7 วิธีพาธุรกิจรอด 7 เคสจริงที่ฝ่าวิกฤตมาได้

 

     ในยามที่วิกฤตรุมเร้าเข้ามาจนแทบตั้งตัวไม่อยู่ อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายคนตกอยู่ในอาการมืดแปดด้าน คิดไม่ออก ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาจากตรงไหนดี วันนี้เรามี 7 วิธี จาก 7 ผู้ประกอบการตัวอย่างที่เคยผ่านพ้นวิฤตมาแล้วมาฝาก อย่างน้อยๆ ถ้าคิดไม่ออกลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู ก็น่าจะพอช่วยอะไรได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

Cr : กิมจิโอ่ง

“เข้าใจ และยอมรับ”

     “เยจิน คิม” ผู้ประกอบการไทยสัญชาติเกาหลี ก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 เคยเป็นเจ้าของเจ้าของธุรกิจนำเข้ายานยนต์ อะไหล่ยนต์ และประกอบรถบัสจำหน่าย ที่เคยมีรายได้ถึงเกือบ 300 ล้านบาทต่อปีมาก่อน กระทั่งเกิดวิกฤตนอกจากธุรกิจต้องล่มสลาย ยังมีหนี้สินติดตัวมาอีก 167 ล้านบาท สิ่งที่เธอใช้กอบกู้ธุรกิจคืนมา ก็คือ “การยอมรับ และเข้าใจ” กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหาหนทางสู้ใหม่ด้วยการทำสูตรกิมจิโบราณจากคุณแม่บุญธรรม ขายในรูปแบบ “กิมจิโอ่ง” เจ้าแรกของไทย

     “มีอยู่หนึ่งอย่างที่เชื่อแบบบริสุทธิ์ใจ คือ ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมันลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุดเสมอ ชีวิตเราเคยผ่านมาทั้งสองจุดแล้ว จึงเข้าใจและยอมรับมัน ตอนนั้นเรียกพนักงานทุกคนมารวมตัวกัน แล้วบอกว่า ถ้าพี่ไม่ได้ทำอะไหล่ยนต์แล้ว และต้องมาสู้โดยการทำกิมจิขาย ทุกคนจะสู้ไปด้วยกันไหม เขาบอกว่าถ้าพี่ทำ เขาก็ทำ พอได้ยินคำนั้น คิมก็จับมือสอนเลย เอาช่างมาหั่นผัก เอาบัญชีมาเป็นฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายบุคคลมาเป็นคนคลุกกิมจิ มาเป็นคนแพ็คกิ้ง จากแอดมินยานยนต์ก็มาเป็นแอดมินขายกิมจิ”

Cr : PhanMaBa

“อะไรขายได้ ขาย เปลี่ยนเป็นเงินไว้ก่อน”

     “PhanMaBa” (พันธุ์หมาบ้า) นอกจากจะเป็นนวนิยายชื่อดังของ “ชาติ กอบจิตติ” นักเขียนรางวัลซีไรต์และศิลปินแห่งชาติที่มีผลงานการเขียนออกมามากมายแล้ว ยังเป็นแบรนด์เสื้อยืด เสื้อโปโล กระเป๋าผ้า กางเกงยีนส์ ไปจนถึงรองเท้าผ้าใบ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้โลโก้ตราหมาออกมาด้วย

     กระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ร้านสาขาทยอยปิด เพราะยอดขายไม่มี ไม่มีคนเข้าร้าน สิ่งที่เขาเลือกทำในวินาทีแรกจากที่เขียนเล่าไว้ในเพจ PhanMaBa ก็คือ สำรวจเงินออมที่มี จากนั้นเรียกประชุมพนักงานและบอกกับทุกคนว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ สิ่งที่ทำต่อไป คือ เรียกเก็บสินค้าจากร้านสาขาต่างๆ เข้ามารวมกันที่ส่วนกลางในออฟฟิศทั้งหมด เพื่อหันมาทำการค้าออนไลน์แบบจริงจัง เน้นนโยบายไม่ผลิตของเพิ่ม แต่จะขายของเดิมที่มีอยู่ให้หมด จากที่เคยวางแผนล่วงหน้าเป็นปีๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นวางแผนรายไตรมาส รายเดือน รายสัปดาห์  เพื่อวางแผนให้มีรายได้เข้ามา โดยเปรียบว่าเหมือนกับการแข่งกีฬาชกมวยที่ต้องมีการวางแผนชกในแต่ละยกให้ชนะผ่านไปได้ เพื่อสุดท้ายแล้วพอมาคิดคะแนนรวมเขาจะได้เป็นผู้ชนะในที่สุด

Cr : Akha Ama

“อย่าถอดใจง่ายๆ ”

