เรื่องเล่าจากสิงขรถึงสงขลา มหานครปารีสแห่งภาคใต้

TEXT : วิชชุ

PHOTO : อรุโณทัย

 

     ดินแดนแห่งสองเล รางวัลจากธรรมชาติได้มอบลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งมาให้ สงขลาคล้ายคาบสมุทรขนาดย่อมที่พื้นดินถูกขนาบข้างด้วยทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม อาหารการกินที่อร่อย ทั้งยังมีตำนานเรื่องเล่าที่ควรค่าแก่การเล่าขานมากมาย

     ว่ากันว่าเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง ขณะที่เอกสารบันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองว่ามาจากบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซียในนามของเมืองซิงกูร์ หรือ ซิงกอรา แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า เมืองสิงขร โดยได้สันนิษฐานว่า คำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหลา” หรือ “สิงขร” แปลว่าเมืองสิงห์นั่นเอง เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลาก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น “เซ็งคอรา” เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ “ซิงกอรา” (Singora) แล้วคนไทยพื้นถิ่นเองจึงได้เรียกตามเสียงมลายูจนฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า “สงขลา” ในที่สุด

     สงขลาได้ชื่อว่าเป็นเมืองสองทะเลเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนาน มีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมเข้ามาอยู่อาศัยทั้งชาวไทย จีน มุสลิม จนกลายเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีความคึกคักทั้งด้านการค้าและความหลากหลายด้านศิลปะซึ่งสะท้อนผ่านตัวอาคารบ้านเรือน

     ทว่าความเปลี่ยนแปลงของเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ ปัจจุบันส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวต่างดาหน้ามาปักหมุดพร้อมเปิดฉากรอยยิ้มด้วยการเดินเล่นชมความงดงามของความเก่าแก่ของตึกรามบ้านช่องในย่านเมืองเก่า บ้างรื่นรมย์กับไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยเสพศิลปะ ท่องคาเฟ่ ชมสตรีตอาร์ตของเมือง โดยเฉพาะถนน 3 สายหลักของย่านเมืองเก่า คือ ถนนนครใน ถนนนครนอก และถนนนางงาม เต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่ เช่น ไอศกรีมยิว แต้เฮียงอิ๊ว ข้าวสตูเกียดฟั่ง ฯลฯ แต่นั่นก็แค่เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะที่จริงสงขลามีของดีอีกเพียบจะว่ากันแบบนั้นก็ได้

     เราอาจหลงลืมไปว่าหลายสิบปีก่อนเมืองหาดใหญ่ อำเภอใหญ่ของสงขลาเคยได้รับฉายาว่า มหานครปารีสแห่งภาคใต้ เมืองใหญ่ไม่เคยหลับใหลเต็มไปด้วยค่ำคืนแห่งไนต์ไลฟ์ ครบครันทั้งสาธารณูปโภค และการคมนาคมสะดวกทั้งรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน แถมยังเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าใหญ่ โรงแรมระดับเฟิร์สคลาส และโรงแรมระดับกลาง ดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศและเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซียมาปีหนึ่งมากมายมหาศาลสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวได้ทุกมิติ

     กระทั่งในความเลวร้ายของความขัดแย้งบางอย่างชวนให้เมืองหาดใหญ่และสงขลา คล้ายคนเป็นโรคซึมเศร้า เก็บตัวเงียบอยู่ในคอมฟอร์ตโซนอยู่พักใหญ่ ระยะหลังสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น ธุรกิจและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว

     เราอาจจะลืมไปว่าสงขลามีสะพานติณสูลานนท์ ได้รับการการันตีว่าเป็นสะพานคอนกรีตข้ามทะเลสาบยาวที่สุดในประเทศ ทำหน้าที่เชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจายอำเภอเมืองสงขลา และบ้านเขาเขียวอำเภอสิงหนคร ความยาวสองช่วงรวมเป็น 2,640 เมตร

     กระทั่ง...เราอาจหลงลืมไปว่าสงขลาเมืองเล็กๆ แต่กลับกลายเป็นเมืองชายแดนที่ติดอันดับท็อปไฟว์ของประเทศ โดยเฉพาะด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ มีศักยภาพสร้างมูลค่าตัวเลขด้านการค้าชายแดนมากที่สุดติดต่อกันหลายปี

     ความน่าเที่ยวน่าค้นหายังถูกแอบซ่อนไว้ในหลากแง่มุม เพราะถ้าหากลองสำรวจสภาพของเมือง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาแต่สมัยโบราณ เราจะพบว่ามีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ โบราณสถานโบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี เต็มไปด้วยแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาไม่แพ้เมืองอื่นๆ เลย สังเกตจากตึกเก่าที่คงสภาพอยู่กันอย่างหนาแน่นเหล่านี้ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองในอดีต และวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนกันมาอย่างแนบแน่นยาวนาน

