ทำไมธุรกิจชุมชนถึงไม่รวย เปิดจุดอ่อนพร้อมวิธีแก้แบบยั่งยืน ข้อมูลลึกจากโครงการ Local Enterprises

TEXT : Neung Cch.

 

     หากยิงคำถาม ถามผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่ม OTOP ว่าตัองการพัฒนาธุรกิจด้านใด คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้มักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ อยากทำสินค้าให้สวย ดูดีเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยหารู้ไม่ไม่ว่านั่นอาจเป็นกับดักที่นอกจากไม่ทำให้เกิดกำไรแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นขยะทางธุรกิจ

     กล่าวได้ว่านั่นคือ จุดอ่อนที่ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตราบใดที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาจากราก นั่นคือเรื่องการเงินซึ่งถือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 90% และปัญหาเรื่องการเงินที่ว่า ไม่ได้หมายถึงการไม่มีเงิน หากแต่เป็นปัญหาบริหารจัดการทางการเงิน

     เมื่อแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เหมือนกับเปิดประตูเศรษฐี และเปิดมิติใหม่ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่สามารถตั้งราคาเจรจาต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ รวมทั้งได้รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองเหมือนกับผู้ประกอบการจาก บริษัท บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม จำกัด จ.อุตรดิตถ์ ที่เกือบจะไปกู้เงินเพื่อมาสร้างโรงงานโดยหวังที่จะไปตีตลาดอินเตอร์ ให้กลับมามองความจริงทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและสามารถเพิ่มมูลค่าได้เท่าตัว นี่คือหนึ่งในผลสำเร็จของผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Local Enterprises

ทำไมวิสาหกิจชุมชนถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่จะทำโครงการ Local Enterprises ได้มีการสำรวจพบปัญหาของผู้ประกอบการในชุมชนคือ

     1. ผู้ประกอบการไม่รู้ว่าสินค้าที่ทำนั้นมีคุณค่าหรือไม่

     2. ผู้ประกอบการไม่รู้กระบวนการผลิตสินค้า

     3. ส่วนใหญ่วิสาหกิจชุมชนจะมีปัญหาด้านการเงินประมาณ 90% โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่ปัญหาไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เป็นปัญหาบริหารจัดการทางการเงิน ทำให้ไม่รู้ต้นทุนในการผลิตที่แท้จริง

     4. ไม่มีตลาด

ต้องแก้ที่ราก ถ้ารากไม่รอดต่อยอดไม่ได้

     ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises อธิบายเพิ่มว่าเมื่อลองวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาหลักในการทำธุรกิจคือ การเงิน ซึ่งเป็นรากของปัญหาจึงต้องเริ่มแก้จากตรงนั้น

     “เพราะถ้ารากไม่รอดต่อยอดไม่ได้ ปัญหาการเงินที่พบหลัก ๆ คือ 1 ธุรกิจชุมชนไม่เคยให้ค่าแรงตัวเอง 2 ไม่แยกบัญชีธุรกิจกับบัญชีตัวเอง มันทำให้วิเคราะห์งบการเงินไม่ได้ เพราะบางครั้งเงินตัวเองดี แต่ธุรกิจแย่ก็เอาเงินตัวเองไปใส่แล้วบอกธุรกิจฉันดี หรือเงินธุรกิจดีแต่เงินตัวเองแย่ดึงเงินธุรกิจมาใช้ก็จะเจ๊ง”

     ที่เป็นเช่นนี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ทางโครงการจึงได้จัดทำชุดความรู้ทางการเงินขึ้นมา และสอนให้พวกเขาสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองให้เห็นภาพเป็น Visual เพื่อให้จดจำได้ง่าย

     “เราไม่ได้สอนให้ lecture แต่จะสอนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น การตั้งคำถามว่า นำเงินไปลงทุนแล้วจะได้เงินกลับมาเมื่อไหร่ รวมทั้งสร้างแอปพลิเคชัน ฝึกให้เขาบันทึกการเงินทุกวันตลอดเวลา 90 วัน เมื่อสองกระบวนการรวมกันช่วยเปลี่ยนนิสัย พอหลัง 90 วันมาดูผลธุรกิจทั่วไปมีปัญหา แต่ผู้ประกอบการในหลักสูตรธุรกิจปันกันกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 ต่อเดือน หนี้สิ้นในช่วงโควิดก็ลดลง มีเงินสำรองเก็บ 3 เดือน นั้นคือวัคซีนสุดท้ายที่เราฉีดให้เขา”

เป้าหมายพัฒนา Local สู่ Global

     หลักคิดของโครงการฯ นี้คือการพัฒนา “คน-ของ-ตลาดโมเดล” แต่ทั้งนี้ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญของการทำธุรกิจคือ ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตก็ต้องมาจากคน หรือจะเป็นการซื้อขายก็ต้องมาจากคนเช่นกัน ในเบื้องต้นทางโครงการฯ จึงเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถให้กับคน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้าไป

     “เป้าหมายเราคือส่งออก ต้องการนำของ local สู่ Global เพราะอนาคตตลาดต้องการของ local แต่เราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ประกอบการยังไม่รู้ศักยภาพการเงินของตัวเอง ดังนั้นหลักการทำงานคือ เปลี่ยนความคิดเขาก่อน อย่าเพิ่งสร้างของ ต้องหาตลาดให้ได้ก่อน ตอบตัวเองให้ได้ทุกครั้งที่จะใส่เงินเข้าไปในธุรกิจต้องคุ้มค่าและคืนกลับมาได้เมื่อไหร่ รู้แบบนี้ก็จะเกิดวิธีบริหารการจัดการใหม่ แต่ถ้าคุณลงทุนไปผลิตสินค้าโดยยังไม่พร้อม ของขายไม่ได้ จะมีของที่เหลือเป็นขยะธุรกิจเต็มไปหมด”

