42 เนเจอรัลรับเบอร์ ต้นแบบองค์กร ลดต้นทุนได้ 3 เท่า  สู่ศูนย์การเรียนรู้ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”

TEXT : สุรางรัก

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์

 

     จากประสบการณ์ธุรกิจที่สั่งสมมานานกว่า 60 ปีในไทยของ TOYOTA จนเกิดเป็นองค์ความรู้เพื่อนำมาเผยแพร่เป็นต้นแบบทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ โตโยต้าจึงได้จัดทำโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ขึ้นมา โดยมีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาในภูมิภาคต่างๆ ของไทย เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจชุมชนให้มีการพัฒนาและดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ คุณภาพสินค้า, การลดต้นทุน, การจัดการสต็อก, กระบวนการผลิต เป็นต้น

     ล่าสุดได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 4 ขึ้นมา ณ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมพัฒนาปรับปรุงธุรกิจกับโตโยต้า จนได้รับคัดเลือกให้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับธุรกิจชุมชนอื่นๆ ต่อไป

เหตุเกิด เพราะความไม่รู้จักตนเอง

     โดยก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมพัฒนาปรับปรุงธุรกิจกับโตโยต้า บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหมอนเพื่อสุขภาพจากยางพาราธรรมชาติ ซึ่งบริหารงานโดย คุณัญญา แก้วหนู เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่น้ำยางพาราของไทย ตลอดจนสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น เคยประสบปัญหาด้านการผลิตอยู่หลายส่วน ดังนี้

     1. ใช้เวลาในการผลิตที่ยาวนานเกินไป ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการตากหมอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานที่สุด โดยใช้วิธีการตากแบบปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 21 วันต่อรอบ จนไม่สามารถทำการแข่งขันหรือตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

     2. การสูญเสียต้นทุนวัตถุดิบที่สูงเกินไป เช่น ปริมาณน้ำยางที่ล้นออกนอกแม่พิมพ์มีปริมาณมากเกินไป นำไปขายเป็นขี้ยางได้เพียงกิโลกรัมละไม่กี่บาท ไปจนถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดสินค้ามีตำหนิมากเกินไป

     3. การจัดเก็บสต็อกสินค้าที่ไม่เป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถรู้จำนวนที่แท้จริงของสินค้าที่เหลืออยู่ ไม่รู้ว่าสินค้าตัวใดผลิตก่อน ผลิตหลัง ทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตที่ถูกต้องได้ จนทำให้ผลิตสินค้าออกมาเกินความต้องการของตลาด เหลือค้างเป็นสต็อกเก็บไว้ เกิดเป็นต้นทุนจมในที่สุด

รู้ เห็น เป็น ใจ “ปัญหา” ก็รู้วิธี “แก้ไข”

     แต่หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมด้วยหลักการไคเซ็น “รู้ เห็น เป็น ใจ” เพื่อเรียนรู้ตนเอง ภายใต้โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี พ.ศ. 2560 บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด ได้นำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าเข้าปรับปรุงธุรกิจตนเอง และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นดังนี้

     1. เพิ่มความสามารถในการผลิต ด้วยการปรับลดเวลาการผลิตต่อรอบลง

     เริ่มจากกระบวนการตากหมอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานที่สุด โดยเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่ปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติ ก็ปรับปรุงด้วยการออกแบบห้องตาก ทำชั้นวางหมอน และติดตั้งระบบถ่ายเทอากาศเพื่อให้อากาศหมุนเวียนได้  ทำให้ช่วยลดเวลาการตากหมอนลงจาก 21 วันต่อรอบ เหลือเพียง 5 วันต่อรอบ หรือเร็วขึ้นกว่า 76 % ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 700 ใบต่อเดือน เป็นกว่า 1,300 ใบต่อเดือน เพิ่มรายได้ต่อเดือนจาก 400,000 บาท เป็น 750,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการนำระบบบอร์ดการมองเห็น (Visualization board) มาใช้ควบคุมกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถติดตามสถานะการผลิตและการส่งมอบได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งเวลาผลิตต่อรอบที่ทำได้เร็วขึ้น 3 เท่า ยังส่งผลให้ต้นทุนในกระบวนการลดลงจาก 420,000 บาท เหลือ 140,000 บาทด้วย

 

     2. บริหารต้นทุนวัตถุดิบ และลดของเสียในกระบวนการ

     2.1) สร้างมาตรฐานการใช้วัตถุดิบ จากปัญหาน้ำยางล้นออกนอกแม่พิมพ์มากเกินไป จึงมีการปรับมาตรฐานการผลิตโดยกำหนดให้มีการฉีดน้ำยางลงแม่พิมพ์ครั้งละ 5 กิโลกรัม ทำให้ช่วยลดปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบลงประมาณ 1 กก. ต่อหมอนการผลิต 4 ใบ ซึ่งเมื่อนำมาคิดแล้วทำให้สามารถลดต้นทุนการสูญเสียลงได้ถึง 10 บาทต่อการผลิตหมอน 1 ใบ หรือ ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือนทีเดียว

     2.2) ปรับปรุงปัญหาคุณภาพสินค้า จากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยตรวจพบปัญหามีหมอนที่ผ่านการอบแล้วมีขนาดไม่เต็มใบมากถึง 12 % ซึ่งเกิดจากช่องว่างในเนื้อหมอนภายหลังกระบวนการฉีดน้ำยางเข้าแม่พิมพ์ วิธีการที่นำมาใช้ปรับปรุง คือ การปรับการเคลื่อนไหวของพนักงาน เพื่อช่วยลดการก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของฝาแม่พิมพ์หลังฉีดน้ำยาง ซึ่งภายหลังการปรับปรุง ทำให้ตรวจพบสินค้ามีตำหนิไม่ถึง 5 % ของการผลิต ทำให้ช่วยลดมูลค่าการสูญเสียลงจากเคยขายลดราคาสินค้ามีตำหนิจาก 33,600 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 14,000 บาทต่อเดือน

     3. การปรับปรุงการจัดการสินค้าคงคลัง

     มีการปรับปรุงการจัดเก็บสต็อก โดยจัดแยกประเภทสินค้าตามการเคลื่อนไหว อายุสินค้า เพื่อทำการจัดการลดสต็อกอย่างเหมาะสม ทำให้ช่วยลดเงินจมในสต็อกจาก 320,000 บาท เหลือ 260,000 บาท ตลอดจนมีการออกแบบแผนผังการจัดวางสินค้า ระบบสต็อกการ์ด และระบบ FIFO เพื่อให้ธุรกิจสามารถบริหารคลังสินค้าได้อย่างมืออาชีพ

การให้ ไม่มีที่สิ้นสุด

     จากการเรียนรู้ และปรับปรุงพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามหลักการของโตโยต้า จนสามารถแก้ไขปัญหาและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด จึงได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” แห่งที่ 4 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนในภาคใต้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้

     โดยปัจจุบันโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจชุมชนแล้วเสร็จจำนวน 23 แห่ง  และได้ยกระดับสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แล้วจำนวน 4 แห่ง โดยตั้งเป้าวางแผนจะเปิดเพิ่มให้ครบทั้ง 6 แห่ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ ตามเป้าหมายในโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 60 ปีในประเทศไทย สู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน อันเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต่อไป

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​