รู้จักคุณแม่ลูก 7 ผู้สร้างธุรกิจคัพเค้กร้อยล้าน จากเงินทุนหลักร้อย

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     ย้อนกลับไปก่อนปี 2008 ชีวิตของ มิยอง ฟรังซัวส์ นั้นเรียกได้ว่าเข้าตาจนสุดๆ เธอและครอบครัวพร้อมลูก 7 คนได้ย้ายจากนิวออร์ลีนไปอยู่ที่เมืองแนชวิล รัฐเทนเนสซีเมื่อปี 2005 เพื่อหวังได้งานดีๆ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คาด สามีลงเอยได้งานก่อสร้าง ทำให้รายได้แทบไม่พอใช้ ต้องกระเบียดกระเสียร วันหนึ่งเธอได้ฟังวิทยุรายการที่มีนักการเงินมาแนะนำเกี่ยวกับการหารายได้จาก 2 ทาง คือ การเปิดท้ายขายของกับการอบขนมขาย

     มิยองสนใจการทำขนมอบแต่เธอไม่มีความรู้ด้านนี้ เธอจำได้ว่าตอนยังเด็ก ได้กินเค้กสตรอว์เบอร์รี่และเค้กมะพร้าวแสนอร่อยของคุณยาย จึงโทรศัพท์ถามสูตร สิ่งที่ต้องการคือแค่อยากรู้ว่าส่วนผสมคร่าว ๆ ในการทำขนมอบมีอะไรบ้าง มิยองในวัย 33 ปีก็ซื้อวัตถุดิบมาอบเค้กสตรอว์เบอร์รี่ซึ่งเป็นเค้กก้อนแรกในชีวิตและเธอพึงพอใจมาก

     ไม่นานมิยองก็ทดลองสูตรของตัวเอง เริ่มต้นจากคัพเค้กแล้วแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านได้ชิม หรือหากมีใครย้ายเข้ามาใหม่ในชุมชน เธอก็จะนำคัพเค้กไปมอบเพื่อแสดงการต้อนรับ เพื่อนบ้านที่ได้ชิมคัพเค้กของมิยองต่างกล่าวชมว่าอร่อย รสชาติดีมีเอกลักษณ์

     วันหนึ่ง ในขณะที่บ้านกำลังจะถูกตัดไฟ และมิยองมีเงินเหลือติดกระเป๋าเพียง 5 ดอลลาร์หรือราว 100 กว่าบาท เพื่อนบ้านได้มาขอให้มิยองอบคัพเค้กให้ 600 ชิ้นในราคา 600 ดอลลาร์เพื่อกำนัลลูกค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่เธอมีทุนไม่พอที่จะซื้อวัตถุดิบ จึงต่อรองแบ่งส่งหลายรอบ

     รอบแรกส่งให้ลูกค้า 60 ชิ้น นั่นหมายถึงว่ามิยองได้ทำให้เงิน 5 ดอลลาร์งอกเงยขึ้นมา รายได้ 60 ดอลลาร์ก้อนแรก เธอเจียดไว้ใช้จ่ายและแบ่งไปซื้อวัตถุดิบมาทำคัพเค้กส่งเพิ่มให้ลูกค้าจนครบและทำเงิน 600 ดอลลาร์ในสัปดาห์เดียว หลังจากนั้น อิทธิพลของการที่ลูกค้าบอกกันปากต่อปาก ทำให้มิยองเริ่มมีลูกค้า

     ปี 2008 เธอจึงเปิดพื้นที่บ้านเป็นร้านขายคัพเค้ก ใช้ชื่อแบรนด์ “The Cupcake Collection” ธุรกิจเติบโตรวดเร็ว สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ผู้คนสั่งคัพเค้กไปฉลองจนต้องจ้างพนักงาน และหลังเลิกเรียน ลูก ๆ ของเธอก็มาช่วยด้วย หลังจากที่ขยับขยายเปิดร้าน The Cupcake Collection เป็นเรื่องเป็นราวที่แนชวิลล์หลายปีจนขึ้นแท่นของดีเมืองแนชวิลล์ มิยองได้ขยายธุรกิจไปยังนิวออร์ลีน บ้านเกิดของเธอ

     จุดเด่นของ The Cupcake Collection เห็นจะเป็นการอบขนมแบบโฮมเมดและขายแบบสดใหม่วันต่อวัน ลูกค้าชื่นชอบถึงขั้นบางคราวต้องต่อแถวรอซื้อขนมที่อบใหม่ ๆ แม้จะดำเนินธุรกิจมานาน 13 ปี แต่ The Cupcake Collection ก็ยังมีหน้าร้านเพียง 2 แห่ง พนักงาน 10 กว่าคน ทว่ารายได้ไม่ใช่ได้เล็กเลยเพราะไม่ได้ขายหน้าร้านอย่างเดียว แต่เน้นขายออนไลน์ผ่านทุกช่องทาง มีทั้งเดลิเวอรี่ และจัดส่งทั่วประเทศ

     นอกจากนั้น มิยองยังได้พัฒนาสินค้าและบริการ ไม่เพียงคัพเค้กที่มีราคาตั้งแต่ 2.50-7.50 ดอลลาร์ ทีมงานของเธอยังผลิตเค้กตามสั่ง และเค้กสำหรับสุนัขอีกด้วย รวมถึงบริการจัดเลี้ยงงานแต่งงาน และงานอีเวนต์ต่าง ๆ ช่วงเกิดวิกฤติโควิด ในขณะที่ธุรกิจอื่นได้รับผลกระทบ แต่ The Cupcake Collection ยังดำเนินต่อไปได้ 

     นับตั้งแต่เปิดบริการมาก็ทำยอดขายคัพเค้กไปมากกว่า 5 ล้านชิ้น ยอดขายเกิน 10 ล้านดอลลาร์ (360 กว่าล้านบาท) จากที่ไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะเป็นผู้ประกอบการมาก่อน มิยองกล่าวว่าความหิวโหยและการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดนี่เองที่เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เธอมาอยู่ ณ จุดนี้

     กว่า 10 ปีของการเป็นผู้ประกอบการ เธอได้แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า “จงเชื่อมั่นในตัวเอง” และ “ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน” มิยองลองผิด ลองถูก เก็บเกี่ยวบทเรียนจากความผิดพลาดและแก้ไขให้ดีขึ้น รวมถึงทำงานเต็มความสามารถเพื่อสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีต่อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ The Cupcake Collection

ที่มา : https://community.neworleans.com/mignonfrancoiscupcakecollection/

https://www.cuisinenoirmag.com/mignon-francois-the-cupcake-collection/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​