ต้นทุนลด แต่ออร์เดอร์เพิ่ม

บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม

     สุทธิรัตน์ ปาลาส บริษัท บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม จำกัด จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เปิดเผยว่าสิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือ

     1. รู้จักการคิด วิเคราะห์ต้นทุน รู้จักคิดค่าแรงของตัวเอง ค่าจ้างแรงงานคนอื่น ค่าขนส่ง ฯลฯ ทำให้รู้ว่าต้นทุนที่แท้จริงเท่าไหร่ ควรตั้งราคาขายเท่าไหร่โดยที่ไม่ขาดทุน และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปเจรจาต่อรองกับคนที่มาซื้อของด้วยเหตุและผลก็ทำให้คนมาซื้อยินดีรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

     “จากเมื่อก่อนแล้วแต่พ่อค้าคนกลาง ไม่มีสิทธิ์กำหนดราคาเอง ไม่เคยคิดต่อราคา เพราะเทคนิคเจรจาไม่ง่ายกับเกษตรกร แต่คราวนี้เหมือนเป็นมิติใหม่ที่กลุ่มคนตัวเล็ก ๆ  26 ครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนราคากับคู่ค้าที่เป็นฟาร์มเรา”

     2. ทำให้มีการวางแผนทางการเงิน รู้จักฉุกคิดก่อนนำเงินไปใช้ ทำแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม ทำแล้วคืนทุนเมื่อไหร่

     3. ลดต้นทุน

เมื่อรู้จักวิเคราะห์ต้นทุนแล้วยังสามารถต่อยอดไปใช้ได้อีกหลายอย่าง อาทิ ต้นทุนการขนส่งจากที่เคยส่งของรอบละ 500 กิโลกรัมก็ขอดิวกับลูกค้าเพิ่มเป็นสั่งครบ 1.000 กิโลกรัมค่อยส่ง ช่วยประหยัดค่ารถไปได้ โดยที่เป็นการลดต้นทุนแต่ออร์เดอร์เพิ่ม

     4. เห็นศักยภาพตัวเองที่แท้จริง

     “ก่อนเข้าโครงการคิดใหญ่ไม่ต่างจากวิสาหกิจชุมชนทั่วไป คือการแปรรูปผลไม้ส่งออก แต่พอเข้าโครงการฯ ทำให้คิดว่าแล้วเราจะโกอินเตอร์อย่างไร จะไปแข่งกับรายใหญ่อย่างไร กลายเป็นว่ามันก็ยากต้องไปหาเงินมาสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เงินทุน ถ้าไม่มีโครงการฯ ผมก็คงไปกู้เงินมาสร้างห้องผลิต สร้างโรงงาน สร้างแบรนด์ ขายแข่งกับคนอื่น แล้วก็อาจหายไปจากวงการนี้

    “แต่พอเข้าโครงการเราก็มาวิเคราะห์ตัวเอง สิ่งที่เราทำได้และเก่งคืออะไร ผมทำ prototype ประมาณสองปีแล้วคือนำมะยงชิดที่มีตำหนิมียางไหลมาแปรรูปด้วยการปอกเก็บเนื้อแช่แข็งไว้ ด้วยกระบวนการง่าย ๆ แล้วเราก็ขายแต่เนื้อที่ไม่มีเมล็ดไม่มีเปลือกให้ธุรกิจที่เอาไปทำต่อ ไม่ต้องทำ finish product เช่น มะยงชิตลอยแก้ว แยมมะยงชิต เราแค่ส่งเป็นวัตถุดิบออร์แกนิกให้ผู้ประกอบการที่ทำสมูตตี้ ทำ topping ใส่หน้าขนม วันนี้เราทำแค่นั้น ศักยภาพเราทำแค่นี้ แทนที่จะขายมะยงชิดกิโลละ 100 บาท เรามาทำแบบนี้ได้สองร้อยบาท

     “วันนี้เรามองจุดแข็งเราชัดเจน เอาเวลาที่เหลือไปจัดการกับสวนกับผลผลิตของเราฤดูต่อไป ขอบคุณโครงการทำให้เราได้ฉุกคิดได้ก่อน มีสติ ได้ใช้ข้อมูลตัวเองมาวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไร แล้วเราจะเติบโตอย่างไร ธุรกิจของผมอาจเป็นแค่ไฟกะพริบเล็ก ๆ ในชุมชน แต่ถ้ากะพริบทั้งประเทศ ค่อย ๆ ขยายวง วันหนึ่งจะเห็นประเทศไทยแข็งแรง” สุทธิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มาโครงการ Local Enterprises (LE) 

     หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กำหนดบทบาทของตน เป็น change agent และ เป็นผู้ริเริ่มสร้างโครงการ Local Enterprises (LE)  เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือของภาคีวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง LE Network Value Chain Model ครั้งแรกของไทย มุ่งหวังให้ LE เป็น Model ที่ยกระดับธุรกิจชุมชน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่เจาะลึก วิจัยสาเหตุและวางเครื่องมือแก้ปัญหาเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจร และเกิดการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการ Local Enterprises ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​