ทำอย่างหนึ่งให้ดีที่สุด สูตรสร้างธุรกิจยืนหยัดกว่า 3 ศตวรรษ Twinings แบรนด์ชาชื่อดังจากอังกฤษ

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     หากพูดถึงแบรนด์สินค้าที่เก่าแก่สุดในโลก แน่นอนว่า Twinings แบรนด์ชาจากประเทศอังกฤษ ย่อมติดอันดับต้นๆ เพราะก่อตั้งเมื่อ 300 กว่าปีก่อน จนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ยั้งยืนยง อีกทั้งภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็ดีคงเส้นคงวามาตลอด เป็นไปได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจชาเติบโตอย่างมั่นคงเพราะชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำนั่นเอง 

     เครื่องดื่มชาถูกค้นพบในยุคจักรพรรดิเสินหนง โดยครั้งหนึ่งน้ำดื่มที่ข้าราชบริพารนำมาถวายมีสีน้ำตาลและส่งกลิ่นหอม เพราะมีใบไม้ชนิดหนึ่งตกลงไปในหม้อต้มโดยบังเอิญ เมื่อลองเสวยดูก็พบว่า น้ำต้มนั้นมีรสชาติดี อีกทั้งยังให้ความรู้สึกสดชื่น หลังจากนั้นชาก็กลายเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันทั่วไปในเมืองจีน ชาได้เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2158 จากการแนะนำของบริษัทอีสต์ อินเดีย จำกัด ส่วนผู้ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการดื่มชาของสังคมอังกฤษมากที่สุดคนหนึ่งคือ แคเธอรีน เดอ บรากันซา ราชินีชาวโปรตุเกสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ที่มักเชิญพระสหายมาร่วมดื่มชาและสังสรรค์กัน หลังจากนั้นไม่นาน วัฒนธรรมการดื่มชาก็ได้รับความนิยมในสังคมอังกฤษอย่างรวดเร็ว

     สำหรับที่มาของ Twinings ผู้ที่ให้กำเนิดชาแบรนด์นี้จนกลายเป็นตำนานคือ โธมัส ทไวนิง อดีตพนักงานบริษัทอีสต์ อินเดีย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการนำเข้าชาจากทั่วโลก ในวัยเพียง 26 ปี เขาเริ่มคิดเปิดธุรกิจนำเข้าชาเป็นของตัวเอง เริ่มด้วยการซื้อกิจการร้าน TOM'S COFFEE HOUSE บนถนน Strand ในกรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ.2249 สถานที่ตั้งนี้เองถือเป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จทางธุรกิจของ Twinings เพราะตั้งอยู่ระหว่างกรุงลอนดอน และเมืองเวสต์มินสเตอร์ พื้นที่ที่ชนชั้นสูงนิยมมารวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์ หรือทำธุรกิจ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน เช่น นักกวี ทหาร ฯลฯ

     ที่ร้าน TOM'S COFFEE HOUSE โธมัสตั้งใจนำชามาเป็นจุดขายเพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ ที่กำลังเป็นที่นิยม ด้วยวิสัยทัศน์ของเขาที่มองเห็นว่าชาจะกลายเป็นที่นิยมในอนาคต และด้วยภาษีนำเข้าของชาที่แพงมากขนาดทำให้ชาเขียวกันพาวเดอร์ (Gun Powder Green Tea) ของ Twinings ที่ขายในปี พ.ศ.2249 มีราคาสูงถึง 160 ปอนด์ต่อ 100 กรัม ชาจึงเป็นเครื่องดื่มสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนั้น เขายังสามารถจำหน่ายใบชา Twinings ไปสู่ร้านกาแฟอื่นๆ ได้อีกด้วย

     สำหรับสาวสังคมชั้นสูง การจะเข้าไปในโลกของผู้ชายที่ร้านกาแฟถือเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในสมัยนั้น แต่ที่ TOM'S COFFEE HOUSE ของโธมัส ทไวนิง พวกเธอสามารถได้รับการต้อนรับและบริการอย่างดีด้วยชาคุณภาพสูงรสเลิศ จึงไม่แปลกที่จะมีสาวสังคมชั้นสูงจำนวนมาก รวมถึง เจน ออสเตน นักเขียนชื่อดังมาเป็นลูกค้าประจำที่ร้าน และทำให้ TOM'S COFFEE HOUSE ได้รับความนิยมสูงมากจนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แม้แต่สมเด็จพระราชินีแอนน์ยังทรงแต่งตั้ง โธมัส ทไวนิงให้เป็นผู้นำชามาส่งให้ในวังเครื่องดื่มประจำราชสำนัก และภายหลังพระนางเจ้าวิกตอเรียทรงพระราชทานตรารับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นเครื่องดื่มประจำราชสำนักตราบจนถึงทุกวันนี้

