ทำธุรกิจรักษ์โลกให้ยั่งยืนได้จริงหรือ? ส่องความสำเร็จจาก 4 แบรนด์ ปั้นธุรกิจรักษ์โลกได้สำเร็จ

TEXT : กองบรรณาธิการ 

 

     ความยั่งยืนไม่ใช่แค่แคมเปญ CSR สำหรับองค์กรอีกต่อไป แต่มันคือหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจที่องค์กรทั่วโลกตื่นตัวให้คุณค่ากับเรื่องนี้

     แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีหลายแบรนด์ที่ทำเรื่องความยั่งยืน พร้อมกับทำให้ธุรกิจเติบโตสร้างกำไรได้อีก อาทิ SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักโลก ยอดขายโตขึ้น 50% หรือแบรนด์ Maddy Hopper แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติของไทย ที่นอกจากยอดขายโตขึ้น 30% แล้ว ยังมีแผนส่งออกแบรนด์ไปต่างประเทศอีกด้วย

     การทำธุรกิจให้สำเร็จจากความยั่งยืนทำได้อย่างไร ไปค้นหาคำตอบพร้อมๆ กัน

ความยั่งยืนไม่ใช่แค่แคมเปญ CSR

     ปัจจุบันเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่แค่ไอเดียเพื่อแคมเปญ CSR เท่านั้น นี่คือมุมมองของ ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวในงานสัมมนา ‘Day One with Sustainability’ เผยเคล็ดลับการปั้นธุรกิจให้สำเร็จจากความยั่งยืน ว่า ขณะนี้องค์กรทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นกับการเชื่อมโยงธุรกิจ สินค้าและบริการเข้ากับคุณค่าด้านนี้ บางองค์กรยกให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า

     ส่วนอีกแรงผลักดันหนึ่งมาจากฟากผู้บริโภคหันมานิยมสินค้าจากผู้ผลิตที่ยึดถือความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและเต็มใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่ไม่ได้เลือกซื้อสินค้าเพราะราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนตอบแทนสังคม การที่ผู้ผลิตแสดงบทบาทในการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจอีกด้วย

     “เอปสันได้ใช้หลักความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ตลอดจนถึงขั้นตอนบรรจุห่อและโลจิสติกส์ เพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะมีส่วนร่วมกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี Heat-Free ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์สำนักงาน ซึ่งไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ จึงช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ถึง 85% และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 85%” ยรรยง กล่าว

กฏเหล็ก 3 ข้อทำธุรกิจยั่งยืน

     เพราะตั้งใจที่จะทำเสื้อผ้าแฟชั่นสตรี มาพร้อมสโลแกน ‘Greener Fashion for All’ ปานไพลิน พิพัฒนสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS จึงได้นำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ามาสร้างความแตกต่างและทางเลือกให้กับผู้บริโภคจึงได้สร้างแบรนด์ SHE KNOWS ในปี 2018 โดยคำนึงถึงมาตรฐานใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม แรงงาน และลูกค้า

     ด้านสิ่งแวดล้อม SHE KNOWS ไม่เพียงแต่เลือกใช้ผ้ารีไซเคิล เศษผ้าเหลือจากโรงงาน แต่ยังใช้กรรมวิธีย้อมสีในระบบปิด ซึ่งไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ส่วนแพ็กเกจจิ้งก็ใช้กระดาษรีไซเคิลและออกแบบให้ลูกค้าสามารถใช้ซ้ำ เผื่อส่งกลับหากกรณีที่ต้องการเปลี่ยนไซส์

     ด้านแรงงาน ชุดของ SHE KNOWS ส่วนใหญ่เป็นแฮนด์เมด โดยช่างฝีมือคนไทย ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในโรงงาน จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในส่วนของลูกค้า SHE KNOWS เน้นการตัดเย็บที่ประณีต ทนทานกว่าเสื้อผ้า Fast Fashion หลายเท่า แต่ราคาถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ลูกค้าสามารถใช้ได้นาน ไม่ต้องรีบเปลี่ยน

     “SHE KNOWS เน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง โดยใช้สื่อออนไลน์และ word of mouth เน้นจุดเด่นมัดใจลูกค้าทั้งในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซน์สไตล์ basic wear ใช้ได้บ่อยไม่เบื่อ ราคาที่จับต้องได้ และขนาดของชุด ที่มีให้เลือกมากถึง 18 ไซส์ในแต่ละคอลเลกชั่น ซึ่งฐานลูกค้า 70% ของ SHE KNOWS มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 19-29 ปี โดยในปีนี้ มียอดซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปีก่อน นอกจากนี้ SHE KNOWS กำลังศึกษาเรื่องการทำตลาดส่งออก โดยจะเริ่มที่ตลาดในภูมิภาคนี้ก่อน รวมถึงตลาดชาวเอเชียที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเสื้อผ้าไซส์ใหญ่ และมีความสนใจในตัวสินค้าที่ช่วยลดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทั้งยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิต และเพิ่มไลน์สินค้าขึ้นอีก”

