ทำสินค้านวัตกรรมแบบไหนถึงขายดี คุยกับ Anitech เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติไทย ทำยอดขายปีละหลายล้านชิ้น

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ชาคริต ยศสุวรรณ์

 

     “ปีๆ หนึ่งเรามีสินค้าที่เป็น sample จากทั่วโลก รวมทั้ง prototype ที่เราทดลองและทำขึ้นมาแต่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาแล้วต้องปัดทิ้งไปเป็น 100 รายการ ถ้าเรานำความล้มเหลวตรงนี้มานับเป็นคะแนนน่าจะเลิกทำธุรกิจไปหลายปีแล้ว”

     คำบอกกล่าวถึงความตั้งใจของ พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือบริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ที่ไม่ถอดใจยอมแพ้ง่ายๆ ความใจสู้ในวันนั้นส่งผลให้วันนี้เขา คือ เจ้าของนวัตกรรมปลั๊กไฟ IOT รายแรกที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ และเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติไทย Anitech มีสินค้าจำหน่ายกว่า 2 ล้านชิ้นต่อปี ทั้งในไทยและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV

Sometimes you win, sometimes you learns

     หากไม่นับแบรนด์สินค้าต่างชาติ Anitech อาจเป็นแบรนด์ไทยที่พบได้แทบทุกบ้านที่ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งชิ้นหรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะสินค้าของบริษัทที่มีมากกว่า 1 พันรายการ ครอบคลุมสินค้าหลากหลายหมวดไล่ไปตั้งแต่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ดีไวซ์ในบ้าน กลุ่มปลั๊กไฟ กลุ่มเกมมิ่ง กลุ่ม health and hygiene กลุ่ม home and living แต่ทว่าจะได้สินค้าออกมาแต่ละชิ้นนั้นบริษัทต้องทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีเหมาะสมที่สุด

     “ในแต่ละปีๆ เรามีสินค้าที่เป็น sample จากต่างประเทศทั่วโลก หรือ prototype ที่เราทดลองและทำขึ้นมาซึ่งมีหลายชิ้นที่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาแล้วต้องปัดทิ้งไปเป็นร้อยรายการ ถ้าเรานำความล้มเหลวตรงนี้มานับเป็นคะแนนน่าจะเลิกไปหลายปีแล้ว”         

     พิชเยนทร์ บอกอีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับเขาแล้วนั้นมันไม่ใช่ความล้มเหลวแต่มันคือ กระบวนการเรียนรู้ ทำให้ได้รู้ว่าถ้าทำกระบวนการแบบนี้ไม่เหมาะ ไม่เวิร์กก็ไม่ควรดึงดันไปต่อ หากแต่ควรหาวิธีการใหม่แทน

     “สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ทีมงานได้เรียนรู้โนว์ฮาวใหม่ๆ แบบอัตโนมัติไปเรื่อยๆ แล้ว process แบบนี้มันสามารถทำให้ผม delegate งานได้ เพราะโนว์ฮาวที่เกิดขึ้นอยู่กับบริษัทอยู่กับพนักงานที่ทำงานกับบริษัทมาตั้งแต่เริ่ม ปัจจุบันไอเดียการพัฒนาสินค้าใหม่ไม่ใช่มาจากผมคนเดียว แต่เป็นทีมงานที่สามารนำโนว์ฮาวที่เกิดขึ้นมาคิดวิเคราะห์ต่อได้”

แค่ภูมิใจ…หรืออยากให้คนใช้ได้จริง

     การพัฒนาสินค้านวัตกรรมตัวหนึ่งต้องใช้ทั้งมันสมองและเวลา ฉะนั้นการทำสินค้านวัตกรรมให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ สำหรับ พิชเยนทร์ เขามองว่าต้องประกอบด้วย 5 ปัจจัย

     1. สินค้าตัวนั้นต้องสามารถเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก

     2. สินค้าต้องใช้งานง่าย เช่น ถ้าทำสินค้าออกมามี 10 ฟีเจอร์ แต่คนใช้ได้จริงเพียง 2 ฟีเจอร์ อีก 8 ฟีเจอร์คนไม่ได้ใช้ ก็อาจเป็น innovation ที่คนเข้าไม่ถึงยากเกินไปไม่เข้าใจก็อาจกลายเป็น waste ฉะนั้นต้องตีโจทย์ให้ออก ไม่จำเป็นต้องอินโนเวชั่นใช้เทคโนโลยีสูง แต่ต้องสร้างอินโนเวชั่นเพื่อให้ชีวิตผู้คนยกระดับขึ้น

     3. ราคาต้องเข้าถึงได้

     4. ช่องทางจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภค

     5. การโปรโมท การทำคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคเข้าใจ การเล่าเล่าเรื่องคงไม่ได้มาเล่าสเป็กว่า ปลั๊กนี้สามารถรับไฟได้จำนวนเท่านี้วัตต์ เพราะการที่คนคนหนึ่งจะเลือกสินค้ามาไว้ใช้กับตัวเองหรือมาอยู่ที่บ้านมันต้องมี engagement บางอย่าง เห็นแล้วเชื่อมั่นว่าสินค้าตัวนี้จะมาแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตพวกเขาได้ เหมือนกับที่คนซื้อปลั๊กไฟจริงๆ แล้วอยากได้อะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้เครื่องใช้ทำงานได้ระยะไกลจากรูปลั๊กไฟ