     ในแวดวงกาแฟบ้านเรา ถ้าพูดถึง “ลี อายุ จือปา” คงไม่มีใครไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ เขา คือ เจ้าของแบรนด์ ‘Akha Ama Coffee’ (อาข่า อ่ามา) ร้านกาแฟที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟตัวจริง ครั้งหนึ่งเขาได้ริเริ่มต่อยอดความสำเร็จโดยการนำแบรนด์ร้านกาแฟไทยไปบุกประเทศญี่ปุ่นดินแดนแห่งความฝันของผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟจากทั่วโลก แต่โชคไม่ดีที่มาเจอเข้ากับวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดร้านทั้งที่เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว ทางเลือกของเขามี 2 ทาง คือ ระหว่างยังไม่เปิด เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้นไปก่อน กับเปิดตามแผนเดิมที่ตั้งใจไว้ ซึ่งสิ่งที่เขาเลือกทำ ก็คือ ข้อหลัง

     “ผมเป็นคนที่ให้เกียรติและเคารพความรู้สึกของตัวเองมากๆ รวมถึงผู้อื่น ฉะนั้นถ้ารู้สึกอยากทำ ก็ทำเลย ถามว่ากลัวไหม ผมคิดว่าถ้ายิ่งไม่เปิด ก็เหมือนว่าเรายอมจำนน ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นทำหรือไม่ทำในเชิงธุรกิจอาจมีค่าเท่ากัน แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราจะให้มันมาตีกรอบในสิ่งที่อยากทำ ในขณะที่คนที่ทำงานด้วย เขาก็ยังต้องใช้ชีวิต ยังต้องกิน เลยรู้สึกว่าแล้วทำไมเราต้องหยุด เพียงแต่เราต้องมีสติให้มากขึ้นเท่านั้นเอง”

Cr : Le Pes Kitchen

“มองหาจุดเด่น ปรับตัวจากสิ่งที่มีอยู่”

     จากเริ่มทำโรงแรมมา 8 ปี ไม่เคยมีวิกฤตครั้งใดเลยที่จะทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ปริมาณแขกเข้าพักเท่ากับศูนย์ จึงทำให้ พัชรนันท์ เลิศพัชรีไชย เจ้าของ Le Pes Villas Resort Khanom รีสอร์ตแห่งหนึ่งในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องคิดหาวิธีรอดให้กับธุรกิจและพนักงาน สิ่งที่มองเห็นนอกจากห้องพักที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ก็คือ ฝีมือการทำอาหารใต้ที่ไม่เป็นสองรองใคร โมเดลการทำอาหารใต้สำเร็จรูปแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “Le Pes Kitchen” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับคลิปการทำวิดีโอให้พนักงานออกมาพูดแนะนำตัวสั้นๆ ถึงการเปลี่ยนจากห้องพักมาทำครัวอาหารใต้ส่งขาย จนเกิดเป็นไวรัลดังบนโลกออนไลน์ กู้สถานการณ์คืนมาให้กับธุรกิจได้

     “เราไม่ได้เลือกวิธีปิดกิจการเอาพนักงานออก เพื่อให้ประกันสังคมจ่ายชดเชยให้ครึ่งหนึ่ง เพราะคิดว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตได้ดี จึงพยายามมองหาจุดเด่นอื่นที่มี ซึ่งก็มาพบว่าอาหารใต้ของเราไม่เป็นสองรองใคร ที่สำคัญ คือ เรามีแพปลาเป็นของตัวเอง และจัดส่งอาหารทะเลสดทั่วประเทศอยู่แล้ว เลยหยิบโนฮาวที่มีอยู่ ใช้โมเดลเดิมแต่เพิ่มเติมรูปแบบสินค้าใหม่เข้าไป คือ อาหารใต้สำเร็จรูปแช่แข็งจัดส่งกระจายออกไปให้กับลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ โมเดลนี้ไม่เพียงทำให้เอาตัวรอดได้ แต่ยังช่วยโปรโมตรีสอร์ตเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย”

Cr : โรงแรมไชน่าทาวน์

“ใช้ความคิดสร้างสรรค์”

     เมื่อวิกฤตโควิด-19 เข้ามา ทำให้ “โรงแรมไชน่าทาวน์” โรงแรมในตึกเก่าแก่ที่อยู่คู่เยาวราชมากว่า 100 ปี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นลูกค้าหลักไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ นวลหง อภิธนาคุณ กรรมการผู้จัดการ โรงแรมไชน่าทาวน์ จึงคิดหาวิธีไปต่อให้กับธุรกิจว่า ในเมื่อไร้แขกเข้าพักจะสามารถทำอะไรกับธุรกิจได้ จึงนึกไปถึงจุดเด่นของเยาวราชที่มีของกินอร่อยมากมาย โมเดลเดลิเวอรีรวบรวมของกินอร่อยของเยาวราชมาเสิร์ฟรวมไว้ที่เดียวในโรงแรม เพื่อให้ลูกค้าได้นั่งรับประทานพร้อมชมเยาวราชสวยๆ จึงได้เกิดขึ้น แถมสร้างประสบการณ์สุดพิเศษด้วยการนำชุดจีนที่สะสมไว้ให้คนเช่าถ่ายรูปชิคๆ จนพลิกวิกฤตทำให้โรงแรมสามารถอยู่รอดได้อย่างเข้มแข็ง

