ่งทำงานที่เดอะ สปอทด้วยกันก่อนจะกลายเป็นคู่รักกันก็ก่อตั้งบริษัทคิลเตอร์ กริปส์ด้วยเงินลงทุนที่ได้จากทิม เอียนผลิตที่จับออกมาชุดแรก 350 อันโดยมีแจ็คกี้ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายการตลาดช่วยขาย ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เป็นการทำงานด้วยทีมเวิร์กที่ดี คนหนึ่งมีพรสวรรค์ในการออกแบบสินค้า อีกคนเก่งด้านการตลาด

     การเปิดบริษัทผลิตที่จับเรียกได้ว่าถูกเวลาเนื่องจากเป็นช่วงที่กีฬาปีนหน้าผากำลังได้รับความนิยม ถือเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้เนื่องจากมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ และแม้กระทั่งดีไซน์ของหน้าผาจำลองก็ทันสมัยขึ้น เช่นมีการนำวัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสมาใช้

     เอียนสนุกกับการออกแบบที่จับรูปทรงต่าง ๆ แม้กระทั่งที่จับขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีการผลิตออกมา บริษัทเขาก็ทำออกมาขาย ราคาสินค้าจึงค่อนข้างสูงโดยเฉลี่ยชิ้นละ 120 ดอลลาร์ บางชิ้นราคาขยับไป 200-300 ดอลลาร์ก็มีซึ่งเป็นราคาที่สูงจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับที่จับแบบเดิม ๆ ที่เคยผลิตในอดีต อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้กีฬาปีนหน้าผาเป็นที่นิยมต่อไป เอียนจะพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาถูกลง

     จากชีวิตที่ตกต่ำสุดขีด เอียนสามารถถีบตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาเกี่ยวกับการปีนหน้าผาที่ใหญ่สุด ได้มาตรฐานสุด และมีชื่อเสียงระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากพรสวรรค์ในการเป็นดีไซเนอร์ สิ่งที่ทำให้เขาก้าวมาถึงบันไดแห่งความสำเร็จขั้นนี้มาจากการได้รับโอกาสและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างในจังหวะเวลาที่ดี รวมถึงการมีคู่ชีวิตที่ส่งเสริมกันและกันนั่นเอง

Source:

https://gripped.com/profiles/the-perfect-hold-an-art-of-the-industry/

www.bbc.com/news/business-50270731

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​