สูตรรอดของ Tara Leather แบรนด์ไทยกับการฝ่าวิกฤติ กู้ชีพธุรกิจครอบครัวสู่ทศวรรษที่ 5

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

 

     “อาชีพทำกระเป๋า ต้องเป็นอาชีพสุดท้ายเท่านั้น” ปณิธานของ สิทธิเดช ถนิตฤทธิพร หนึ่งในสามพี่น้องเจ้าของ Tara Leather หนึ่งในธุรกิจเครื่องหนังเอ็กโซติกกว่า 4 ทศวรรษ ที่ผ่านช่วงวิกฤติต่างๆ มาได้ ภายใต้ความเจ็บปวดเขาค้นพบบทเรียนสำคัญเป็นโอกาสให้ธุรกิจของครอบครัวอยู่รอดต่อไปได้

จากผลิตไม่พอขาย ตลาดหายไม่รู้ตัว

     หลายธุรกิจที่อิงตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลักปิดตัวลงในรอบสามปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บางธุรกิจยังอยู่รอด แต่ต้องอาศัยการปรับตัวอย่างยากลำบาก Tara Leather คือ หนึ่งในธุรกิจเครื่องหนังเอ็กโซติคที่ยังยืนหยัดผ่านช่วงวิกฤติมาได้ ในความเจ็บปวด เขาค้นพบบทเรียนที่เป็นโอกาสให้ธุรกิจอยู่ต่อ

     “อาชีพทำกระเป๋า ต้องเป็นอาชีพสุดท้ายเท่านั้น” สิทธิเดช ถนิตฤทธิพร หนึ่งในสามพี่น้องเจ้าของ Tara Leather  บอกผมว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการสืบสานธุรกิจกระเป่าหนังปลากระเบนตามปณิธานพ่อ

     “ดั้งเดิมพ่อเป็นคนนครสวรรค์ ย้ายมาทำงานช่างกระเป๋าปลากระเบนส่งบริษัทส่งออกที่สมุทรปราการ เท่าที่จำความได้ เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน งานช่างหนังต้องใช้ฝีมือมาก เริ่มจากต้องเจียหนังปลากระเบนหนาแข็งให้บางก่อนเย็บ ช่างที่ชำนาญในยุคนั้นจึงนับคนได้ ตลาดมีความต้องการสูงมาก ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ“ สิทธิเดชเล่าต่อถึงความเฟื่องฟูในยุคก่อนฟองสบู่แตก ปี 2540

     จนเพื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (ฟองสบู่แตก) สินค้าส่งออกลำบาก เริ่มไม่มีงาน ต้องหาทางรอดด้วย

     ตระเวนขายตามตลาดเปิดท้าย ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รางวัลเป็น สินค้า OTOP สี่ดาว นับเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพอีกขั้นและได้โอกาสในการออกตลาด OTOP ตามที่ต่างๆ จึงทำให้เห็นช่องทางตลาดเพิ่มมากขึ้น และนั่นคือการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ทำให้ครอบครัวปักหลักอยู่ภูเก็ต เพราะค้นพบว่าตลาดของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

     “สินค้าของเราจากเดิมแค่กระเป๋าจากหนังปลากระเบน ได้ขยายถึงผลิตภัณฑ์หนังจระเข้ด้วย ซึ่งเสน่ห์ของเครื่องหนังเอ็กโซติคเหล่านี้ อยู่ที่ลวดลายเฉพาะที่มีแค่อันเดียว โดยเฉพาะหนังปลากระเบนจะมีมุกด้วย ชิ้นละเม็ด ความพิเศษนี้ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของการเป็นสินค้าที่ระลึก ประกอบกับคุณภาพงานผลิตมีมาตรฐานสากลเทียบเท่าแบรนด์ต่างประเทศ แต่ราคาไม่แพงเท่า”

