ทำร้านกาแฟให้ปังและยั่งยืน ด้วยโมเดล Disability inclusion สร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้พิการ

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     เราอาจจะเคยเห็นร้านกาแฟในไทยที่ดึงคนพิการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Café ในกรุงเทพที่มีผู้พิการคอยให้บริการ หรือร้านเชียงรายปัญญาที่มีบาริสต้าและพนักงานต้อนรับเป็นเด็กพิเศษทั้งหมด ร้านแรกอยู่ในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ส่วนร้านหลังดำเนินการโดยโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้

     โมเดล Disability inclusion business หรือธุรกิจที่มีส่วนร่วมของคนพิการไม่จำกัดเฉพาะองค์กรไม่แสวงกำไรหรือหน่วยงานรัฐ เอกชนหลายแห่งทั่วโลกก็ดำเนินการจนสามารถสร้างผลกำไรและขยายธุรกิจให้เติบโตได้ ดังเช่น Bitty & Beau’s Coffee เชนคาเฟ่จากเมืองวิลมิงตัน รัฐนอร์ธแคโรไลน่า สหรัฐฯ ที่ก่อตั้งโดยครอบครัวไรท์ (Wright)

     เอมี่ และ เบน ไรท์ เป็นคู่สามีภรรยาที่มีลูก 4 คน ได้แก่ ลิลลี่ เอ็มม่า  โบและบิตตี้ ทว่า 3 ใน 4 ของทายาทเข้าข่ายพิการ ลิลลี่มีภาวะออทิสติก ขณะที่บิตตี้ และโบเป็นดาวน์ซินโดรม จากข้อมูลที่ระบุ ร้อยละ 80 ของผู้พิการในสหรัฐฯ ไม่ถูกจ้างงาน เพื่อปูทางให้ลูก ๆ ได้มีอาชีพเลี้ยงตัวในอนาคต เดือนมกราคม 2016 เอมี่และเบนจึงเปิดธุรกิจคาเฟ่ใช้ชื่อ “Bitty & Beau’s Coffee” หวังให้เป็นชุมชนจ้างงานผู้พิการ

     Bitty & Beau’s Coffee สาขาแรกเปิดบริการโดยมีการจ้างงานพนักงาน 19 คนที่เป็นผู้พิการด้านสติปัญญา และพิการทางกาย ผลคือได้รับการตอบรับดีมากเนื่องจากเครื่องดื่มรสชาติดี อาหารอร่อย และบรรยากาศที่อบอวลด้วยความเป็นมิตรทำให้ลูกค้าติดใจ

     ความสำเร็จของ Bitty & Beau’s Coffee สาขาแรกทำให้เอมี่ต้องการขยายธุรกิจเพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือคนพิการในรัฐอื่นให้ได้มีงานทำ รูปแบบแฟรนไชส์จึงถูกนำมาใช้ โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ ปัจจุบัน Bitty & Beau’s Coffee สามารถขยาย 24 สาขาใน 12 รัฐและมีพนักงานในสังกัดมากกว่า 200 คน ทั้งนี้ แต่ละสาขาจะเป็นพนักงานพิการทั้งหมดโดยมีพนักงานปกติคอยดูแลสาขาละ 1 คน

     เอมี่กล่าวว่าเธอคาดหวังธุรกิจของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจอื่น ๆ หันมาจ้างงานผู้พิการเพื่อสร้างความหลากหลายมากขึ้นในสังคมการทำงาน “เราหวังจะเป็นแบบอย่างให้คนเห็นว่าการดำเนินธุรกิจด้วยการจ้างผู้พิการก็สามารถทำกำไรได้” นอกเหนือจากการขายแฟรนไชส์ Bitty & Beau’s Coffee ยังขยายสาขาด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ในการเปิดบริการตามสำนักงานใหญ่ขององค์เหล่านั้น

     ที่จีนเอง ร้านคาเฟ่หลายแห่งก็นำโมเดล Disability inclusion มาใช้เช่นกัน เช่นร้าน Hinichijou ที่รู้จักในชื่อ “คาเฟ่พี่หมี” จากการตกแต่งหน้าร้านให้เหมือนถ้ำ มีเพียงช่องเล็ก ๆ กว้างพอให้ลูกค้ารับเครื่องดื่มเท่านั้น โดยลูกค้าจะไม่เห็นหน้าพนักงาน เห็นเพียงอุ้งมือหมีที่ยื่นแก้วเครื่องดื่มให้เท่านั้น เหตุผลก็เนื่องจากพนักงานและบาริสต้าของร้านเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ทางร้านจึงออกแบบหน้าร้านให้เป็นเหมือนถ้ำเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและทำให้พนักงานมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น หลังเป็นข่าวออกไปก็มีประชาชนจำนวนมากไปต่อแถวซื้อกาแฟเพื่อแสดงการสนับสนุนการทำงานของผู้พิการ

     นอกจากผู้พิการด้านการได้ยิน ที่ร้าน Hinichijou อีกสาขาหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ก็กลายเป็นไวรัลจากการจ้างบาริสต้าฝาแฝดที่พิการทางสายตาเนื่องจากขาดออกซิเจนขณะคลอดก่อนกำหนด อิ้นเตี้ยนเป่า และอิ้นเตี้ยนหยู คู่แฝดวัย 23 ปีไม่ต้องการลงเอยด้วยอาชีพหมอนวดเหมือนผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่จึงฝึกเป็นบาริสต้าก่อนจะได้งานที่คาเฟ่แห่งนี้  

     Hinichijou นับเป็นคาเฟ่แห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ที่จ้างงานผู้พิการ หวัง เตี้ยน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Hinichijou ให้สัมภาษณ์ว่าเขาและหุ้นส่วนต้องการช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำ หรือหากเป็นไปได้ก็เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ในการคัดคนเข้าทำงาน ทางบริษัทได้เสาะหาผ่านสมาพันธ์ผู้พิการของจีน ทั้งนี้ สมาพันธ์ระบุจีนมีผู้พิการมากกว่า 85 ล้านคน และยังขาดโอกาสในการถูกจ้างงานจำนวนมาก 

     ไม่เฉพาะ Hinichijou มีร้านกาแฟอีกหลายแห่งที่สนับสนุนผู้พิการ อาทิ ร้าน Lili Time ในเซี่ยงไฮ้ที่จ้างพนักงานหูหนวกกว่า 10 คน หรือร้าน The Forget Me Not Café ซึ่งจ้างงานผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมและความจำเสื่อม (อัลไซเมอร์) ร้านกาแฟที่ให้บริการโดยผู้พิการเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นมากกว่าร้านจำหน่ายเครื่องดื่มเพราะมีความเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแฝงอยู่ และโดยมากธุรกิจมักยั่งยืนเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนั่นเอง

ที่มา : https://www.pridemagazineonline.com/bitty-beaus-serves-more-than-just-coffee/

https://news.cgtn.com/news/2022-08-10/First-cafe-employing-blind-baristas-open-in-Shanghai-1cnvWtC1Zm0/index.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​