     “ถ้าผลิตออกมาแล้วไม่สามารถทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เราพยายามทุ่มเทแรงกายแรงใจไปนั้นมีข้อดีอะไร ก็อาจจะได้แค่คำว่าภูมิใจ ถ้าคนไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมตัวนั้นและเอาไปใช้งานได้ ไม่รู้ว่าจะเรียก innovation ได้หรือเปล่า”

การทำนวัตกรรมกับเงินทุน

     มาถึงประเด็นสำคัญกับข้อกังขาที่ผู้ประกอบการหลายรายมักกังวลคือ ถ้าไม่มีเงินทุนแล้วบริษัทจะทำนวัตกรรมได้อย่างไร เจ้าของแบรนด์ Anitech ให้คำตอบจากประสบการณ์จริงว่า

     “ก็มีส่วนถูกการทำอินโนเวชั่นต้องใช้เงิน เพราะอินโนเวชั่นคือการขับเคลื่อนคน เทคโนโลยี ไอเดียให้ไปด้วยกัน ถ้าไม่มีห้องแล็ปการทำวิจัย ก็ยากที่จะเปลี่ยนไอเดียให้ผลิตได้จริงๆ แต่อีกแง่หนึ่งนวัตกรรมที่ไม่ต้องใช้เงิน ก็มีเหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไปดูหลักการที่ว่าตัวผู้ประกอบการท่านนั้นมี alignment มีการเข้ากันได้กับนวัตกรรมหรือเปล่า ผมคิดว่า product founder alignment มีความจำเป็นมาก เช่น คุณอยากจะทำรถ EV แต่ไม่มี background หรือเคยทำงานทางด้านนี้ก็อาจต้องมีต้นทุนสูง แต่ถ้าคุณมี background ทางด้านนี้ คุณมี connection คุณทำนวัตกรรมได้ภายใต้ทุนที่ต่ำลง”

     พิชเยนทร์ อธิบายเพิ่มว่า อย่างไรก็ดีการทำนวัตกรรมยังขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ถ้าหากคุณเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่สืบทอดสูตรมาตั้งแต่เจ้าคุณปู่ ร้านอาหารรับแขกได้ 10 คนต่อวัน นวัตกรรมอาจไม่ตัวกำหนดความเป็นความตายธุรกิจ  เท่ากับคุณค่าที่คุณสร้างขึ้นอาจเป็นตัวกำหนดความเป็นความตายธุรกิจมากกว่า

     ในทางกลับกันถ้าธุรกิจคุณอยู่อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงเป็น red ocean มาร์จิ้นต่ำ นวัตกรรมอาจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนวัตกรรมจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจคุณ

     “การสร้างนวัตกรรมสำคัญต้องเริ่มจากตัวเจ้าของธุรกิจเอง ถ้าอัศวินไม่ขี่ม้าออกไปก็ยากศึกนั้นจะสำเร็จ ตัวผู้ประกอบการต้องออกไปหาความรู้ก่อน ไปดูว่าในอุตสาหกรรมของคุณ นวัตกรรมมันอยู่ level ไหน ต้อง metaverse ขนาดนั้นไหม หาเจอแล้วเอาระดับนั้นมาคุยกับทีมงาน ไอเดียเกิดจากเจ้าของ คนขับเคลื่อนให้ออกมาได้คือ ทีมงาน เริ่มที่เจ้าของส่งต่อทีมงาน คือ ทีมเวิร์ก ถ้าไม่มีทีมเวิร์ก นวัตกรรมเป็นส่วนเสี้ยวเดียวของบริษัทคุณ

     “นวัตกรรมที่ดีควรต้องพลิกภาพบริษัทจากวันนี้ให้เป็นอีกบริษัทหนึ่งได้เลยในวันพรุ่งนี้ ยกตัวอย่าง แอปเปิ้ล วันที่มีไอโฟนกับไม่มีต่างกันเลย หมายถึงคุณต้องทำไปเรื่อยๆ จนเจอจุดที่ดีภาพคุณจะเปลี่ยนออกไปเลย ทำให้ได้การยอมรับมากขึ้น เอสเอ็มอีสู้แบบมวยวัดภายใต้ข้อจำกัดตัวเอง แต่ที่สำคัญต้องไม่นั่งคิดว่าทำไม่ได้หรอก sme ผมว่าทำได้ทุกคน ทำ level แค่ไหนก่อน  เริ่มจากก้าวขาออกจากบริษัทตัวเองก่อน  ของพวกนี้ต้องใช้เวลา ถ้าเวลาผ่านไปแล้วนับหนึ่งไปเรื่อยๆ วันหนึ่งคุณจะเจอกับนวัตกรรมที่เหมาะกับตัวคุณ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​