บทเรียนสำคัญการทำธุรกิจ

     สิทธิเดช อธิบายต่อว่า แม้ว่าตนเองไม่ใช่คนภูเก็ตโดยกำเนิด แต่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีมานี้ รู้สึกรักและผูกพันกับภูเก็ต ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีมลพิษอย่างกรุงเทพมหานคร จึงเกิดแนวคิดถึงการเป็นแบรนด์เครื่องหนังเอ็กโซติคของภูเก็ต เริ่มมีการออกแบบให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น เสริมความเชื่อในเรื่องความเป็นสิริมงคล จากช่องลมของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส มาใส่่เป็นลวดลายของกระเป๋าเงิน และกำลังจะพัฒนาผลิตถัณฑ์อื่นๆ ออกมาอีกในอนาคต

     จากรุ่นพ่อที่เน้นการผลิตส่งบริษัทส่งออก ลดขนาดเป็นแค่ธุรกิจครอบครัวในยุคฟองสบู่แตก เมื่อมาถึงรุ่นลูกที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น จนกลายเป็นร้านเล็กๆ ในบิ๊กซีภูเก็ต แล้วขยับขยายเป็นร้านในห้างจังชีลอนและเซ้นทรัลในปัจจุบัน

(สิทธิเดช และพี่สาว ภัทธิรา ถนิตฤทธิพร)

     “บทเรียนที่เราได้จากช่วงโควิด 19 คือ การไม่มีภูมิคุ้มกัน เน้นตลาดหลักแค่นักท่องเที่ยว ไม่ได้มองลู่ทางสำรองไว้ จนต้องปิดสาขาต่างๆ เกือบสิบแห่งที่เกาะสมุย เหลือไว้แค่เซ้นทรัลและจังชีลอนภูเก็ต ในวิกฤติเรายังเห็นโอกาส ให้ได้นั่งทบทวน วางแผนใหม่ รวบรวมสินค้าจากสาขาที่ปิด มาจัดโปรโมชั่น สร้างความคุ้นเคยกับแบรนด์ในตลาดคนไทย จนได้ผลน่าพอใจและสามารถประคองตัวผ่านมาได้  อย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรารอดจากวิกฤติเศรษฐกิจสองครั้งหนักๆ คือ การยิึดมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ค่อยๆ ขยับขยาย พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความกะทัดรัดของขนาดธุรกิจที่เกิดจากการช่วยเหลือกันของสามพี่น้อง เลยอยู่รอดมาได้จนถึงวันนี้”

     “เมื่อก่อนถ้าทำธุรกิจ เราคิดแค่เรื่องของผลกำไร แต่เมื่อเติบโตมา เราคิดได้ว่าถึงเวลาต้องสร้างคุณค่าให้สังคมเป็นการตอบแทนบ้าง จึงได้รวมกลุ่มกันกับเจ้าของธุรกิจรายอื่นๆ แบ่งรายได้จาการขาย ทำโครงการ  ตัดชุดนักเรียนบริจาคให้โรงเรียนที่ขาดงบประมาณ มีการติดตาม ดำเนินการต่อในเรื่องการช่วยเหลือให้โรงเรียนสามารถพึ่งตัวเองได้ในที่สุด”

     ขณะที่พูดคุยกัน ครั้งหนึ่งสิทธิโชค ชูแผลเป็นบนนิ้ววัยเด็ก ตอนที่ช่วยพ่อกรีดหนังปลากระเบน เขาบอกว่า รู้สึกรักและผูกพันกับธุรกิจนี้ ได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องการได้มาของวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ อย่างหนังปลากระเบนและหนังจระเข้ และยังนึกขอบคุณคำพ่อประกาศว่า อาชีพนี้จะเป็นอาชีพสุดท้ายที่ทำ จนทำให้ลูกๆ มี Tara Leather ในทุกวันนี้

Tara Leather

https:// ww.facebook.com/profile.php?id=100027200602536

โทร. 084 249 4539

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​