KeepCup แก้วกาแฟที่ขายได้กว่า 12 ล้านใบทั่วโลก ที่ได้ไอเดียจากความรู้สึกผิดของลูกค้า

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

           

     ก่อนการระบาดของโควิด คาเฟ่หลายแห่งมักทำแคมเปญให้ลูกค้านำแก้วมาบรรจุเครื่องดื่มเองเพื่อแลกส่วนลด เชื่อว่าลูกค้าจำนวนมากเคยทำเช่นนั้น นอกจากได้เครื่องดื่มราคาถูกลงยังมีส่วนร่วมในการลดขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าของคาเฟ่แห่งหนึ่งหนึ่งในออสเตรเลียผู้จุดประกายให้เกิดกระแสแก้วกาแฟใช้ซ้ำด้วยแก้วรักษ์โลก “คีพคัพ” (KeepCup) แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมไปทั่วโลก

     เธอผู้นั้นมีชื่อว่า "แอบิเกล ฟอร์ซิธ" เป็นชาวเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย แอบิเกลจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และเคยทำงานในสำนักงานกฏหมายระยะหนึ่งก่อนลาออกมาเปิดคาเฟ่ “บลูแบ็ก” (Bluebag) ในปี 1998 ร่วมกับเจมี่ซึ่งเป็นพี่ชาย ธุรกิจเติบโตดีจนสามารถขยายไป 6 สาขา

     ย้อนไปช่วงเวลานั้น การซื้อกาแฟแบบ take away เพิ่งเป็นที่นิยม และคาเฟ่ของแอบิเกลก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่นำแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมาบริการ โดยแต่ละครั้งเธอต้องสั่งแก้วใช้ครั้งเดียวไม่ต่ำ 50,000 ใบเข้าร้าน

     กระทั่งวันหนึ่งมีลูกค้าที่เป็นทนายมาซื้อกาแฟแล้วเปรยว่ารู้สึกผิดเล็กๆ ที่ดื่มกาแฟจากแก้ว take away แอบิเกลจึงเริ่มฉุกใจคิดถึงปัญหาขยะจากแก้วเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งมีปริมาณมหาศาล ปี 2006 คาเฟ่บลูแบ็กจึงทดลองนำแก้วซุปสำหรับใส่เครื่องดื่มให้ลูกค้ายืม เมื่อลูกค้านำแก้วกลับมาคืนและซื้อใหม่จะได้ส่วนลด 50 เซนต์

     การทดสอบครั้งนั้นพบว่ามีกลุ่มลูกค้าสายเขียวอนุรักษ์โลกจำนวนหนึ่งต้องการใช้แก้วซ้ำเพื่อลดขยะ ทำให้แอบิเกลมั่นใจว่าแก้วเครื่องดื่มใช้ซ้ำยังเป็นที่ต้องการในตลาด เธอเดินสำรวจตามห้างๆ เพื่อดูสินค้าแต่ไม่พบแก้วกาแฟแก้วชาที่ใช้สำหรับบรรจุกาแฟจากเครื่องชงของบาริสต้าและขนาดเหมาะสำหรับการพกพา

     แอบิเกลจึงออกแบบเองและจ้างโรงงานผลิต แก้วเครื่องดื่มของเธอที่มีความใกล้เคียงกับแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งทำให้สะดวกทั้งบาริสต้า และคนดื่ม เนื่องจากออสเตรเลียนิยมบริโภคเครื่องดื่มร้อน แก้วที่แอบิเกลออกแบบจึงมีขนาดประมาณ 12 ออนซ์ มีฝาปิดที่ผู้ใช้จิบเครื่องดื่มจากฝาได้ พร้อมทั้งมีฉนวนกันร้อนครอบรอบแก้วด้วย    

