จีนเตรียมบุกตลาดทุเรียน คาดวางขายกว่า 4.5 หมื่นตันปี 2024 หลังซุ่มปลูก ผลผลิตออกแล้ว

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

       อย่างที่ทราบกัน ผลไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวจีนนิยมบริโภคมากที่สุดคือทุเรียนหรือ “ราชันแห่งผลไม้” นั่นเอง ส่งผลให้จีนเป็นตลาดใหญ่สุดและนำเข้าทุเรียนมากกว่าทุกประเทศในโลก ข้อมูลระบุ ปี 2021 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดปริมาณ 821,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,210 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 แสนล้านบาท) โดยนำเข้าจากไทยมากสุดเป็นมูลค่า 3,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

       อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่าสถานการณ์การนำเข้าและส่งออกทุเรียนระหว่างจีนกับไทย รวมถึงมาเลเซียที่เริ่มผันมาปลูกทุเรียนป้อนตลาดจีนเช่นกันจะเป็นอย่างไรเมื่อมีรายงานล่าสุดว่าสวนทุเรียนทางใต้ของจีนที่มลฑลกวางตุ้งและมณฑลไห่หนานที่จีนซุ่มทดลองปลูกนั้นเริ่มให้ผลผลิตแล้ว

       ไห่หนานทีวีรายงานว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนในไห่หนาน (ไหหลำ) ที่ให้ผลผลิตมีเกินกว่า 2,000 เฮกตาร์ (12,500 ไร่) คาดว่าปี 2024 จะสามารถส่งผลผลิตออกวางจำหน่ายได้ราวปีละ 45,000-75,000 ตัน ทั้งนี้ ตู้ ไป่จง กรรมการผู้จัดการบริษัทไห่หนาน ยูฉี อะกริคัลเจอรัล (Hainan Youqi Agricultural) เผยว่าสวนทุเรียนของบริษัทดำเนินไปได้ด้วยดี โดยทุเรียนเกือบ 100 ต้นสามารถให้ผลผลิตแล้ว

      ด้านกัน หันเจียง ผู้อำนวยการฮั่วเส็ง อีโคโลติคอล อะกริคัลเจอร์ เบสซึ่งดำเนินธุรกิจสวนทุเรียนอีกรายในไห่หนานกล่าวว่าต้นทุเรียนที่ปลูกให้ผลผลิตมากขึ้นในแต่ละปี บางต้นออกลูกจำนวนหลายสิบลูกเลยทีเดียว โดยลูกที่หนักสุดมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ปัจจุบัน บริษัทเพิ่งปลูกต้นกล้าทุเรียนไป 200,000 ต้น สำหรับต้นที่ปลูกก่อนหน้าก็ให้ผลผลิตแล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนตค.นี้     

       จากการรายงานของไห่หนานทีวี ต้นกล้าทุเรียนถูกนำมาปลูกที่ไห่หนานครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1950 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้นทุเรียนไม่เติบโตและไม่ออกดอกออกผลเนื่องจากการขาดความรู้ด้านเทคนิคการปลูก กระทั่งปี 2019 มีรายงายว่าทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่เป่าถิงซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษบนเกาะไหหลำจำนวน 44 ต้นได้ออกผล ถือเป็นความสำเร็จที่จุดประกายให้บรรดาเกษตรกรในไห่หนานเกิดการตื่นตัวอีกครั้ง

       บรรดาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นต่างพากันศึกษาและทดลองแผนการปลูกตั้งแต่การควบคุมแมลง การให้น้ำและปุ๋ย ส่งผลให้อัตราการอยู่รอดของต้นกล้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนานระบุอุตสาหกรรมการปลูกทุเรียนในไห่หนานพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ที่ปลูกทุเรียน อาทิ เป่าถิง ซานย่า หลิงสุ่ย เลตง และอีกหลายเมืองเริ่มให้ผลผลิตแล้วบนพื้นที่มากกว่า 12,500 ไร่

       เจ้าหน้าที่สถาบันแนะนำให้ปลูกบนพื้นที่ภูเขาทางใต้และตอนกลางของไห่หนานก่อนขยับขยายพื้นที่ปลูกไปทางเหนือ โดยทางสถาบันจะนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณต้นกล้าทุเรียนให้พอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร

       นอกจากไห่หนานแล้ว มณฑลกวางตุ้งก็เป็นอีกแหล่งที่ปลูกทุเรียนและเริ่มให้ผลผลิตเช่นกัน ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการปลูกทุเรียนนอกเกาะไหหลำซึ่งอยู่ในเขตร้อน ทุเรียนที่นำมาปลูกมีหลายสายพันธุ์ รวมถึง ทุเรียนมูซังคิง และทุเรียนหนามดำอันขึ้นชื่อจากมาเลเซีย โดย 2 พันธุ์นี่เริ่มปลูกเมื่อปี 2018 บนพื้นที่ 125 ไร่ในเมืองเหมาหมิง ทางตะวันเฉียงใต้ของกวางตุ้ง ปัจจุบัน เหมาหมิงกลายเป็นพื้นที่หลักในการปลูกผลไม้เขตร้อนหลายชนิด รวมถึง กล้วยและลิ้นจี่ 

       แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่สุดไปยังจีน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาที่ต้องการชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนด้วยเช่นกัน อีกทั้งจีนก็เริ่มปลูกทุเรียนได้เอง จึงเป็นที่น่าจับตาว่าการส่งออกทุเรียนของไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่

       อย่างไรก็ตาม ชี เจ้อหมิง ทูตพาณิชย์สถานทูตจีนประจำมาเลเซียให้ความเห็นว่าความต้องการทุเรียนในจีนจะยังคงสูงอยู่ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ชาวจีนชอบบริโภคและนิยมซื้อเป็นของขวัญของฝากแก่สมาชิกครอบครัว มิตรสหาย และใช้เป็นของกำนัลในแวดวงธุรกิจด้วย

Source:

https://www.producereport.com/article/chinese-durians-are-almost-here-hainan-durians-hit-market-2024

https://www.producereport.com/article/guangdong-provinces-first-durian-orchard-fruiting

https://www.ciie.org/zbh/en/news/exhibition/focus/20220426/32318.html

https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3106842/why-china-loves-durian-smelly-fruit-popular-thailand

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​