     การผ่านกฎหมายลดภาษีชาของรัฐบาลอังกฤษส่งผลต่อธุรกิจชาอย่างยิ่งคือ ทำให้การบริโภคชาในประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปี พ.ศ.2292 Twinings ส่งออกชาเป็นครั้งแรก โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลายทางแห่งแรก และผู้ว่าการแห่งนครบอสตัน ในขณะนั้นก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของชา Twinings ปี พ.ศ.2330 มีการออกแบบโลโก้ Twinings เป็นครั้งแรก เป็นเวลา 220 ปีเต็มที่โลโก้นี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องหมายการค้ามาจนถึงปัจจุบัน  

     Twinings พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการปรุงชาสูตรต่างๆ ขึ้นมา ชายุคแรกๆ ที่ถูกปรุงและยังจำหน่ายทุกวันนี้ ได้แก่ English Breakfast Tea, Irish Breakfast, Earlgrey และ Ceylon พร้อมๆ กับที่ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก นวัตกรรมชาซองก็ถูกแนะนำสู่ผู้บริโภค ภายใต้การบริหารและจัดการของบริษัท Associated British Food & Beverage ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 ปัจจุบันชาภายใต้แบรนด์ Twinings วางจำหน่ายกว่า 200 รสชาติ และยอดขายชาซองเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 7,000 ล้านซอง

     ทายาทรุ่นที่ 10 จากตระกูลทไวนิงคนเดียวที่ยังคลุกคลีในธุรกิจชา คือ สตีเฟ่น ทไวนิง ซึ่งนั่งเก้าอี้ Director of Corporate Relations หน้าที่ของเขาคือ การเป็น Tea Ambassador ที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อผลักดันวัฒนธรรมการดื่มชาให้เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในสังคม

     ต่อคำถามที่ว่าอะไรถึงทำให้ Twinings ยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้ คำตอบของสตีเฟ่น คือ... 

     “เรามีปรัชญาทางธุรกิจที่เรียบง่ายมาก นั่นคือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีที่สุด เสาะหาใบชานำมาปรุงเพื่อให้ได้ชาคุณภาพสูง ที่ Twinings เราจะมีคนชิมชาที่ผ่านการฝึกจนเชี่ยวชาญ นอกจากนั้น มาตรฐานการผลิตก็ต้องสูง กระบวนการผลิตพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือก การปรุง การชิม การทดสอบรวม 7 ขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่าชานั้นจะออกมาอย่างที่ควรต้องเป็น จึงสร้างความไว้วางใจให้ผู้บริโภค เมื่อพูดถึงชา พวกเขาจึงนึกถึง Twinings”

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกธุรกิจย่อมมีคู่แข่ง วงการชาก็เช่นกัน Twinings ไม่ได้เพิกเฉยต่อการแข่งขันทางธุรกิจ แม้จะเป็นแบรนด์ดังที่อยู่คู่โลกมานานกว่า 300 ปี ทั้งยังเป็นชาประจำราชสำนักที่ราชวงศ์อังกฤษให้ความไว้วางใจ แต่ Twinings ไม่มีไร่ชาเป็นของตัวเองเลยสักแห่ง นอกเหนือจากชื่อเสียงและการเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ถือเป็นแต้มต่อเหนือคู่แข่ง การไม่มีไร่ชาของตัวเองก็เป็นข้อได้เปรียบเช่นกัน เนื่องจากไม่ต้องจำกัดว่าจะต้องใช้จากไร่ตัวเอง แต่มีความเป็นอิสระสูงในการคัดเลือกใบชาแหล่งต่างๆ รวมแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก 

     ไม่เพียงเท่านั้น การผลิตชาให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคในท้องถิ่นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ อย่างในตลาดจีนที่วัฒนธรรมการดื่มชาฝังรากลึกมานาน Twinings ซึ่งเป็นชาต่างประเทศกลับเอาชนะคู่แข่งและได้รับการยอมรับจากชาวจีน โดยกลยุทธ์ที่นำมาใช้คือ การนำเสนอสินค้าที่ไม่มีขายตามร้านชาท้องถิ่นทั่วไป และการพัฒนาคุณภาพและรสชาติอย่างต่อเนื่อง 

     “ในตลาดจีน ธุรกิจของ Twinings เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และถือเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุดในบรรดา 140 ประเทศที่สินค้าของบริษัทเข้าไปวางจำหน่าย คาดว่าตลาดชาในจีนจะเติบโตไปอีกหลายปี”

     แม้การแข่งขันจะเข้มข้นดุเดือด แต่กระแสเพื่อสุขภาพจะยิ่งส่งเสริมให้คนหันมาดื่มชามากขึ้น ตลาดชาจึงยังส่อแววสดใสอีกยาวนาน เชื่อว่า Twinings จะยังเป็นชาอังกฤษแท้ที่คงรสชาติเยี่ยมละเมียดละไม และยังสร้างสรรค์สูตรชาใหม่ๆ หลากหลายสูตรออกมาจนเป็นที่ยอมรับจากนักดื่มชาทั่วโลกเฉกเช่นไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมากว่า 300 ปี

7,000 ล้านซอง คือ ยอดขายชาซอง Twinings ต่อปี โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายกว่า 200 รสชาติด้วยกัน 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