     “เราเป็นโรงแรมเล็กๆ ครั้นจะปรับตัวทำอาหารเอง ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก จึงคิดต่อว่าถ้าไม่ทำเอง แล้วจะทำอะไรได้บ้าง จึงมองถึงจุดเด่นของเยาวราชที่มี คือ เป็นแหล่งอาหารที่อร่อย ซึ่งเราเป็นคนในพื้นที่อยู่ตรงนี้ทุกวัน เรารู้ว่าอะไรดี จึงเกิดไอเดียทำเป็นเซ็ตอาหารรวมของอร่อยย่านเยาวราช เช่น เซ็ตมิชลิน รวมเมนูเยาวราชที่ได้รางวัลมิชลิน และเปิดให้ลูกค้าจองล่วงหน้า เพื่อมารับประทานที่โรงแรมแทน”

Cr : เล้งเส็ง

“ทีมเวิร์ก”

     “เล้งเส็ง กรุ๊ป” ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเมืองสกลนคร ที่มีธุรกิจครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด มีเครือข่ายร้านค้ากว่าหมื่นร้าน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบให้อาจต้องปิดกิจการชั่วคราว สิ่งที่ สมหวัง เดชศิริอุดม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เล้งเส็ง กรุ๊ป คิดรับมือและประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้ ก็คือ การร่วมแรงร่วมใจและทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจในเป้าหมายเดียวกันได้ โดย ณ ตอนนั้น เงินสด สำคัญกว่า กำไร ทีมเวิร์กของเขาเริ่มโดยฝ่ายบัญชีจะทำหน้าที่ชี้สัญญาณเตือนภัยสำหรับทุกคนว่าตอนนี้พวกเขามีเงินสดเหลือเท่าไร หากกิจการต้องปิดไปจะสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกคนได้อีกกี่เดือน ขณะที่ทีมจัดซื้อต้องเข้าไปดูสต๊อกในบริษัท หาวิธีระบายของที่ค้างอยู่เพื่อหาเงินสดเข้ามาให้มากที่สุด ต่อไปที่ฝ่ายขายเพื่อให้รู้ว่าจะต้องขายอะไร และจะทำยังไงให้ขายของได้ และเปลี่ยนจากให้เครดิตร้านค้า มาเก็บเงินสดเข้าบริษัทให้มากขึ้น แนะนำให้ลูกค้าสต็อกของน้อยลง ในส่วนของทีมขนส่งและคลังสินค้า ก็ต้องช่วยกันบริหาร แท็กทีมกันทำงาน

     “ผมจะบอกพนักงานว่า วันนี้เงินที่ได้เข้ามา คือ เงินเดือนของพวกคุณทุกคน ผมไม่รู้หรอกว่าวันไหนเขาจะประกาศให้เราปิด ฉะนั้นถ้าเราโกยเงินเข้ามาได้เยอะที่สุด ทุกคนจะรอดด้วยเงินก้อนนี้ และเราจะรอดไปด้วยกัน สิ่งที่เราทำก็คือเราให้ทุกทีมทำงานด้วยกัน เชื่อไหมว่าในช่วงโควิดกลายเป็นเราทุกคนรักกันมากขึ้น คุยกันเป็นทีมมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น”

“วิกฤต มักมาพร้อมกับโอกาส”

     “แม่ศรีเรือน” ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกสูตรต้มชื่อดังแห่งเมืองพัทยาที่ขายมานานกว่า 60 ปี จนขยายสาขาเข้ามาในกรุงเทพฯ กว่า 32 แห่ง แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ธุรกิจเคยผ่านวิกฤตมาแล้วถึง 4 ครั้งใหญ่! ได้แก่ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540, วิกฤตไข้หวัดนก ปี 2547, วิกฤตน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 และล่าสุดกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ปี 2563 โดย ชาณ เรืองรุ่ง กรรมการบริหาร บริษัท ครัวแม่ศรีเรือน จำกัด หนึ่งในทายาทผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ยุคแรกๆ เล่าว่าทุกครั้งที่มีวิกฤตเข้ามา ก็มักมีโอกาสพ่วงมาด้วยเสมอ เช่น ในวิกฤตไข้หวัดนกที่คนไม่กินไก่ แต่ก๋วยเตี๋ยวไก่ คือ สินค้าหลักของแบรนด์ สิ่งที่แบรนด์ทำนอกจากปรับวัตถุดิบจากไก่ให้มาเป็นหมูอยู่พักหนึ่ง ก็คือ การหาเมนูสินค้าอื่นเพิ่มขึ้นมาด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง

     “ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต มักจะนำพาโอกาสใหม่ๆ มาให้เราได้เรียนรู้เสมอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของแม่ศรีเรือนทุกครั้ง ก็มักมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้น บางครั้งหากไม่มีวิกฤตเรามักจะหยุดนิ่ง ทำให้ไม่สามารถก้าวทันโลกได้ ต้องขอบคุณทุกวิกฤตที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​