     ปี 2009 เธอเปิดตัวแก้ว “คีพคัพ” ครั้งแรกที่งานแสดงสินค้าในเมลเบิร์น เพียง 6 ชั่วโมงแรกของการเปิดบู้ทก็ทำยอดขายไป 1,000 ใบ นับตั้งแต่นั้น แอบิเกลก็เริ่มหันมาผลิตแก้วคีพคัพอย่างจริงจัง สร้างรายได้ปีละกว่า 6 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 200 ล้านบาท ก่อนจะมีการพัฒนาดีไซน์ใหม่ๆ ออกมา โดยใช้วัสดุที่แตกต่าง ได้แก่ แก้ว พลาสติก และสแตนเลส และมีขนาดตั้งแต่ 120 มล.ไปจนถึง 474 มล.  

     กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2017 เมื่อสถานีโทรทัศน์เอบีซีออกอากาศรายการสารคดีบลูแพลเน็ตเรื่อง “การทำสงครามขยะ” ทำให้เห็นว่าในแต่ละปีมีแก้วกาแฟใช้แล้วทิ้งมากถึง 1,000 ล้านใบหรือเฉลี่ยวันละ 2.7 ล้านใบที่กลายเป็นขยะในออสเตรเลีย กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันหาแก้วกาแฟทางเลือก ส่งผลให้แบรนด์คีพคัพได้รับอานิสงค์ไปด้วย แต่ก็มีแบรนด์อื่นที่เป็นคู่แข่งผลิตสินค้าออกมาชิงส่วนแบ่งตลาด

     แอบิเกลเผยสินค้าภายใต้แบรนด์คีพคัพผลิตใน 2 ประเทศได้แก่ออสเตรเลีย และอังกฤษ ปัจจุบันทำยอดขายไปแล้วมากกว่า 12 ล้านใบใน 75 ประเทศทั่วโลก แม้แบรนด์จะเป็นที่รู้จักแล้ว แต่คีพคัพยังคงเดินสายตามงานแสดงสินค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้าถึงลูกค้าทั้งผู้บริโภคทั่วไป และลูกค้าองค์กรที่ต้องการผลิตแก้วเป็นของชำร่วยหรือของขวัญ รวมถึงคาเฟ่ต่างๆ ที่ต้องการแก้วรักษ์โลกพะยี่ห้อตัวเองไปวางขายในร้าน 

     ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจคีพคัพได้รับผลกระทบบ้างเนื่องจากคาเฟ่ต่าง ๆ ปิดบริการ และมีมาตรการยกเลิกการใช้แก้วซ้ำในร้านกาแฟ อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่ว่าเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้แก้ว re-use ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นปรากฏการณ์ในสังคม

     ในฐานะผู้บริหารคีพคัพ แอบิเกลยังเดินหน้ารณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด เธอนำเสนอความคิดให้คาเฟ่ต่างๆ คิดเงินเพิ่ม 50 เซนต์สำหรับลูกค้าที่สั่งเครื่องดื่มบรรจุแก้วใช้แล้วทิ้ง เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก้วที่ใช้ซ้ำมากขึ้น แนวคิดนี้เหมือนการเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ถ้าลืมพกถุงช้อปปิ้งไปก็ต้องยอมจ่ายเงินซื้อถุงพลาสติกจากแคชเชียร์ อาจถูกต่อต้านบ้าง แต่ใช้กันแพร่หลายก็จะเป็นความเคยชินและเป็นที่ยอมรับในที่สุด หากคาเฟ่ต่างๆ ร่วมใจใช้มาตรการนี้ จะทำให้ลดขยะจากแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมากถึง 8,000 ล้านใบต่อปีเลยทีเดียว

 

Source:

www.beanscenemag.com.au/abigail-forsyth-on-starting-a-movement-with-keepcup/

/www.bbc.com/news/business-52366981

www.celebrityspeakers.com.au/speakers/abigail-forsyth/

www.theceomagazine.com/executive-interviews/retail-wholesale/abigail-forsyth/

www.bit.iy/theceomagazine.com/executive-interviews/retail-wholesale/abigail-forsyth/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​