เจาะเส้นทางธุรกิจ คาลบี้ จากขนมประทังความหิวหลังสงคราม สู่อาณาจักรสแน็คระดับโลก

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 Main Idea

  • จากความตั้งใจผลิตอาหารที่บรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมืองฮิโรชิมาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2

 

  • สู่อาณาจักรสแน็คระดับโลก องค์กรที่มี อำนาจในการจัดซื้อวัตถุดิบ มีเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 1,900 รายทั่วประเทศที่คอยป้อนวัตถุดิบคุณภาพดี หนึ่งในกลยุทธ์ทำให้องค์กรนี้อยู่เหนือคู่แข่ง

 

  • จนถึงปัจจุบัน คาลบี้ยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากจดจำได้โดยเฉพาะข้าวเกรียบกุ้งในตำนาน

     แม้การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมาในสงครามโลกครั้งที่ 2 จะผ่านพ้นไปหลายปีแล้ว แต่สภาพความเสียหายก็ยังคงอยู่ ขณะที่การซ่อมแซมและบูรณะเมืองกำลังดำเนินต่อไป บรรดาผู้รอดชีวิตจากสงครามไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า ผู้สูงวัย หรือทหารต่างอาศัยในเพิงที่สร้างจากเศษซากสลักหักพังและบรรเทาความหิวจากอาหารที่นำมาแจก ทากาชิ มัตสึโอะ ชายวัย 33 ปีผู้เป็นชาวเมืองฮิโรชิม่ารู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของเขาโดยเฉพาะกับการที่ผู้คนต้องอดอยากและขาดแคลนอาหาร ผู้คนจำนวนมากขึ้นตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการจนทุกข์ทรมานด้วยโรคเหน็บชา และโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการขาดสารอาหาร    

     ปี 1949 มัตสึโอะตัดสินใจตั้งบริษัทมัตสึโอะ ฟู้ด โพรเซสซิ่งเพื่อหวังผลิตอาหารที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมือง ผลิตภัณฑ์แรกที่ออกมาเป็นขนมขบเคี้ยวทำจากแป้งมันเทศและธัญพืชรวมใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Calbee Caramel” โดยคำว่า Calbee นั้นมาจาก 3 ตัวอักษรแรกของแร่ธาตุ calcium และวิตามิน B1 ซึ่งเป็นสารอาหารที่ชาวเมืองกำลังขาดแคลนจนทำให้ป่วยเป็นโรคเหน็บชา

     6 ปีหลังจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรก ขนมคาลบี้กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มัตสึโอจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “คาลบี้ ฟู้ดส์ แอนด์ คอนเฟคชั่นเนอรี” และในปี 1955 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เปลี่ยนชื่อบริษัท มัตสึโอะพร้อมทั้งทีมวิจัยและพัฒนาที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ค้นพบการทำข้าวเกรียบจากแป้งสาลี ทำให้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นขนมขบเคี้ยวชื่อ Kappa Arare Crackers ออกสู่ตลาด

     กิจการของบริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย มีการขยายสำนักงานขายไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น โตเกียว นาโกย่า และฟูกุโอกะ ต่อมาในปี 1964 คาลบี้ได้ผลิตข้าวเกรียบกุ้ง “คัปปะ เอบิเซ็ง” ออกมา ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศ มัตสึโอะจึงนำผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบกุ้งไปเปิดตัวในงานมหกรรมขนมขบเคี้ยวที่นิวยอร์ก และไม่คาดคิดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นนั้น ควบคู่กับการเติบโตของธุรกิจในประเทศโดยมีการสร้างงานโรงงานผลิตแห่งใหม่ และเพิ่มจำนวนสำนักงานขายมากขึ้น “คาลบี้ อเมริกา” บริษัทในเครือคาลบี้ก็ได้ลงหลักปักฐานที่รัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐฯ ในปี 1970

     ในส่วนของประเทศไทย คาลบี้ได้จับมือกับพันธมิตรและก่อตั้งบริษัทคาลบี้ธนาวัธน์และเริ่มจำหน่ายข้าวเกรียบกุ้งครั้งแรกในปี 1981 หลังจากที่ข้าวเกรียบกุ้งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค คาลบี้ก็ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากมันฝรั่ง และยังแตกไลน์สินค้าเพื่อจับตลาดอาหารเช้าประเภทซีเรียล และกราโนล่าด้วย ถัดจากไทย คาลบี้ได้รุกตลาดฮ่องกง และจีนอย่างหนักหน่วง 

     เช้าวันที่ 11 มีค. 2011 คาลบี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญของบริษัท ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นก็เกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 คน เมืองหลายแห่งถูกซัดถล่มจนจมหายไปทั้งเมือง อานุภาพของสึนามิยังโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจินำไปสู่การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่

     สิ่งหนึ่งที่บริษัทมหาชนหมาดๆ อย่างคาลบี้ดำเนินการคือการก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุแผ่นดินไหว และในปลายปีเดียวกัน คาลบี้ได้เปิด “Calbee Plus” ร้านค้าแบบสแตนอะโลนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์คาลบี้โดยปูพรมเปิดบริการหลายจุดตามย่านธุรกิจและสถานีรถไฟ พร้อมกันนั้นก็ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น มีการเปิดบริษัทลูกในเมืองหังโจวของจีน และที่ไทเป ไต้หวัน ตามด้วยบริษัทในอังกฤษเพื่อใช้เป็นฐานขยายตลาดในยุโรป ตบท้ายด้วยการรุกตลาดออสเตรเลีย  

3 ปัจจัยทำให้คาลบี้เหนือคู่แข่ง

     มารีน่า ฟุกาย่า โฆษกหญิงประจำบริษัทคาลบี้ในโตเกียวกล่าวถึงจุดแข็งและความสามารถในการยืนหยัดในตลาดขนมขบเคี้ยวที่มีคู่แข่งจำนวนมากว่ามาจาก 3 ปัจจัย

     อย่างแรก ได้แก่ การมีวัฒนธรรมนวัตกรรม (Culture of Innovation) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถพัฒนาเทคนิคการผลิตและรังสรรค์สินค้าคุณภาพดีออกสู่ตลาด ดังจะเห็นได้จากสินค้าประเภทอาหารเช้าซีเรียลของบริษัทที่ยอดขายเติบโตกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

     อย่างที่สอง คือ อำนาจในการจัดซื้อวัตถุดิบ คาลบี้มีเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 1,900 รายทั่วประเทศที่คอยป้อนวัตถุดิบคุณภาพดีให้

     สาม การที่องค์กรสนับสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน

     นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้แบรนด์ก้าวไปข้างหน้าคือความพยายามในการเจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ และขยายการเติบโตในตลาดเดิมที่ครองอยู่โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่างตลาดจีน คาลบี้ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ซีเรียลผสมผลไม้ ยอดขายพุ่งขึ้นอย่างเร็วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากนั้นก็ตามด้วยซีเรียลไม่ผสมผลไม้เพื่อเอาใจคนที่ไม่ชอบหรือคนที่แพ้ผลไม้บางอย่าง ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ และผู้บริหารคาลบี้คาดหวังจะเป็นตลาดที่สร้างรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท

     จนถึงปัจจุบัน คาลบี้ยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากจดจำโดยเฉพาะข้าวเกรียบกุ้งในตำนาน ผู้บริโภควัยกลางคนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่รับทราบที่มาของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ของคาลบี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำวัยเยาว์เนื่องจากผู้ปกครองมักซื้อให้รับประทานด้วยเชื่อในคุณภาพและความปลอดภัย และความเชื่อนั้นก็ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน 

ที่มา : https://bit.ly/3E8YDs0

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​