ต้นทุนคือความท้าทาย

     อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ กล่าวเสริมว่า ความท้าทายในการทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนคือต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค SHE KNOWS พยายามค้นหาวัตถุดิบใหม่ๆ นำเรื่องของดีไซน์เข้ามาช่วย เลือกใช้ช่างตัดเย็บที่มีทักษะสูง โดยให้ผลตอบแทนที่ดี เพื่อได้คุณภาพงานที่ประณีต และตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ง่าย เราต้องหาและรักษาจุดสมดุล เพื่อให้ทั้งธุรกิจ พาร์ทเนอร์ และลูกค้าได้รับประโยชน์ที่สมควร

     ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับ ภาคิน โรจนเวคิน ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Maddy Hopper รองเท้ารักษ์โลกเปิดเผยว่าหลังจากการทำตลาดอย่างจริงจังมาปีกว่า เห็นว่าการใช้ความยั่งยืนมาเป็นส่วนในการทำธุรกิจเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ทั้งในเรื่องของ Know How และดีกรีของความยั่งยืนในแต่ละขั้นตอนของธุรกิจ ซึ่งมีผลโดยตรงกับต้นทุนทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นแล้ว แนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนควรได้รับการยกระดับจนเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการต้องมี เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เป็นแค่กลวิธีในการแข่งขันเพื่อผลทางธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรมีอยู่ในดีเอ็นเอ

     ชาญ สิทธิญาวณิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maddy Hopper กล่าวเสริมว่า แบรนด์ต้องการนำเสนอรองเท้าที่ผสานฟังก์ชั่นเข้ากับความยั่งยืน ทั้งใส่ง่าย ดีไซน์สวย ราคาจับต้องได้ และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดเป็นแบรนด์ต่างประเทศ จึงเริ่มทำ R&D โดยศึกษาวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ และได้ค้นพบผ้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่นำมาทำเป็นตัวรองเท้า และยางพารารีไซเคิลสำหรับแผ่นรองด้านใน ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ลดการเกิดแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยการหมุนเวียนของเลือด นอกจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้า Maddy Hopper ยังเลือกใช้กระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมด เพื่อลดการใช้เครื่องจักรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน และใช้แพ็กเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล และถุงห่อจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง

     “คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% และตั้งเป้าเติบโตอีกเท่าตัวในปี 2566 ก่อนจะทำตลาดส่งออกในปี 2 ปีจากนี้ โดยจะเริ่มที่ภูมิภาคนี้ก่อน เพราะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบเดียวกับคนไทย” ภาคิน กล่าว

ต้องหาจุดสมดุลที่ธุรกิจเติบโตได้

     ด้าน Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของคนไทย ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่นิยมใน 66 ประเทศทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เริ่มนับหนึ่งธุรกิจพร้อมกับความยั่งยืน

     ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Qualy Design กล่าวว่า “Qualy เริ่มสร้างแบรนด์เมื่อ 18 ปีที่แล้ว โดยยึดหลักความยั่งยืนมาตั้งแต่คอลเลกชั่นแรก ทั้งวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิล ช่วยลดการนำทรัพยากรใหม่มาใช้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คำนึงถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน และลดการใช้ทรัพยากร ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มีขนาดเล็กหรือน้ำหนักเบา เพื่อประหยัดการขนส่ง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ นอกจากนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ยังเน้นการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมไปสู่ผู้บริโภค

     “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมธุรกิจตื่นตัวกับกระแสความยั่งยืนอย่างมาก องค์กรธุรกิจจำนวนมากหันมาจริงจังกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ถึงขั้นนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้า นอกเหนือจากกิจกรรม CSR

     “การทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนจำเป็นต้องหาจุดสมดุลที่ว่าธุรกิจต้องสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย เพราะธุรกิจที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าธุรกิจทั่วไป เพื่อทำให้สินค้ามีความแตกต่าง สินค้ารักษ์โลกในอดีตเป็นเรื่องของแฟชั่น คนใช้จำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะมีราคาสูง แต่ Qualy พยายามที่จะทำให้สินค้านี้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ มีราคาจับต้องได้ เข้าถึงคนได้จำนวนมาก” ทศพล กล่าว

     วันนี้คุณหาจุดสมดุลระหว่างธุรกิจต้องเติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้หรือยัง

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​