     ใครใคร่อยากรู้เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ มีแหล่งเรียนรู้หลากหลาย เช่น ป้อมปืน และพิพิธภัณฑ์ธำมรงค์ สถาปัตยกรรมเรือนไทย ที่สร้างขึ้นจำลองสถานที่เกิดของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เรือนไม้ยกพื้นชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา 2 หลังคู่ มีชานเปิดโล่งเชื่อมถึงกันภายในเก็บข้าวของเครื่องใช้เก่า และเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวด้วย

     พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ตั้งอยู่ภายในสถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของทางภาคใต้ วิถีชีวิตของชาวใต้ท้องถิ่น อันมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ จัดแสดงเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ห้องอาชีพหลักของชาวใต้ ห้องผ้าทอพื้นเมืองที่มีผ้าทอสวยๆ ห้องการละเล่นพื้นเมือง ห้องศิลปหัตกรรม ห้องอิสลามศึกษา ฯลฯ โดยมีวัตถุของจริงจัดแสดงและผสมผสาน กับสื่อหลากชนิดเมื่อมาเที่ยวแล้วจะได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน

     ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อยู่ท่ามกลางทะเลสาบสงขลารู้จักกันดีในชื่อเกาะยอ ที่ถือได้ว่าเป็นเกาะสวรรค์ของผู้ที่ได้มาพบเห็น เพราะมีทัศนียภาพโดยรอบที่สวยงาม สัมผัสกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิมของเกาะยอ ความพิเศษของเกาะยอซึ่งถือเป็นจุดขายอีกอย่างก็คือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงเนื้อขาวที่ขึ้นชื่อเรื่องความสด เนื้อนิ่ม และอร่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอาจจะคุ้นหูกันในชื่อปลากะพงสามน้ำ หรือปลากะพงสองน้ำ เนื่องจากที่เกาะยอจะเพาะเลี้ยงปลากะพงในกระชังปลา ซึ่งน้ำบริเวณนั้นเป็นจุดที่มีทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อยหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ปลากะพงที่นี่จึงแตกต่างจากที่จังหวัดอื่น

     นอกจากนี้ สงขลายังมีหัวนายแรง อีกสัญลักษณ์แห่งเมืองสงขลา มีคนกล่าวว่า “ดูตะวันตกให้ดูที่แหลมพรหมเทพ ดูตะวันขึ้นให้ดูที่หัวนายแรง” จุดชมวิวและหินแห่งศรัทธาตั้งอยู่บนเขาเก้าเส้ง อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ตามความเชื่อต่อๆ กันมา ส่วนทะเลจุดพักผ่อนคลายขึ้นชื่ออย่างหาดสมิหลา ร่มรื่นด้วยทิวสนต้นใหญ่ตระหง่านเป็นแนวเหมาะกับการนั่งรับลมชมวิวและจุดเช็กอินสำคัญสำหรับนักชิม อาหารมีทั้งร้านค้าพื้นถิ่น เสิร์ฟเมนูซีฟูดสดๆ เคล้าบรรยากาศโดยรอบมองเห็นเกาะหนูเกาะแมว และตำนานแห่งรูปปั้นในวรรณคดีชื่อดังพร้อมกับหาดสมิหลาประติมากรรมหลากหลายถูกสร้างขึ้นผ่านแนวคิดและแรงบันดาลใจของศิลปินหลากหลาย

     ปิดท้ายด้วยวัดสวยนอกจากวัดคูเต่าอันเลื่องชื่อแล้ว ยังมีจิตรกรรมโบราณผสาน 2 วัฒนธรรมไทย-จีนผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ที่วัดกลาง หรือวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี อีกทั้งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล หรือโรงเรียนหลวงแห่งแรกของจังหวัดด้วย ไม่เพียงเท่านี้ยังมีวัดชัยมงคล เขาตังกวน วัดแหลมพ้อ พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพไตรมงคล มักนิยมเรียกชื่อว่า เจดีย์สเตนเลส หรือวัดเจดีย์สเตนเลส เป็นเจดีย์สเตนเลสแห่งแรกของโลก และเป็น Unseen อีกด้วย

     เรียกว่าถ้าตั้งใจมาเที่ยวคงใช้เวลาเป็นอาทิตย์ถึงจะตะลอนไปทั่ว เพราะ…ความน่าค้นหาของเมืองที่ฟื้นจากการหลับใหลนั้นช่างเย้ายวนใจอีกมาก

Information

  • ลองแวะไปเที่ยวชมความร่วมสมัยได้ที่  a.e.y.space ในย่านเมืองเก่า บ้านโบราณที่กลายเป็น Selected Shop สุดเก๋แนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเติมสีสันให้กับเมืองเก่าสงขลา
  • ใครชอบเรื่อง Local ต้องแวะไปบ้านรำแดง ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีความสัมพันธ์ ระหว่างต้นตาลโตนด ท้องนา ต้นไผ่ และคน ซึ่งร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะบ้านใบตาลที่มีอายุกว่า 100 ปี  (สอบถาม อบต.รำแดง โทรศัพท์ 08-6488-2549 หรือ ramdang.go.th)
  • http://www.songkhlatourism.org/frontpage

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​